วี วิโอเลต ขอโทษทำคนเข้าใจผิด หลังมีคลิปคุณแม่โวยทีมงานเรื่องควัน ยันคอนเสิร์ตไม่ได้ใช้ Dry Ice
ไนน์เอ็นเตอร์เทน
อัพเดต 4 กรกฎาคม 2568 เวลา 0.25 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • NineEntertain ข่าวบันเทิงอันดับ 1 ของไทยจากกรณีก่อนหน้านี้ คุณแม่ติ๋ม หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.รุจิรา ตาปราบ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คุณแม่ของนักร้องสาว วี วิโอเลต วอเทียร์ ได้โวยทีมงาน หลังร่วมชมคอนเสิร์ตลูกสาวแล้วบนเวทีมีการปล่อยควันมากเกินไป ซึ่งควันดังกล่าวคุณแม่เข้าใจว่าเกิดจากการใช้ Dry Ice หรือน้ำแข็งแห้ง มาทำเป็นเอฟเฟกต์ประกอบการโชว์ ทำให้ฟุ้งทั่วฮอลล์ จนคุณแม่ทนไม่ไหวต้องเดินไปหาทีมงานให้รีบปิด พร้อมเตือนด้วยความหวังดีว่า Dry Ice คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากสูดมาก ๆ ออกซิเจนในร่างกายจะหายเกลี้ยง
ล่าสุดวันนี้ (3 ก.ค. 68) สาว วี วิโอเลต ไม่ปล่อยให้หลายคนเข้าใจผิดไปไกล รีบออกมาชี้แจงทันที บอกว่า “จากคลิปคุณแม่วีที่กำลังไวรัล วีอยากอธิบายเพิ่มเติม เนื่องจากมีข้อความในคลิป ที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ขออนุญาตออกมาชี้แจง และอธิบายสถานการณ์เพิ่มเติมนะคะ จากสถานการณ์ คือ คอนเสิร์ตจบแล้ว แต่ Smoke ยังไม่ปิด แม่เลยถามว่า ‘ยังไม่ปิดเหรอ’ จริง ๆ แล้ว คุณแม่เข้าใจดีว่าคอนเสิร์ตมันต้องมี Smoke เวทีและไฟมันถึงจะสวย แต่ในกรณีนี้ คอนได้จบไปแล้ว แต่ smoke ยังคงเปิดอยู่ ซึ่งทีมงานก็กำลังจะปิดตามแผนค่ะ แม่วีก็เลยแค่เอาสถานการณ์นั้นมาเล่าให้ฟัง และเราก็หยอกล้อกัน ด้วยความเอ็นดูคุณแม่แบบในคลิป เพราะแม่วีพูดไปด้วยความเป็นห่วง แต่สิ่งที่ทำให้คนเข้าใจผิดกันเลย คือเรื่อง ‘Dry ice’ ในตอนท้ายคลิป เนื่องจากจริง ๆ แล้ว ในคอนเสิร์ตนี้ ไม่ได้มีการใช้ dry ice แต่อย่างใด แม่วีรู้ว่า Smoke และ Dry ice คือคนละอย่างกัน ซึ่งการพูดถึง Dry Ice เป็นบทสนทนาอีกเรื่องที่มันต่อเนื่องกันมาอีกทีค่ะ แต่ได้มีการถูกตัดเนื้อหาของบทสนทนาบางส่วนออก ภายหลังในการตัดต่อคลิปนั้น จนอาจจะเข้าใจผิดได้ วีขอโทษทีมงาน และแวดวงคนจัดคอนเสิร์ต ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด จากการตัดคลิปนี้ของวีนะคะ วีตัดคลิปด้วยความตลกสถานการณ์โดยไม่ได้คิดรอบด้านว่าจริง ๆ แล้วมันส่งผลกระทบ และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดยังไงบ้าง แม่ของวีไม่ได้มีเจตนาไม่ดี หรือพูดอะไรผิด และทางผู้จัดและทีมงานเองก็ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดเลยค่ะ วีผิดเองในการตัดต่อ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดค่ะ ต้องขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วยจริง ๆ ค่ะ เลยอยากขอใช้โอกาสนี้ ในการแชร์บอกต่อความเข้าใจ กับคนที่รักการมาดูคอนเสิร์ตไปเลย ว่า Dry Ice และ Smoke คืออะไร และต่างกันยังไง ผ่านเพจสมาคมเลยนะคะ”
ทั้งนี้ เพจสมาคมผู้ประกอบอาชีพระบบแสงเสียงภาพไทย ยังได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้งาน Smoke และ CO₂ (คาร์บอนไดออกไซด์) ในงานแสดงคอนเสิร์ตและอีเวนต์ โดยระบุว่า “ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ควันและน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ในงานแสดง ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลและความเข้าใจคลาดเคลื่อนในวงกว้างนั้น สมาคมผู้ประกอบอาชีพระบบแสงเสียงภาพไทย ขอใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอข้อมูลในเชิงวิชาชีพ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์สร้างหมอกควันในงานแสดง คอนเสิร์ต และ อีเวนต์
ในอุตสาหกรรมบันเทิง ควันที่เห็นในการแสดง คอนเสิร์ต และ อีเวนต์ มักเกิดจากอุปกรณ์หลัก 2 ประเภท คือ
- เครื่องสร้างควัน (Smoke/Fog Machine) ซึ่งทำงานโดยให้ความร้อนกับน้ำยาที่มีส่วนประกอบหลักคือ น้ำ กลีเซอรีน หรือไกลคอล เมื่อระเหยออกมาจะเกิดเป็นไอหมอกสีขาวลอยในอากาศ ซึ่งไม่มีส่วนประกอบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) และไม่มีผลต่อระดับออกซิเจนในบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม หากใช้ในปริมาณมากต่อเนื่องในพื้นที่จำกัดโดยไม่มีระบบถ่ายเทอากาศ อาจส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น แสบตา แสบคอ หรือระคายทางเดินหายใจในผู้ที่มีอาการแพ้หรือโรคระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นหอบหืดหรือโรคปอดเรื้อรัง
- เอฟเฟกต์จาก Dry Ice หรือก๊าซ CO₂ ใช้เพื่อสร้างควันที่ลอยต่ำคล้ายปุยเมฆมักพบเห็นในงานแต่งงาน หรือพ่นในลักษณะพุ่งแรงในระยะเวลาสั้น ๆ มักใช้สำหรับงานเปิดตัวสินค้า หรือพิธีเปิดงานต่าง ๆ หรือในงานคอนเสิร์ตเพื่อสร้างความตื่นเต้น โดยน้ำแข็งแห้งเมื่อสัมผัสน้ำจะระเหิดกลายเป็นก๊าซ CO₂ หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในสถานะของเหลวที่บรรจุในถัง เมื่อถูกปล่อยออกมาจะมีน้ำหนักหนักกว่าอากาศและอาจสะสมที่พื้น หากใช้ในพื้นที่ปิดที่ไม่มีการระบายอากาศ อาจลดสัดส่วนออกซิเจนจนเกิดผลกระทบต่อร่างกายได้ในระดับความเข้มข้นสูง
โดยค่าปกติของ CO₂ ในอากาศที่อยู่รอบตัวเรามีประมาณ 400 ppm (0.04%) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย OSHA ของสหรัฐฯ กำหนดว่าระดับที่สัมผัสได้ไม่ควรเกิน 5,000 ppm (0.5%) ต่อเนื่องเกิน 8 ชั่วโมง และในระดับ 30,000–50,000 ppm (3–5%) ขึ้นไป หากเกิดการสะสมในพื้นที่ปิดโดยไม่มีการระบายอากาศ อาจก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือหมดสติได้
แต่ในงานแสดงทั่วไป ปริมาณ CO₂ ที่ใช้งานจริงมักต่ำกว่าระดับนี้มาก อย่างไรก็ตามการใช้งาน CO₂ ในงานแสดง คอนเสิร์ต และ อีเวนต์ ผู้ปฏิบัติงานมีความตระหนักและทราบถึงขอบเขตและอันตรายของการใช้งาน CO₂ โดยมีการควบคุมระยะเวลา ปริมาณ และสภาพแวดล้อมอย่างรัดกุม ทั้งในด้านความปลอดภัยของทีมงาน นักแสดง ศิลปินและผู้ชม
สมาคมฯ ขอเรียนว่า เครื่องมือและเอฟเฟกต์ที่กล่าวมาข้างต้นสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากอยู่ภายใต้การควบคุมโดยผู้มีความรู้ความเข้าใจในระบบ และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม ทั้งนี้ สมาคมฯ ขอขอบคุณทุกเสียงที่ห่วงใยในความปลอดภัยของการแสดง และขอมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในงานแสดงอย่างมีความรู้เท่าทัน สร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะโดยรวม” .-ไนน์เอ็นเตอร์เทน
ภาพจาก Violette Wautier