ผู้ประกันตน ม.33 ปรับเพิ่มเงินทดแทนกรณีว่างงาน จากการถูกเลิกจ้าง เป็นร้อยละ 60 ไม่เกิน 180 วันรับเงินชดเชยสูงสุด 9,000 บาทต่อเดือน
ผู้ประกันตน ม.33 ปรับเพิ่มเงินทดแทนกรณีว่างงาน จากการถูกเลิกจ้าง เป็นร้อยละ 60 ไม่เกิน 180 วันรับเงินชดเชยสูงสุด 9,000 บาทต่อเดือน
(16 กรกฎาคม 2568) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข่าวดีสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถูกเลิกจ้างหรือว่างงาน หลังราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ได้ปรับเพิ่มอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนให้สูงขึ้น เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกันตน และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งสาระสำคัญของกฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่นี้ คือ ให้ลูกจ้างประกันสังคมได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากการเลิกจ้าง เพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 60 จากเดิมร้อยละ 50 ส่งผลให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนสูงสุดไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท จากเดิมสูงสุดเดือนละ 7,500 บาท โดยในระยะเวลา 180 วัน (6 เดือน) จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 54,000 บาท จากเดิมที่จะได้รับสูงสุด 45,000 บาท
สำหรับวิธีลงทะเบียนว่างงาน-เลิกจ้าง เพื่อรับเงินชดเชยจากประกันสังคม ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ลาออก หรือถูกเลิกจ้าง สามารถลงทะเบียนผู้ว่างงานผ่านเว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th ภายใน 30 วัน นับจากวันที่สิ้นสุดการจ้างงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
1. กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้เงินช่วยเดือนละ 60% ของเงินเดือนเฉลี่ย อย่างเช่น ถ้าเคยได้เงินเดือน 10,000 บาท ก็จะได้เดือนละ 6,000 บาท โดยจะจ่ายให้ไม่เกิน 6 เดือนใน 1 ปี (รวมกันไม่เกิน 180 วัน)
2. กรณีลาออกเอง หรือหมดสัญญาจ้าง จะได้ 30% ของเงินเดือนเฉลี่ย เช่น ถ้าเคยได้เงินเดือน 10,000 บาท จะได้เดือนละ 3,000 บาท และจะจ่ายให้ไม่เกิน 3 เดือนใน 1 ปี (รวมกันไม่เกิน 90 วัน)
3. ในส่วนของคนที่ว่างงานหลายครั้งในปีเดียว เช่น ถูกเลิกจ้าง 1 รอบ แล้วต่อมาก็ถูกเลิกจ้างอีกหรือลาออกอีกครั้ง สามารถขอรับสิทธิได้ทุกรอบ แต่เงินรวมที่ได้รับในปีนั้น จะได้ไม่เกิน 180 วันสำหรับกรณีเลิกจ้าง และไม่เกิน 90 วันสำหรับกรณีลาออก สำหรับเงื่อนไขการขอรับสิทธิ มีดังนี้ 1) ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในช่วง 15 เดือนก่อนว่างงาน 2) ว่างงานต่อเนื่อง อย่างน้อย 8 วัน 3) ต้องลงทะเบียนผู้ว่างงานผ่านเว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th ภายใน 30 วันหลังออกจากงาน 4) รายงานตัวผ่านระบบออนไลน์เดือนละ 1 ครั้ง จนกว่าจะมีงานทำ 5) พร้อมทำงานและไม่ปฏิเสธการฝึกอาชีพที่จัดหาให้ 6) ไม่ถูกเลิกจ้างเพราะความผิดร้ายแรง เช่น ทุจริต ละทิ้งหน้าที่ ฯลฯ 7) ไม่ได้รับสิทธิซ้ำในกรณีชราภาพ ทั้งนี้ เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอรับสิทธิ ประกอบด้วย 1) แบบคำขอ สปส. 2-01/7 2) หนังสือรับรองออกจากงาน หรือ สปส.6-09 (ถ้าไม่มีสามารถขึ้นทะเบียนได้) 3) สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (เฉพาะธนาคารที่กำหนด) และ4) หนังสือคำสั่งเลิกจ้าง (ถ้ามี)
“รัฐบาลมุ่งมั่น สร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างและสูญเสียรายได้ผู้ประกันตนมีรายได้เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่าย โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสิทธิ สามารถยื่นขอรับเงินผ่านระบบออนไลน์ และสามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th หรือยื่นแบบฟอร์มที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข) กรณีเงินทดแทนว่างงาน ไม่สามารถขอย้อนหลังได้ ต้องยื่นขึ้นทะเบียนภายใน 30 วันหลังลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หากลาออกหรือถูกเลิกจ้างหลายครั้งในปีเดียว จะนับรวมวันรับเงินสูงสุดไม่เกินที่กำหนด (90 วันสำหรับลาออก / 180 วันสำหรับเลิกจ้าง) โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ซึ่งให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง” นายอนุกูล กล่าว