เอทานอล ลุ้นรัฐดันโยบาย E20 ผวาถูกสหรัฐบีบนำเข้าล้านตัน ทุบอุตฯ ล่มสลาย
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 กองพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รายงานสถานการณ์เอทานอล ปัจจุบันไทยมีโรงงานผู้ผลิตเอทานอลทั้งสิ้น 28 ราย กําลังการผลิตรวม 6.92 ล้านลิตร/วัน(มูลค่าอุตสาหกรรม 1.7 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตเอทานอลเดือนพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ 3.51 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 68 อยู่ที่ประมาณ 0.25 ล้านลิตร/วัน ปริมาณการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 50.7 ซึ่งราคาเอทานอลอ้างอิง เดือนกรกฎาคม 2568 อยู่ที่ 18.34 บาท/ลิตร
ขณะที่ราคาเอทานอลต่างประเทศ ได้แก่ เอทานอล (ฟิลิปปินส์) 43.02 บาท/ลิตร, สหรัฐอเมริกา 14.25 บาท/ลิตรและบราซิล 17.68 บาท/ลิตร ซึ่งอนาคตอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจาก (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 “Oil Plan 2024” ของไทยที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้วก็ยังไม่คลอด ยิ่งทำให้โรงงานเอทานอลลำบากมากขึ้น เพราะธุรกิจเอทานอลที่ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงของไทยถูกขับเคลื่อนโดยนโยบายรัฐ
นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ นายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ภาพรวม 6 เดือนแรก ปี 2568 ความต้องการใช้เอทานอลลดลงจากปีก่อน โดยเหลือ 3.3-3.4 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้การใช้ลดลง ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่าน่าจะเหนื่อยทุกเซ็กเตอร์ นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลง และมีประเด็นที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้าไทย (Reciprocal Tariff) ที่ 36%) ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุน เพื่อรอดูทิศทางของตลาด และมีความระมัดระวังในการใช้เงิน ซึ่งการใช้เอทานอลขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ
“หากรัฐมีนโยบายใช้ E20 เป็นพื้นฐาน (นํ้ามันเบนซิน E20 ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอล 20% เป็นเชื้อเพลิงพื้นฐานในประเทศ) ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 6 ล้านลิตรต่อวันได้ไม่มีปัญหาเนื่องจากสมาชิกในสมาคมมีกำลังการผลิต อยู่ 7-8 ล้านลิตรต่อวันอยู่แล้ว รวมทั้งมีรถยนต์ในประเทศที่สามารถใช้นํ้ามันนี้ได้อยู่แล้วจำนวนมาก ซึ่งเหลือแค่นโยบายรัฐบาลเท่านั้นว่าจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญหากสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้จะเป็นผลดีต่อเกษตรกร จะขายสินค้าได้ราคาดีมีเสถียรภาพไม่ความผันผวน และจะสามารถดูดซัพพลายมันสำปะหลังออกจากตลาดได้อย่างน้อย 6-8% ไม่ต้องพึ่งพิงตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว”
นางสาวสุรียส กล่าวอีกว่า นอกจากนี้หากในอนาคตเกิดสงครามในตะวันออกกลางอีก นโยบายนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยด้านความมั่นคงพลังงานของประเทศ ควบคู่การผลักดันเปิดเสรีเอทานอลให้ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นผลิตนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ,ไบโอเอทิลีนสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตลอดจนอุตสาหกรรมสมุนไพรสกัด อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น
ทั้งนี้จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อย และมันสำปะหลังที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอลอีกด้วย ซึ่งเกษตรกรใน2 กลุ่มนี้มีกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน อย่างไรก็ดี (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP2024) เร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเดินหน้าขับเคลื่อนและต้องส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป จากที่เวลานี้ทุกโรงงานรอดูท่าทีว่าทางภาครัฐจะมีทิศทางอย่างไร
ด้านนายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความกังวลจากที่รัฐบาลไทยต้องเจรจาต่อรองกับสหรัฐในเรื่องอัตราภาษี 36% ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งในการต่อรอง เกรงว่าทางสหรัฐอาจขอให้ไทยเปิดให้บริษัทปิโตรเคมีในไทย เพิ่มปริมาณการซื้อเอทานอลจากสหรัฐอย่างน้อย 1 ล้านตันเพื่อลดแรงกดดันเรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทย ซึ่งการนำเข้าเอทานอลต่างประเทศ อาจทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานไทยล่มสลายไปด้วย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 45 ฉบับที่ 4,113 วันที่ 13 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568