‘TMTA’ ชู GMHI สร้างมาตรฐาน ‘มุสลิมเฟรนด์ลี่’ ทวงคืนความนิยมทั่วโลก
สมาคมธุรกิจการค้าไทยมุสลิม (TMTA) ดันไทยสู่ฮับท่องเที่ยวมุสลิมระดับโลก ชู 5 เซ็กเตอร์ศักยภาพ “อาหารและเครื่องดื่ม-การท่องเที่ยว-ยาและเวชภัณฑ์-เครื่องสำอาง-แฟชั่น” แม็กเนตดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง ประเดิมโครงการ “The Global Muslim-Friendly Hospitality Index” (GMHI) ผนึกรัฐ-เอกชน ยกระดับโรงแรมและบริการ
นายมารุต เมฆลอย นายกสมาคมธุรกิจการค้าไทยมุสลิม (TMTA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ที่เคยเป็น 1 ใน 3 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยมากที่สุด ทำให้ไทยต้องเร่งมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทน
โดยหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม หรือกลุ่มตลาดฮาลาล เนื่องจากปัจจุบันตลาดฮาลาลถือเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพการเติบโตสูงมากตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการคาดการณ์ว่า ในปี 2571 เศรษฐกิจฮาลาลทั่วโลกจะมีมูลค่า 3.27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตก้าวกระโดดจากปี 2564 ที่มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยด้านจำนวนและศักยภาพการจับจ่าย โดยผู้บริโภคมุสลิมนั้นเฉพาะในไทยมีจำนวนประมาณ 7-8 ล้านคน ส่วนในอาเซียนมีกว่า 300 ล้านคน ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรอาเซียนทั้งหมด 600 ล้านคน และกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมนั้นมีกำลังซื้อสูงมาก มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนราว 3,000-4,000 บาทต่อวัน และมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตร นิยมเดินทางเป็นครอบครัวใหญ่ และให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การช็อปปิ้ง การเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ฯลฯ ดังนั้นจึงถือว่ามีโอกาสอีกมากที่จะดึงดูดกลุ่มนี้ให้เข้ามาในประเทศ
5 เซ็กเตอร์ดันไทยสู่ฮับฮาลาล
นายมารุตกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันคำว่า “ฮาลาล” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องอาหารและเครื่องดื่ม แต่คือวิถีชีวิตทั้งหมดของชาวมุสลิมตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยประเทศไทยมี 5 ภาคส่วนสำคัญที่มีศักยภาพสูงสำหรับตลาดมุสลิมทั้ง 1.อาหารและเครื่องดื่ม 2.การท่องเที่ยว 3.ยาและเวชภัณฑ์ 4.เครื่องสำอาง และ 5.แฟชั่น ที่จะสามารถเป็นตัวผลักดันไทยให้เป็นผู้นำในตลาดนี้ได้
แต่ความท้าทายคือ ประเทศไทย ยังไม่ถูกมองว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ให้บริการในไทยยังขาดความเข้าใจในความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิม ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับอย่างแท้จริง หรือไม่รู้สึกว่าไทยเป็นมิตร ซึ่งหากย้อนกลับไปดูก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประเทศไทยเคยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศนอกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวมุสลิม แต่ปัจจุบันอันดับกลับตกลงไปอยู่ที่ 6 หรือ 7
ถึงเวลาภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลัง
นายมารุตระบุว่า 2 อุตสาหกรรมที่จะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนระยะสั้นในการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม คือ อาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยมีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และหากได้รับการสนับสนุนด้านนโยบาย การประชาสัมพันธ์จากภาครัฐอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำมาตรฐาน GMHI ไปปรับใช้ ก็จะเกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เห็นได้จากความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่นที่แม้จะเป็นประเทศนอกกลุ่ม OIC แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความเข้าใจและใส่ใจตลาดนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นป้ายสัญลักษณ์ฮาลาลในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่ในร้านราเมนจะมีบางเมนูที่ปรับสูตรโดยไม่ใช้ส่วนผสมที่ไม่ใช่ฮาลาล เช่น มิริน (เหล้าหวาน) เพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวมุสลิมสามารถทานได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยสามารถทำได้ทันที
“ไทยมีจุดแข็งที่แม้แต่มาเลเซีย ซึ่งเป็นฮับฮาลาลก็ยังไม่มีเท่าเรา นั่นคือจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลในไทยที่มีมากถึง 180,000 SKUs ขณะที่มาเลเซียมีประมาณ 40,000-50,000 SKUs เท่านั้น นอกจากนี้ เรายังมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สะท้อนความพร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์”
ชู “GHMI” ทวงคืนความนิยม
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ สมาคม TMTA จึงเริ่มโครงการ “The Global Muslim-Friendly Hospitality Index (GMHI)” ซึ่งเป็นระบบการรับรองและจัดอันดับสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล และสปา ที่นำเกณฑ์ความเป็นมิตรต่อชาวมุสลิมมาปรับใช้
โดยเบื้องต้นโครงการ GMHI ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และมีการหารือเบื้องต้นกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้ว ซึ่ง ททท.ให้การตอบรับในหลักการเป็นอย่างดี และมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันเพื่อผลักดันและประชาสัมพันธ์โครงการนี้ไปยังเครือข่ายผู้ประกอบการโรงแรมและสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 30-50 ราย ภายในปี 2568 นี้
“โครงการ GMHI ไม่ได้มีเป้าหมายให้ทุกโรงแรมต้องมีครัวฮาลาลเต็มรูปแบบในทันที แต่เป็นการเริ่มต้นจากสิ่งง่าย ๆ ที่สร้างความประทับใจได้ เช่น โรงแรมต้องสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารฮาลาลที่อยู่ใกล้เคียงได้ และมีเครื่องหมายบอกทิศกิบลัต (Qibla) สำหรับการละหมาดในห้องพัก รวมไปถึงการมีสายชำระในห้องน้ำ หรือการแยกโซนสปาชาย-หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ไม่ยาก”
หากโครงการ GMHI ได้รับการยอมรับจากทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก และได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทางสมาคมเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยกลับมายืนอยู่แถวหน้าในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมระดับโลกได้อย่างแน่นอน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘TMTA’ ชู GMHI สร้างมาตรฐาน ‘มุสลิมเฟรนด์ลี่’ ทวงคืนความนิยมทั่วโลก
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net