โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้จัก CVI "โรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง" ที่หลายคนมองข้าม

Thai PBS

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Thai PBS
ปธน.ทรัมป์ ถูกวินิจฉัยเป็นโรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) หลังพบขาบวมเล็กน้อย แพทย์ยืนยันไม่รุนแรงและไร้ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน กระตุ้นความสนใจในโรคที่อาจกระทบคุณภาพชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

วันนี้ (18 ก.ค.2568) ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกวินิจฉัยเป็นโรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency - CVI) หลังพบอาการขาบวมเล็กน้อย จุดกระแสความสนใจต่อภาวะนี้ที่มักถูกมองข้าม แพทย์ประจำตัวของทรัมป์ยืนยันว่า อาการดังกล่าวไม่รุนแรงและเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยไม่มีหลักฐานของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis - DVT) หรือโรคหลอดเลือดแดงใด ๆ

การวินิจฉัยนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจ CVI ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิต หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม

อ่านข่าว : "ทรัมป์" มือ-ขาบวมจากภาวะหลอดเลือดดำบกพร่อง

รู้จักโรคหลอดเลือดดำ ขาหนัก ขาบวม สัญญาณเตือน CVI

ข้อมูลจาก Cleveland Clinic โรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) เกิดจากการที่ลิ้นในหลอดเลือดดำที่ขา ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับและคั่งอยู่ในขา เพิ่มความดันในหลอดเลือดดำ ซึ่งนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น ขาเมื่อยล้า รู้สึกหนัก แสบร้อน คัน หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่ม ตะคริวตอนกลางคืน ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลแดง ผิวลอกหรือคัน เส้นเลือดขอด ในกรณีรุนแรงอาจเกิดแผลเปิดใกล้ข้อเท้าที่หายยากและเสี่ยงติดเชื้อ

CVI อาจเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดดำประเภทต่าง ๆ เช่น หลอดเลือดดำลึก หลอดเลือดดำตื้น หลอดเลือดดำทะลุ รวมถึงหลอดเลือดฝอย และเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ

สาเหตุของ CVI เกิดได้ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในร่างกาย ความผิดปกติแต่กำเนิด การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดดำ เช่น หลอดเลือดกว้างเกินไป หรือจากภาวะทุติยภูมิ เช่น DVT ซึ่งประมาณร้อยละ 20-50 ของผู้ป่วย DVT อาจพัฒนาเป็นกลุ่มอาการหลังลิ่มเลือดอุดตัน (Post-thrombotic Syndrome) อันเป็นรูปแบบหนึ่งของ CVI

ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติ DVT เส้นเลือดขอด โรคอ้วน การตั้งครรภ์ ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การนั่งหรือยืนนาน อายุเกิน 50 ปี และส่วนใหญ่เกิดในเพศหญิง

ภาพประกอบข่าว

แนวทางการวินิจฉัย รักษา CVI

CVI โดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เจ็บปวด และลดคุณภาพชีวิต หากไม่รักษา ความดันในหลอดเลือดดำที่เพิ่มสูงอาจทำให้หลอดเลือดฝอยแตก ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลแดง และเกิดแผลเรื้อรังที่หายยากและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงหากไม่รักษาทันที ผู้ป่วย CVI ยังมีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิด DVT เนื่องจากเลือดคั่งอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะอันตรายถึงชีวิต

การวินิจฉัย CVI มักทำผ่านการตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณ เช่น แผลหรือการเปลี่ยนสีผิว และการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์หลอดเลือด ซึ่งเป็นวิธีไม่เจ็บปวดที่ใช้คลื่นเสียงสร้างภาพหลอดเลือดดำเพื่อแสดงส่วนที่เสียหาย แพทย์อาจใช้การตรวจ MRI Magnetic Resonance Venography (MRV) หรือ Computed Tomography Venography (CTV) เพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกัน

การรักษา CVI มุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการบำบัดด้วยการรัด แต่หากมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงพอ แพทย์อาจแนะนำการทำหัตถการหรือการผ่าตัด เป้าหมายของการรักษาคือช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นในหลอดเลือดดำ ช่วยให้แผลหายและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ ปรับปรุงรูปลักษณ์ของผิวหนัง และลดอาการปวดและบวม

  • การยกขาให้สูง ให้อยู่เหนือระดับหัวใจสามารถช่วยลดความดันในหลอดเลือดดำที่ขาได้
  • การออกกำลังกาย การเดินและการออกกำลังกายรูปแบบอื่น ๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นในหลอดเลือดดำขา กล้ามเนื้อน่องทำหน้าที่เหมือน "หัวใจดวงที่ 2" ในการสูบฉีดเลือดกลับสู่หัวใจ
  • การควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักส่วนเกินสามารถสร้างแรงกดดันต่อหลอดเลือดดำและทำลายลิ้นได้
  • หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
  • ตรวจเช็กผิวหนัง เป็นประจำ
  • ดูแลสุขอนามัยผิวที่ดี ล้างและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวทุกวัน

การบำบัดด้วยการรัด (Compression Therapy) เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำบ่อยที่สุดสำหรับ CVI ช่วยลดอาการบวมและไม่สบายขา มีหลายประเภท เช่น ถุงน่องแบบรัด และผ้าพันแผลแบบรัด แต่ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (PAD) ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษกับการบำบัดด้วยการรัด

ภาพประกอบข่าว

ยาที่ใช้รักษา CVI ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ สำหรับรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือแผลที่เกิดจาก CVI
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือ "ยาละลายลิ่มเลือด" ใช้รักษาและป้องกันลิ่มเลือดในอนาคต
  • ผ้าพันแผลยา เช่น Unna boot
  • ยาเวโนแอคทีฟ (Venoactive drugs - VADs)

การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด (Nonsurgical Treatment)

  • Sclerotherapy แพทย์จะฉีดสารละลายที่เป็นโฟมหรือของเหลวเข้าไปในเส้นเลือดฝอยหรือเส้นเลือดขอด ทำให้เส้นเลือดนั้นยุบตัวหรือหายไป
  • Endovenous Thermal Ablation การใช้เลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงสร้างความร้อนรุนแรงเพื่อปิดหลอดเลือดที่เสียหาย
  • Chemical Adhesive การฉีดสารยึดติดเข้าไปในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปิด
  • Mechanochemical Ablation (MOCA) เป็นเทคนิคที่ใช้ลวดสั่นสะเทือนทำลายเยื่อบุหลอดเลือดพร้อมกับการฉีดสารเคมีเพื่อทำให้หลอดเลือดฝ่อ

การผ่าตัด (Surgical Treatment)

  • Ligation and Stripping ตัดและผูกหลอดเลือดดำที่มีปัญหา และนำหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ออก
  • Microincision/Ambulatory Phlebectomy การเอาเส้นเลือดขอดใกล้ผิวหนังออกผ่านแผลเล็ก ๆ หรือรอยเจาะด้วยเข็ม
  • Subfascial Endoscopic Perforator Surgery (SEPS) การใช้คลิปปิดหลอดเลือดดำทะลุที่เสียหายเหนือข้อเท้า
  • Vein Bypass คล้ายกับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยแพทย์จะนำส่วนหนึ่งของหลอดเลือดดำที่ดีจากส่วนอื่นของร่างกายมาใช้เพื่อเปลี่ยนเส้นทางการไหลเวียนของเลือดรอบหลอดเลือดดำที่เสียหาย วิธีนี้ใช้ในกรณีที่รุนแรงมากเท่านั้น
ภาพประกอบข่าว
  • ภาพประกอบข่าว

ความแตกต่างระหว่าง CVI และ DVT

CVI - ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

  • โรคเรื้อรังที่เกิดจากลิ้นในหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ อาจจากความผิดปกติแต่กำเนิด หลอดเลือดขยายผิดปกติ หรือภาวะทุติยภูมิ เช่น จาก DVT ทำให้เลือดคั่งในขา นำไปสู่อาการบวม เมื่อยล้า ตะคริวตอนกลางคืน ผิวเปลี่ยนสี เส้นเลือดขอด หรือแผลเรื้อรัง
  • ไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ลดคุณภาพชีวิตจากอาการปวด บวม และแผลเรื้อรัง เสี่ยงติดเชื้อหรือ DVT ในภายหลัง
  • วินิจฉัยโรคด้วยการตรวจร่างกายหาสัญญาณ เช่น การเปลี่ยนสีผิวหรือแผล และอัลตราซาวนด์เพื่อดูการไหลย้อนของเลือด
  • การรักษา มุ่งลดอาการบวมและป้องกันแผล ด้วยการยกขา ถุงน่องรัด ยาเวโนแอคทีฟ หรือหัตถการ เช่น Sclerotherapy

DVT - ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก

  • ภาวะเฉียบพลันจากลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดดำส่วนลึก มาจากปัจจัย เช่น การนั่งนาน ขาดการเคลื่อนไหว หรือภาวะเลือดแข็งตัวง่าย ซึ่งอาจหลุดไปอุดตันที่ปอดได้ (Pulmonary Embolism - PE)
  • มีอาการปวด บวม แดง หรือร้อนบริเวณขา มักเกิดฉับพลัน อาจไม่มีอาการในบางกรณี
  • อันตรายถึงชีวิตได้หากลิ่มเลือดหลุดไปปอด และอาจนำไปสู่ CVI ในระยะยาว
  • วินัจฉัยโดยการอัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจหาลิ่มเลือด
  • การรักษา เน้นป้องกันลิ่มเลือดลุกลามด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือในกรณีรุนแรงอาจต้องผ่าตัด
  • DVT เป็นสาเหตุหนึ่งของ CVI แต่ CVI ไม่จำเป็นต้องเกิดจาก DVT เสมอไป

ภาพประกอบข่าว

ทั้งนี้ CVI เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ถูกประเมินต่ำเกินไป โดยพบใน 1 ใน 20 ของผู้ใหญ่ และพบบ่อยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่มีเส้นเลือดขอด ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของ CVI

National Library of Medicine ระบุในด้านเศรษฐกิจ ค่ารักษาโรคหลอดเลือดดำในฝรั่งเศสและเบลเยียมเมื่อปี 2538 คิดเป็นร้อยละ 2-2.6 ของงบประมาณการดูแลสุขภาพ แสดงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ การตรวจพบและรักษา CVI ตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก การวินิจฉัยของทรัมป์จึงเป็นโอกาสให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมสุขภาพโดยรวม

รู้หรือไม่ : ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) ไม่ใช่ "เส้นเลือดขอด" โดยตรง แต่เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดเส้นเลือดขอดได้

ที่มาแหล่งข้อมูล : Cleveland Clinic, National Library of Medicine

อ่านข่าวอื่น :

"มัทฉะ" ทำไมต้องดื่มเพียว ถึงได้สุขภาพ ดีต่อร่างกายอย่างไร

อนุสัญญาออตตาวา ห้ามใช้ สะสม ผลิต ถ่ายโอน "ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล"

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thai PBS

"ธนาธร" ปัดดีลลับการเมือง เชื่อมีบางกลุ่มดึงการเมืองไทยสู่ทางตัน

33 นาทีที่แล้ว
วิดีโอ

The EXIT : ตรวจสอบอาคารเรียนร้าง งบ 32 ล้านบาท ใช้งานไม่ได้

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา
วิดีโอ

ค้นโกดังกระจายสินค้านำเข้า ไม่ขออนุญาต มอก.

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา
วิดีโอ

กัมพูชาเลื่อนสำรวจ ทุ่นระเบิดริมพรมแดน

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าว ไลฟ์สไตล์ อื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

รู้จัก CVI "โรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง" ที่หลายคนมองข้าม

Thai PBS

"ชาญชัย" โชว์บิลรักษา "ทักษิณ" 181 วันกว่า 2.4 ล้าน ชี้ไม่มีค่ายา

Thai PBS

ทีมไทยแลนด์คาดสหรัฐฯ ลดภาษี "ไทย" ใกล้เคียงเวียดนาม

Thai PBS
ดูเพิ่ม
Loading...