"iLaw" โพสต์ย้อนดูจุดยืนพรรคการเมืองที่ได้เข้าสภาฯ ปี 2566 ต่อประเด็น "นิรโทษกรรม" คดีความทางการเมือง
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.68 เพจเฟซบุ๊ก "iLaw" โพสต์รูปพร้อมข้อความระบุว่า ย้อนดูจุดยืนพรรคการเมืองที่ได้เข้าสภาหลังเลือกตั้งปี 2566 ต่อประเด็น “นิรโทษกรรม” คดีความทางการเมือง
ในช่วงเทศกาลหาเสียง ตามเวทีดีเบตหรือวงเสวนาหรือแม้แต่การให้สัมภาษณ์ หลายพรรคการเมืองที่ได้เข้าสภาจากการเลือกตั้ง 2566 ก็เคยแสดงจุดยืนในประเด็นนิรโทษกรรมคดีความทางการเมืองไว้บ้าง ชวนย้อนความจำกันว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง
อ่านทั้งหมด : https://www.ilaw.or.th/articles/6010
ลองดูตัวอย่างสส.จากพรรคเพื่อไทย 👇🏽
ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
☑️ร่างพรรครวมไทยสร้างชาติ
☑️ร่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชน
☑️ร่างพรรคภูมิใจไทย
ขัตติยารับหลักการร่างนิรโทษกรรมทั้งสามร่าง ที่ให้นิรโทษกรรมคดีกบฏ ไม่รวมคดีมาตรา 112 ซึ่งจำเลยในคดีนี้ถูกขนานนามว่า "นักโทษทางความคิด" และฐานความผิดไม่ครอบคลุมคดีทางการเมืองจริงเช่น ประกาศและคำสั่่งคสช.
⛔️ร่างพรรคก้าวไกล
⛔️ ร่างเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
26 เมษายน 2566 ขัตติยาระบุว่า เห็นด้วยและพร้อมผลักดันข้อเสนอเรื่องการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองที่ถูกเสนอโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยซึ่งมองว่าที่ผ่านมามีการดำเนินคดีกับประชาชนที่คัดค้านคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหารมีจำนวนมาก และเมื่อคสช. สืบทอดอำนาจตัวเองเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ยังดำเนินคดีกับกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องในช่วงที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และพร้อมสนับสนุนพรรคก้าวไกลหากผลักดันในเรื่องนี้ แต่ก็มีข้อกังวลเพราะเห็นว่าเรื่องนี้จะทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย อีกทั้ง ขัตติยา เห็นว่าการผลักดันการนิรโทษกรรมนี้ยังต้องมีกลไกนอกสภาด้วยคือการเปิดรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้นโดยทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะมีประวัติศาสตร์มาแล้วว่าถ้าไม่รับฟังเสียงจากทุกฝ่ายก็ทำให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งต่อมา ดังนั้นถ้าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าไปในสภาเพื่อไทยก็จะไม่เป็นศัตรูและเชื่อจะสามารถนำการมีส่วนร่วมของประชาชนมาผลักดันกฎหมายนี้ได้
นอกจากนี้ ขัตติยา ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเห็นควรให้มีการนิรโทษกรรมในห้ากลุ่มคดีคือ
1. คดีการเมือง
2. คดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
3. คดีความมั่นคง
4. คดีที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด
5. คดีที่รัฐสร้างขึ้นมาเองโดยการใช้อำนาจจากการรัฐประหาร
ทั้งนี้ ประเด็นแรกที่ควรจะต้องพิจารณายกเลิกก่อนคือการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับเยาวชน แต่ข้อกังวลอีกเรื่องคือการหาคำนิยามของคดีทางการเมือง จึงเห็นว่าต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อที่จะไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งตามมาเพราะหากไม่ได้ข้อสรุปที่เห็นด้วยทุกฝ่ายก็จะมีการชุมนุมต่อต้านตามมาแล้วเหตุการณ์ก็จะวนกลับไปเหมือนเดิม แต่ก็ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะยังมีคนในเรือนจำที่เขาอยากออกมา และยังมีคนที่อยากเคลียร์ประวัติตัวเอง ทั้งนี้ ประเด็นว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างกฎหมายเองหรือไม่นั้น ทางเพื่อไทยมีการคุยกันและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะมีการเสนอร่างเองหรือไม่ เพราะเพื่อไทยเองก็มีข้อมูลอยู่และเพื่อไทยน่าจะเป็นพรรคที่รู้ดีที่สุดว่าปัญหาในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคืออะไร