ราชกิจจาฯ ลงประกาศ ทรามาดอลชนิดกิน เป็นยาควบคุมพิเศษ มีผลในอีก 180 วัน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 57 โดยมีเนื้อหาระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 76 (4) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา ฉบับที่ 3 พ.ศ.2522 และมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศตามคำแนะนำของคณะกรรมการยา ในการประชุมครั้งที่ 421-5/2567 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567
ข้อ 1 ระบุให้ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ได้กำหนดให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (99) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 คือ ยาทรามาดอล (Tramadol) ตำรับยาเดี่ยว ชนิดรับประทาน
ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2568 โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 4 มิถุนายน 2568 นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ยาทรามาดอลเป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีนและมีความเสี่ยงต่อการเสพติด ปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มเด็กและเยาวชนบางส่วน นำไปใช้ในทางที่ผิด โดยทรามาดอลชนิดแคปซูลรับประทาน สูตรยาเดี่ยว หรือที่เรียกว่า ยาเขียวเหลือง ใช้ในทางการแพทย์เพื่อบรรเทาอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ปริมาณที่ร่างกายรับได้สูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน
ทั้งนี้ ยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ง่วงซึม ปวดศีรษะ มือสั่น ใจสั่น หรือประสาทหลอนได้ หากได้รับยาในปริมาณสูงตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม หรือราว 10 แคปซูลขึ้นไป อาจเกิดอาการรุนแรง เช่น ชัก ไข้สูง กล้ามเนื้อสลาย ลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้
สำหรับการตัดสินใจยกระดับทรามาดอลเป็นยาควบคุมพิเศษ และจำกัดช่องทางการจำหน่าย ให้ขายได้เฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายวิชาชีพ โดยมาตรการนี้มีผลเฉพาะยาทรามาดอลสูตรยาเดี่ยวชนิดรับประทาน ส่วนเภสัชกรร้านขายยายังคงสามารถให้บริการผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาสูตรผสม เช่น ทรามาดอลร่วมกับพาราเซตามอล เพื่อรักษาอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรงได้เช่นเดิม