กรมอุทยานฯ เตรียมขาย ‘เหี้ย’ เป็นพ่อแม่พันธุ์ ตัวละ 400 บาท พบนักธุรกิจสนใจเพียบ
กรมอุทยานฯ เตรียมขาย "เหี้ย" เพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ ตัวละ 400 บาท สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เผย นักธุรกิจสนใจเพียบ
จากกรณีที่ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 และได้ลงความเห็น ประกาศราคาพ่อแม่พันธุ์ตัวเหี้ย ไว้ที่ตัวละ 500 บาท
ภายหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายจากเดิมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ให้ประชาชนสามารถเพาะเลี้ยงเหี้ย เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ ภายใต้ข้อกำหนดของกรมอุทยานฯ โดยมีพื้นที่ กรงเลี้ยง และการเลี้ยงดูที่เหมาะสมนั้น
ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่ายค่าบริการ หรือค่าตอบแทน และราคาสัตว์ป่า พ.ศ. 2567 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลทางกฎหมายต่อไป
ล่าสุด วันนี้ (23 ก.ค.) นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผย ว่า หลังจากที่เรื่องนี้ถูกนำเสนอออกไป ปรากฏว่า มีบรรดา พ่อค้า นักธุรกิจ สนใจ และติดต่อเข้ามาที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมถึงโทรศัพท์มาสอบถามยังตนจำนวนมาก
“ได้ให้รายละเอียดเบื้องต้น ถึงคุณสมบัติของคนที่จะมาซื้อ โดยสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนพ่อแม่พันธ์ุได้ที่กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หน่วยงานต้นสังกัดของ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จังหวัดราชบุรี"
สถานที่ดังกล่าวเวลานี้ ได้เลี้ยงดูตัวเหี้ยไว้ประมาณ 400 ตัว ซึ่งเป็นตัวเหี้ยที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่เข้าไปคุกคามในบ้าน และแจ้งมาที่สายด่วยพิทักษ์ป่า 1362
เมื่อได้รับแจ้ง จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยจับ และนำมาดูแลตรวจสุขภาพเบื้องต้น ที่กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ที่อยู่ในกรมอุทยานฯ หลังจากนั้น จะนำไปไว้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีสถานที่ที่ดูแลตัวเหี้ยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ตอนนี้มีตัวเหี้ยอยู่ประมาณ 400 กว่าตัวตามบัญชี รวมทั้งดูแลงูเหลือมอีกประมาณ 1,000 ตัวตามบัญชี
ทั้งนี้ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าขอถือโอกาสแนะนำนักธุรกิจที่ต้องการจะเพาะพันธุ์ตัวเหี้ย ให้ไปดูที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จังหวัดราชบุรี และมาติดต่อทำเอกสารรายละเอียด และจะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความพร้อมในสถานที่เลี้ยง ให้มีสถานที่และกรงเลี้ยงที่เหมาะสม
จากนั้น ชำระเงินในจำนวนที่ต้องการซื้อ โดยค่าตัวเหี้ย 400 บาท ค่าไมโครชิพอีก 100 บาท รวมเป็นตัวละ 500 บาท โดยตัวเหี้ยทุกตัวที่ออกจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จะต้องฝังไมโครชิพทุกตัว เพื่อป้องกันการแอบจับจากธรรมชาติไปเลี้ยง เพราะตัวเหี้ยยังมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าบอกด้วยว่า แต่เดิมนั้น ที่ยังไม่สามารถจำหน่ายตัวเหี้ยได้ ทางกรมอุทยานก็จะเลี้ยงดูไปจนสิ้นอายุขัย โดยในแต่ละสัปดาห์ จะมีคนแจ้งให้เข้าไปช่วยจับตัวเหี้ยที่เข้าบ้านประมาณ 10-20 ตัว
การเลี้ยงดู โดยทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนก็สร้างบ่อเลี้ยง ขนาดประมาณ 1 ไร่ จำนวน 2 บ่อ มีแอ่งน้ำ และต้นไม้ ให้อาหารเป็นเนื้อไก่ และปลาครั้งละ 40-50 กิโลกรัม สัปดาห์ดาละ 3 ครั้ง โดยมีภาคเอกชนสนับสนุนเรื่องอาหารส่วนหนึ่ง
รวมทั้งบ่องูเหลือ งูหลามเช่นเดียวกัน โดยงูเหลือมนั้น ก็อนุญาตให้เพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจมาแล้วระยะหนึ่ง งูเหลือมตัวละ 400 บาท งูหลาม 500 บาท ขั้นตอนการซื้อขายก็เหมือน กับการซื้อขายตัวเหี้ย
"ผมคิดว่าสาเหตุที่นักธุรกิจสนใจ เพราะตัวเหี้ยมีลวดลายที่สวยงาม ซึ่งในตลาดต่างประเทศมองว่า สวยกว่าหนังจระเข้ แต่ในประเทศไทยอาจจะยังไม่เป็นที่นิยมนัก"
ส่วนที่มีนักธุรกิจบางคน ติงว่าให้เรียกชื่อว่าตัวเงินตัวทองได้ไหม ก็ได้อธิบายไปว่า เรียกอย่างนั้นก็ได้ แต่ในทางกฎหมายบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น เหี้ยถือเป็นชื่อทางการ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิด 'โครงการอนุรักษ์ทะเลไทย' ตามแนวพระดำริ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
- กรมอุทยานฯ ไขปริศนาเสียงดังคล้ายน้ำเดือด ที่ภูเขาไฟกระโดง
- 'หาดท้ายเหมือง' พังงา คว้ามาตรฐานชายหาดระดับสากล และ รางวัลอุทยานสีเขียว
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X:https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube:https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg