เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2025 เสี่ยงเจอ Perfect Storm จาก 3 ปัจจัยกดดัน ‘KKP’ หวั่นสหรัฐฯ เก็บภาษีสูงกว่าเวียดนาม
เศรษฐกิจไทยจะไปต่ออย่างไร เมื่อ KKP ชี้ 3 ปัจจัยกดดันครึ่งปีหลัง ‘สาหัส’ หากปัญหาการเมืองยังฝุ่นตลบ กระทบการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐล่าช้า อาจฉุดให้ GDP ไทยปีนี้เหลือโตแค่ 1.4% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะโต 1.6%
บวกกับกรณีทรัมป์ขีดเส้นตายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่ง ‘ดร. พิพัฒน์’ ชี้ว่า ไทยเสี่ยงถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีมากกว่าเวียดนาม 20%
ความน่ากังวลจึงไม่ใช่แค่เราโดนเท่าไร แต่คู่แข่งจะโดนเท่าไหร่ มากกว่า เพราะจะส่งผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันรุนแรง
ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานสัมมนา KKP 2025 Mid-Year Review ภายใต้ธีม ‘The Power of Two’ (KKP-Goldman Sachs Asset Management) หัวข้อ ‘โอกาสการลงทุนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจโลก’ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับหลายปัญหา ขณะที่ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปียังคงมีผลงานที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นโลกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นครึ่งปีหลัง ไทยยังคงเผชิญ 3 สัญญาณอันตรายพายุหมุน Perfect Storm สู่ Technical Recession ดังนี้
1. นักท่องเที่ยวที่หายไป ‘ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทยน้อยกว่าคาด’ จากช่วงต้นปีที่โตถึง 7-8% ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนหายไปแล้ว 40% ดังนั้น จึงคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวไทยจะเหลือเพียง 34 ล้านคน จากปีที่แล้ว 35.5 ล้านคน
“ไทยจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจแทนภาคการท่องเที่ยว เพราะขณะนี้ท่องเที่ยวจากเดิมที่คิดว่าเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจกลับมาเป็นแรงฉุดแล้ว”
2. ความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยหลักมาจากความไม่แน่นอนของการส่งออก แม้ตัวเลขการส่งออก แม้ไตรมาส 1-2 ส่งออกดีมาก เดือนเมษายน-พฤษภาคมโตถึง 18% แต่ตัวเลขนี้ก็ไม่ได้ทำให้ภาคการผลิตดีขึ้น และการเจรจาการค้ายังเป็นปัจจัยกดดัน
3. การปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ที่หดตัวมาหลายไตรมาส ส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องการสินเชื่อ เช่น รถยนต์ บ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 ข้อเสนอที่ขุนคลังสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทย เผยเบื้องหลังกุนซือทีมไทยแลนด์
- ไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? วิกฤตขีดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อบุญเก่าหมด
- ป่วนทั้งตลาด! เวียดนามแอบสวมสิทธิ์กดราคาส่งออกทุเรียนไทย…
จับตา 3 ปัจจัยกดดัน ‘การเมือง-ภาษีสหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง’
1. การยุบสภาฯ ก่อนมีร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งอาจเห็นการเบิกงบลงทุนล่าช้า และอาจทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ไทยลดลงเหลือไม่ถึง 1%
2. การเจรจาภาษีกับทรัมป์ เนื่องจากเวียดนามโดนจัดเก็บภาษี 20% แม้ยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯ เต็มที่ แต่ไทยจะมีความเสี่ยงจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าเวียดนาม ซึ่งอาจกระทบขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย ทั้งการย้ายฐานผลิตและการลงทุน
“ตอนนี้สิ่งที่เราต้องจับตา คือ ไม่ใช่เราโดนเท่าไร แต่เพื่อนบ้านจะโดนเท่าไหร่ มากกว่า เพราะจะส่งผลต่อขีดความสามารถการแข่งขัน ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านเช่น จีน เวียดนาม มาเลเซียและเกาหลีใต้ ถ้าเราจ่ายแพงกว่าเขา เราจะไม่กระทบแค่ขีดความสามารถการแข่งขันอย่างเดียว แต่กระทบถึงการลงทุนในประเทศด้วย”
3. ราคาน้ำมันที่ยังมีความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ตะวันออกกลาง
การเมืองเขย่า GDP ไทย โตต่ำ 1.4%
พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการเมืองภายในของไทยกระทบต่อการเจรจาสหรัฐฯ แน่นอนเพราะสหรัฐฯ อาจมองว่า การเมืองไทยขาดเอกภาพ ข้าราชการเกียร์ว่าง และนักลงทุนชะลอ ดังนั้นจากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดจึงประมาณการว่า GDP ไทยปีนี้จะเติบโตที่ 1.6%
“หากกรณีร่างงบประมาณปี 2569 ล่าช้า อาจทำให้จีดีพีไทยปีนี้โตต่ำเหลือแค่ 1.4% ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบจากการเก็บภาษีทรัมป์ที่ไทยกำลังเจรจาในขณะนี้”
ห่วงค่าเงินบาท ‘แข็งเกินไป’ หวั่นนักท่องเที่ยวเมินไทย
ขณะเดียวกัน มุมมองทิศทางค่าเงินบาท ปัจจุบันค่าเงินบาทไทย ‘แข็งเกินไป’ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คาดว่า
“ปีนี้ จะอยู่ในกรอบ 32-36 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากแข็งค่าเกินไป อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เลือกมาท่องเที่ยวไทย”
ทั้งนี้ ในระยะกลาง-ยาว ทิศทางค่าเงินบาทจะอ่อนลงมามากกว่านี้ หากมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่อาจจะกลับมา และสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น
ด้านทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล บล. เกียรตินาคินภัทร จำกัด มองว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ยังคงแกว่งตัว โดยประเมินกรอบดัชนีฯไว้ที่ระดับ 1,000-1,230 จุด
โดยการลงทุนในช่วงที่เหลือปีนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งการเจรจาภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล
“เราห่วงรัฐบาลสุญญากาศ เสถียรภาพการเมือง อย่างไรก็ตามท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ หากต้องการลงทุนนั้นทางฝ่ายวิเคราะห์ให้คำแนะนำลงทุนในหุ้นปลอดภัย อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล (Healthcare) และกลุ่มสื่อสาร เนื่องจากกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรงและมีรายได้ที่มั่นคง” ทวีศักดิ์ กล่าว
‘Goldman Sachs’ ชี้โลกท้าทาย แนะกระจายความเสี่ยงลงทุน AI-ทองแดง
ขณะที่ Timothy Moe, Chief Asia Pacific Regional Equity Strategist and Co-Head of Macro Research in Asia, Goldman Sachs Global Investment Research มองว่า สถานการณ์การลงทุนทั่วโลกขณะนี้ เต็มความท้าทายหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) กำแพงภาษีสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา รวมถึงความไม่สงบในตะวันออกกลางที่มีผลต่อราคาน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ท้าทายบรรยากาศการลงทุน
Timothy Moe มองว่า “ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ผลตอบแทนการลงทุนจะอยู่ที่หลักหน่วยกลางๆ ไปถึงสูง นับว่าไม่แย่ แต่ก็ไม่มากเท่า 20% แบบที่เคยเจอในช่วงสองปีที่ผ่านมา”
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น
โดยคาดว่าปีนี้จะมีการปรับลดเป็น 3 ครั้ง ในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม และธันวาคม จากการผ่อนคลายของตลาดแรงงาน ทำให้อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ (Bond Yield) จะยังคงสูงต่อไป
ขณะที่เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสหรัฐฯ เปิดทาง
Timothy Moe ระบุอีกว่า หุ้นในหมวดที่น่าสนใจของปีนี้จะอยู่ในหมวดปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ้นในหมวดความมั่นคงด้วย
แม้ว่าการปรับใช้ (Implementation) เทคโนโลยี AI ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เป็นหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตได้สูงในระยะยาว
ส่วนหุ้นที่เกี่ยวกับบริษัทด้านการป้องกันประเทศได้รับอานิสงส์จากความไม่สงบในหลายพื้นที่ และมีศักยภาพการเติบโตจากแนวโน้มการเพิ่มงบกลาโหมของบรรดาชาติสมาชิก NATO
นอกจากนี้ Timothy Moe ยังแนะนำให้ ‘กระจายความเสี่ยง’ ด้วยการลงทุน ‘สินค้าโภคภัณฑ์’ ให้มากขึ้น
“นอกจากทองคำที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ทองแดง ก็เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะในยุคเศรษฐกิจใหม่ ทองแดงมีบทบาทเทียบได้กับน้ำมัน จากแรงหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” Timothy Moe กล่าว
ภาพ: AscentXmedia/Getty Image