บิ๊กเล็ก เผยสัญญาณดี กัมพูชา ยอมคุยด้วย จ่อดึงถก จีบีซี หารือ 2 ประเด็น
บิ๊กเล็ก แจงยิบ ปมชายแดนไทย-กัมพูชา เปรยมีสัญญาณดี เขมร ยอมคุยด้วย จ่อดึงถก “จีบีซี” หารือ 2 ประเด็น ซัด "อังเคิล" โพสต์คลาดเคลื่อนความจริง
เมื่อเวลา 12.10 น. วันที่ 3 ก.ค. 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชนชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ถาม รมว.กลาโหม โดยมีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม รักษาการ รมว.กลาโหม เป็นผู้ชี้แจง
โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์วิกฤตไทยกัมพูชาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สิ่งที่คนไทยทั้งประเทศต้องการ คือต้องการรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันต้องมีการเตรียมการสถานการณ์อย่างมีวุฒิภาวะ รอบคอบ และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนบ้านให้ความเกรงอกเกรงใจรัฐบาล
การที่รัฐบาลจะสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้อย่างเข้มแข็งและอย่างมีวุฒิภาวะเหมาะสมได้ มีมาตรการหลายส่วน ทั้งมาตรการทางด้านทหาร กดดันทางเศรษฐกิจ และมาตรการพุ่งเป้าไปยังเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลของผู้นำกัมพูชา
ที่วันนี้เราได้เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คลิปเสียงหลุดนั้นล้วนเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ที่ตัวผู้นำประเทศใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำสองประเทศจนนำไปสู่วิกฤตในครั้งนี้ที่คลี่คลายยากยิ่งขึ้น
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการควบคุมด่านชายแดนที่รัฐมนตรีอาจจะใช้คำว่าเป็นการเปิดด่านแบบจำกัดเวลา พวกเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นมาตรการกดดันทางด้านเศรษฐกิจที่ด้านหนึ่งอาจจะมีประสิทธิภาพ แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบกับประชาชนคนไทยเป็นวงกว้างด้วยเช่นเดียวกัน
ซึ่งตนอยากเน้นย้ำว่ารัฐบาลต้องแสดงความเข้มแข็ง พวกเราไม่ได้เห็นต่างเรื่องการใช้มาตรการกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายครั้งพรรคประชาชนได้เสนอข้อเสนอนี้ไปแล้ว แต่จะใช้อย่างไรให้เหมาะสม ใช้อย่างไรเพื่อแสดงออกว่ารัฐบาลบริหารสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบ มีวุฒิภาวะ ไม่ดำเนินสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเกินความจำเป็น
โดยสิ่งที่ตนอยากถาม คือ ตอนนี้สถานการณ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาตามแนวชายแดนยังมีความตึงเครียด ความกดดันทางด้านทางทหารที่กัมพูชาดำเนินการอยู่ใช่หรือไม่ ถ้ามีมีอย่างไร
โดยพล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.ที่มีการเคลื่อนย้ายกำลังกลับจากจุดที่เผชิญหน้ากันอยู่ ในครั้งนั้นที่เราพยายามเจรจาฝ่ายกัมพูชา คือ มีกำลังที่เผชิญหน้ามาอยู่ในระยะใกล้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้อาวุธได้ ถ้ามีการเริ่มใช้อาวุธจะทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดและสถานการณ์อาจจะบานปลายได้
ถึงแม้กำลังที่ประเชิญหน้าจะเคลื่อนย้ายกลับไปแล้ว แต่กำลังส่วนที่เหลือที่มีจำนวนมาก มีทั้งอาวุธหนัก รถถัง และปืนใหญ่ ยังเป็นกำลังระลอกสองที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ ตรงนี้ยังมีความเสี่ยงที่วันใดวันหนึ่งเกิดความไม่เข้าใจกันแล้วอาจจะทำให้สถานการณ์บานปลายถึงขั้นที่ใช้อาวุธหนัก
พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ตนมีประสบการณ์ในปี 2554 ที่เขาพระวิหาร ในครั้งนั้นอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายมียังไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้ ฉะนั้น รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน จึงมีแนวทางในการดำเนินการคลี่คลายความตึงเครียดในบริเวณชายแดน
โดยประการที่ 1 รัฐบาลได้ตั้ง ศบทก. ทำงานภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้กำหนดแนวทางไว้อย่างชัดเจนบนพื้นฐานของสันติวิธีและการยึดถือศักดิ์ศรีความเป็นรัฐของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ การเจรจามุ่งเน้นการเจรจาแบบทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยสันติและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ลุกลามบานปลาย
ซึ่งคำว่าลุกลามบานปลายมีสองอย่าง คือ บานปลายทางด้านการใช้อาวุธ และบานปลายทางเศรษฐกิจที่กระทบต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ฉะนั้น ศบทก. จะพยายามบูรณาการและขับเคลื่อนไม่ให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นบานปลายออกไป
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ ศบทก. และรัฐบาลหนักใจมาก ปัจจุบันในประเทศไทยมีสองกระแส คือ พี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนเรียกร้องให้รัฐบาลคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง และขอความเห็นใจว่าเขาประสบความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งความปลอดภัย และเศรษฐกิจ
และพี่น้องส่วนกลางในกทม. บอกว่าต้องยึดศักดิ์ศรีของเราเป็นหลัก ไม่อยากให้รัฐบาลอ่อนข้อ อยากให้ใช้มาตรการที่เข้มแข็ง จึงขอความเห็นใจทุกภาคส่วนในประเทศไทยว่า ปัจจุบันคนมีความคิดกันอยู่สองกลุ่มอย่างนี้ ทำให้การตัดสินใจของรัฐบาลและศบทก.แต่ละเรื่องต้องใช้ความรอบคอบและชั่งน้ำหนักให้ดี
ประการที่ 2 รัฐบาลดำเนินการโดยตระหนักว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีการชี้นำของนักการเมืองหรือผู้นำบางคน แต่สิ่งที่เราต้องรักษาไว้ให้มาก คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีชายแดนติดกัน แม้จะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็ไปไหนไม่ได้ก็ต้องอยู่กันอย่างนั้น
ทุกคนตระหนักตระหนักดีอยู่แล้วว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเกิดจากส่วนบุคคล ฉะนั้น เราจะต้องไม่นำความตึงเครียดนี้ขยายไปสู่ประชาชนโดยทั่วไป ประชาชนจึงควรไม่มาเป็นเหยื่อทางการเมืองระดับรัฐ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะต้องดำเนินการทุกอย่างอย่างรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทั้งสองฝ่าย
ประการที่ 3 รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการควบคุมที่เข้มงวดบริเวณชายแดน เนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าทางการกัมพูชาได้มีการสั่งกำลังเคลื่อนย้ายเข้ามาในพื้นที่ชายแดน และฝ่ายไทยก็มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมกำลังในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคง
แต่ขอย้ำว่าทุกการเคลื่อนไหวของไทยอยู่ในกรอบสันติวิธี และหลีกเลี่ยงการประทะโดยเด็ดขาด หากกัมพูชาไม่ล่วงล้ำอธิปไตยด้วยกำลังติดอาวุธ
ประการที่ 4 ด้านการควบคุมชายแดน รัฐบาลไทยยังมีความร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC รวมถึงประเทศพันธมิตรในการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะสแกมเมอร์ที่มีข้อมูลว่าแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ใกล้แนวชายแดนจำนวนมาก เราจึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบและควบคุมการเข้าออกตามแนวชายแดนอย่างเข้มข้น ทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของประเทศ
ประการที่ 5 ในทุกมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ ศบทก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งหวังให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนกัมพูชากลับคืนสู่สภาพปกติสุขโดยเร็วที่สุด ทั้งด้านความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา ยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า กรณีที่ว่ากองทัพมีอำนาจหรือไม่ ซึ่งตรงกับที่หลายฝ่ายเข้าใจว่าปัจจุบันทำโดยกองทัพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากใจ โดยตนเป็นรัฐบาลเป็นการเมือง แต่ด้วยความที่ยังมียศทำให้คนมองว่าตนเป็นทหาร เวลาตนกลับไปกองทัพเขาก็มองว่าตนเป็นรัฐบาล เวลาตนอยู่ในรัฐบาลเขาก็มองว่าตนเป็นกองทัพ
ฉะนั้น ปัจจุบันเวลาตนทำงานเป็นรัฐบาล ตนก็ทำงานเป็นรัฐบาล โดยตนเป็น ผอ.ศบทก. และการให้อำนาจบางประการกับกองทัพเป็นการชั่วคราวเฉพาะหน้า และอยู่ภายใต้การกำกับของ ศบทก. เราประชุมกันทุกขั้นตอน ไม่ได้ปล่อยให้กองทัพมีอิสระโดยลำพังอย่างที่วิจารณ์กัน
“ณ ปัจจุบันนี้เริ่มมีสัญญาณบวก ทางฝ่ายระดับสูงของกัมพูชาเริ่มมีการคุย ที่ผ่านมาเขาไม่ยอมคุย แต่ 2-3 วันนี้เขาเริ่มมาคุยว่าเชิญไปเข้าประชุมทวิภาคีจีบีซี มีเงื่อนไขอย่างไร ปัจจุบันด้วยสถานการณ์ทางด้านโซเชียลทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ทำให้การพูดคุยในเรื่องเงื่อนไขเราก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน ขอเรียนว่ามีสัญญาณบวก อย่างน้อยเขามาคุยก็ถือว่าบวกแล้ว คุยรู้เรื่องไม่รู้เรื่อง ก็ต้องใช้ความสามารถกันอีกทีหนึ่ง” พล.อ.ณัฐพล กล่าว
จากนั้น นายณัฐพงษ์ ถามอีกว่า ตนอยากได้ข้อเท็จจริงวัตถุประสงค์ชัดๆ ว่าตอนนี้ที่รัฐบาลยังคงมาตรการในการควบคุมด่านอยู่ มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงกดดัน เพื่อนำไปสู่อะไร เพราะพวกเราเห็นว่าถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสม แทนที่จะเป็นมาตรการในการสร้างแรงกดดัน จะกลายเป็นมาตรการสร้างความตึงเครียด ที่ทำให้การบริหารสถานการณ์เดินไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น
ส่วนมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการความมั่นคง และมาตรการทางเศรษฐกิจ คือมาตรการพุ่งเป้าไปที่ตัวผู้นำหรือเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในประเทศกัมพูชา นั่นคือการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการดำเนินคดีลอบสังหารฝ่ายค้านกัมพูชาในประเทศไทย จึงอยากจะถามความคืบหน้าทางรัฐบาลว่าเป็นอย่างไรบ้างในขณะนี้
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนทราบมาว่าทางกองทัพได้ประสานงานไปยังคณะที่ปรึกษาการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย หรือจัสแมก เพื่อประสานขอกำลังบำรุงและเครื่องกระสุนสหรัฐฯ เพื่อเตรียมประสิทธิภาพของกองทัพไทย เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ทราบว่าเรื่องนี้ถูกคว่ำลงเนื่องจากฝ่ายการเมืองปัดตกคำขอนี้
ดังนั้น ในฐานะที่ท่านอยู่ฝ่ายการเมือง พวกเราจึงอยากได้เหตุและผลว่าในเมื่อกองทัพขอรับการสนับสนุนเครื่องกระสุนสหรัฐฯ ผ่านกลไกจัสแมก ทำไมฝ่ายการเมืองจึงคว่ำข้อเสนอนี้ของกองทัพ มีเหตุและผลอย่างไร เป็นเพราะเกรงใจประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ที่พวกเราก็รับรู้กันดีว่าประเทศมหาอำนาจนั้นให้การสนับสนุนกัมพูชา มีฐานทัพเรือในประเทศกัมพูชาด้วยใช่หรือไม่
พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า เรื่องความกดดัน ในห้วงเวลาที่ผ่านมาที่อังเคิลโพสต์มาตลอด ทำให้มีความรู้สึกว่าเราใช้ความกดดันและตึงเครียด ซึ่งมาตรการชายแดนยืนยันว่าไม่ได้กดดันอะไรมาก ไม่ได้ปิดด่าน มีเพียงการจำกัดการเข้าของบุคคลและยานพาหนะออกตามจุดผ่านแดนเท่านั้น
แต่การโพสต์ในโซเชียลของผู้นำกัมพูชา ทำให้รู้สึกว่ามีการกดดัน เช่น จุดผ่านแดนช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ที่ประตูฝั่งไทยเปิด แต่ประตูฝั่งกัมพูชาปิด ดังนั้น สถานการณ์ความตึงเครียดนั้น ผู้นำกัมพูชาอยู่ที่พนมเปญอาจได้รับข่าวคลาดเคลื่อน ไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล ได้นำภาพถ่ายปิด-เปิดด่านของไทยและกัมพูชามาแสดง พร้อมกล่าวว่า เป็นของจริงไม่ได้จัดฉาก ถ้าสส.คนใดไปพบว่าที่ตนนำเสนอไม่เป็นความจริง สามารถเอามาประจานได้ทางสื่อเลย แต่นี่คือเรื่องจริงไม่ได้จัดฉาก
พล.อ.ณัฐพล กล่าวด้วยว่า การกดดันที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่การกดดันทางด้านเศรษฐกิจ แต่เรากดดันด้านกระบวนการอาชญากรรม ที่เป็นไปตามความร่วมมือกับ UNODC ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.ถึงปัจจุบัน สถิติสแกมเมอร์ลดลงได้ชัด ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ต้องการให้มาตรการนี้ทำต่อไป แต่ถ้าเราทำต่อไปประชาชนตามแนวชายแดนจะได้รับความเดือดร้อน
"ผมเจ็บปวดเมื่อชาวบ้านที่จ.สระแก้ว จันทรบุรี ตราด ต่อว่า ว่าเขาไม่ได้ได้อยู่ในพื้นที่ตึงเครียด ทำไมดึงเขามาเกี่ยวด้วย เขาตัดพ้อต่อว่ารัฐบาลว่าวางแผนในห้องแอร์ ฟังแล้วเจ็บปวดมาก ตรงนี้ผมขอความเห็นใจ การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความยากมาก ทั้งนี้ ผมไม่ได้นั่งทำงานในห้องแอร์ แต่รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งปัญหาที่เน้นย้ำคือ การแก้ปัญหาเศรฐกิจ หากปล่อยให้มีการปะทะจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา" พล.อ.ณัฐพล กล่าว
พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงด้วยว่า บรรยากาศของเจบีซี ดีขึ้นเล็กน้อย เพราะเขาหันมาคุยจากเดิมที่ไม่ยอมคุย และจะนำเรื่องขึ้นศาลโลกเท่านั้น แต่ปัจจุบันกัมพูชาเริ่มหันมาคุยด้วยแล้ว แต่เงื่อนไขในการต่อรองในที่ประชุมจีบีซีจะเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานงาน ส่วนคดีการลอบสังหารนักการเมืองของกัมพูชาในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ ตร. ตนขอไม่ชี้แจงเพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับการประสานจัสแมก ตนเป็นเลขาฯ สมช.มาก่อน ความมั่นคง ยึดถือนโยบายสมดุลเป็นหลัก สร้างความสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทุกประเทศเราจะพยายามระมัดระวังไม่ให้ประเทศไทยผูกพันกับประเทศใดประเทศหนึ่ง
ทั้งนี้ มีการนำเสนอว่าที่กัมพูชาทำแบบนี้เพราะได้รับการสนับสนุนจากประเทศทางตอนเหนือของเรา แต่เอกอัครราชทูตของประเทศนั้นชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้อง การฝึกดราก้อนโกลด์ ก็ไม่ได้ฝึกเพื่อมายั่วยุฝ่ายเรา แต่ไทยฝึกคอบบร้าโกลด์กับอีกประเทศหนึ่ง กัมพูชาฝึกดราก้อนโกลด์กับอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกัน เพราะเป็นเรื่องความร่วมมือทางทหาร
“ขอย้ำว่ากองทัพไม่สามารถดำเนินการได้ตามลำพัง กองทัพต้องทำตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้รักษาความสมดุล ถ้าดึงประเทศหนึ่งเข้ามาจะทำให้กระทบต่อความสมดุลของภูมิรัฐศาสตร์ได้” พล.อ.ณัฐพล กล่าว
นายณัฐพงษ์ ถามอีกว่า ประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน มีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าเขาไม่ได้อยู่บริเวณข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง ทำไมถึงได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการของรัฐบาลด้วย จึงอยากฝากไปว่าการดำเนินมาตรการให้ลงรายละเอียด และสื่อสารให้ชัดเจนด้วย
และวันนี้ที่เราเดินมาถึงจุดที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเห็นว่าเรากำลังเสียเปรียบเพราะที่ผ่านมารัฐบาลเสียรู้ เสียรู้ในที่นี้คือประเด็นคลิปเสียงหลุด เราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าเราเสียรู้เรื่องอะไร และคำถามสุดท้ายคือรัฐบาลได้เคยใช้มาตรการทางการทูตเชิญรุก ในการประสานไปยังประเทศที่สาม เช่น ประเทศมหาอำนาจ ในการกดดันกัมพูชาให้กลับมาคุยในระดับทวิภาคีกับประเทศไทยหรือไม่
พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า ขณะนี้มีกระบวนการให้ใช้การเจรจาผ่านการประชุมคณะกรรมการเรื่องเขตแดน (จีบีซี) หากทำสำเร็จ จะหารือใน 2 เรื่อง คือ การเคลื่อนย้ายกำลังกลับที่ตั้งปกติ เลี่ยงความเสี่ยงเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และยกเลิกมาตรการควบคุมตามแนวชายแดน ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่ลงตัวเพราะต่างฝ่ายยังระแวงจากโซเชียล
“เราเสียรู้เรื่องการสื่อสาร การตอบโต้กันไปมาผ่านโซเชียลกับอังเคิลนั้นไม่ได้ทำแบบทางการ และหากตอบโต้กันไปมาจะทำให้เป็นปัญหาได้ จริงๆ การเมืองระหว่างประเทศควรจะมีการตอบโต้กันทางหนังสือราชการ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการตอบโต้ทางหนังสือราชการสักฉบับเดียว
และเมื่ออังเคิลบอกว่าไทยผิดฝ่ายเดียว กัมพูชาไม่ผิด จึงใช้การตอบโต้แบบชี้แจงข้อเท็จจริง นำภาพให้ดู ไม่ใช่โต้กันไปกันมา ซึ่งไม่สามารถยุติการตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ รัฐบาลโดย ศบทก. กำลังดำเนินการ ขณะที่มาตรการทางการทูต รัฐบาลได้ทำผ่านกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงการทูตทางทหาร โดยเน้นย้ำเรื่องนโยบายสมดุล และมีข้อห่วงใยที่ประเทศเพื่อนบ้านทำ” พล.อ.ณัฐพล ชี้แจง
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : บิ๊กเล็ก เผยสัญญาณดี กัมพูชา ยอมคุยด้วย จ่อดึงถก จีบีซี หารือ 2 ประเด็น
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th