จับตาตะกร้อ 4 คนอาจเป็นที่นิยมมากขึ้น เมื่อชาติอื่นเริ่มชนะไทย
รายการนี้ ทัพหวกลูกพลาสติกไทย สามารถคว้าแชมป์มาครองได้ 5 อีเวนต์ จากที่ส่งนักกีฬาร่วมชิงชัย 7 ประเภท อันได้แก่ ตะกร้อลอดห่วงสากลชาย, ตะกร้อลอดห่วงสากลหญิง, ตะกร้อ 4 คนผสม, เซปักตะกร้อทีมชุดหญิง และ เซปักตะกร้อทีมชุดชาย
ส่วนอีก 2 ประเภทที่เราไม่ไม่ถึงบัลลังก์แชมป์ก็คือ ตะกร้อ 4 คนชายและตะกร้อ 4 คนหญิง
โดยในศึก 4 คนชายนั้น เราได้แค่อันดับ 3 ร่วมกับมาเลเซีย หลังรอบรองชนะเลิศ แพ้เวียดนามไปแบบช็อกวงการ 0-2 เซต
แถมยังเกิดเรื่องเซอร์ไพรส์ขึ้นอีกในรอบชิงชนะเลิศ เมื่อญี่ปุ่น ที่โค่นมาเลเซียมาได้ในรอบตัดเชือก สามารถเอาชนะเวียดนามในรอบชิง 2-0 เซต ส่งผลให้ทัพหวายแห่งแดนซามูไร สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ตะกร้อคิงส์คัพหนแรก ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ พวกเขาไม่เคยประสบความสำเร็จในชนิดกีฬาตะกร้อมาก่อนเลย
ส่วนทีมตะกร้อ 4 คนสาวไทย ต้องได้เพียงรองแชมป์เท่านั้น หลังในรอบชิงชนะเลิศ โดนคู่ปรับตลอดกาลอย่างเวียดนาม แซงคว้าชัย 2-1 เซต
ส่งผลให้ในปีนี้ ทัพหวายหญิงไทย พ่ายให้กับสาวญวน ในเกมดวลเพลงเตะ 4 คนเป็นคำรบที่ 2 เข้าให้แล้ว ต่อจากศึกเวิลด์คัพ 2025 รอบชิงชนะเลิศ ที่ประเทศอินเดียเมื่อ 3 เดือนก่อน
จะเห็นได้ว่า ในประเภทตะกร้อ 4 คนนั้น เราเริ่มแพ้ทีมอื่นมากขึ้น แถมชาติหน้าใหม่หลายทีม โดยเฉพาะญี่ปุ่น ก็เก่งขึ้นแบบผิดหูผิดตา ถึงขนาดได้แชมป์คิงส์คัพหนนี้ในอีเวนต์ตะกร้อ 4 คนชายไปครองแบบช็อกวงการ
“เสก” เสกสรรค์ ทับทอง นักตะกร้อทีมชาติไทย ผู้ที่มีความชำนาญในประเภทตะกร้อคู่และตะกร้อ 4 คน จนได้รับฉายาว่า “ราชาหลังคอร์ต” อันเนื่องมาจากตะกร้อคู่และตะกร้อ 4 คนจะเสิร์ฟจากเส้นหลังนั่นเอง ได้ให้ความเห็นว่า นักตะกร้อไทยแทบทุกคน มาจากการเล่นตะกร้อ 3 คนเป็นหลัก ตรงข้ามกับเวียดนามหรือญี่ปุ่น ที่จะมุ่งโฟกัสกับตะกร้อ 4 คนโดยเฉพาะ
แท็คติกการเล่นเซปักตะกร้อหรือตะกร้อ 3 คนกับ 4 คน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างแรกเลยก็คือตะกร้อ 3 คน สามารถเสิร์ฟกินแต้มได้ จากการเสิร์ฟ ณ จุดวงกลม ซึ่งมีระยะห่างจากตาข่ายเพียง 4.25 เมตรเท่านั้น แฟนตะกร้อจึงเห็นการเสิร์ฟหนักด้วยหลังเท้าอย่างรุนแรง หรือการเสิร์ฟปั่นหยอดจนเรียกแต้มได้อยู่หลายหน
ส่วนตะกร้อคู่ ที่แม้จะเสิร์ฟจากเส้นหลัง(ระยะห่างจากตาข่าย 6.70 เมตร) เหมือนดั่งตะกร้อ 4 คน ก็ยังพอเสิร์ฟเรียกแต้มได้เช่นกัน จากการเสิร์ฟเล่นทาง
ตรงข้ามกับตะกร้อ 4 คน ที่ไม่รู้จะเสิร์ฟเรียกแต้มยังไง จะเล่นทางเหมือนตะกร้อคู่ไม่ได้ เพราะคู่แข่ง 4 คนยืนคุมพื้นที่คอร์ตจนแน่นไปหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ เกมการชิงจังหวะแต้มต่อแต้ม จึงต้องวัดกันที่การขึ้นฟาดหน้าตาข่ายเป็นหลัก
เสกสรรค์ ที่ในคิงส์คัพหนนี้ เล่นทั้งตะกร้อ 4 คนชายและตะกร้อ 4 คนผสม ได้กล่าวอีกว่า เท่าที่ดูการเล่นของทีมเวียดนามและญี่ปุ่น เขาไม่ได้เน้นลูกเสิร์ฟมากนัก เสิร์ฟแค่ประคองแล้วมาเน้นใช้แท็คติกสร้างกำแพงบล็อกหลัง 3 คน
เห็นได้ชัดเจนว่า ตะกร้อ 4 คนชาย-หญิงของไทย ที่พ่ายเวียดนามในคิงส์คัพหนนี้ ฟาดติดบล็อกหลัง 3 คนของเวียดนามบ่อยมาก ซึ่งเรื่องนี้ทีมไทยต้องนำมาแก้ไขต่อไป เสกสรรค์กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ อีกประการที่ทำให้ตะกร้อ 4 คนทั้งชายและหญิงของไทย ไปไม่ถึงบัลลังก์แชมป์ก็คือ ต้องยอมรับว่าเวียดนามกับญี่ปุ่น เขาโฟกัสและเน้นไปที่การคว้าแชมป์ตะกร้อ 4 คนเป็นหลัก ตรงข้ามกับไทย ที่เน้นแชมป์ทุกอีเวนต์
กล่าวคือ อย่างญี่ปุ่น เขาเน้นซ้อมในอีเวนต์ตะกร้อ 4 คนมากเป็นพิเศษ เพราะพวกเขามองว่ามีโอกาสคว้าแชมป์ในประเภทนี้มากที่สุด
เช่นเดียวกับเวียดนาม ที่เน้นซ้อมในอีเวนต์นี้เป็นพิเศษเช่นกัน โดยทีมชายที่ไม่เคยเก่งตะกร้อ 3 คนเลย แต่ปีนี้ กลับมีผลงานในอีเวนต์ตะกร้อ 4 คนชายที่ไม่เลว ทั้งการคว้ารองแชมป์เวิลด์คัพ 2025 ที่ประเทศอินเดียเมื่อ 4 เดือนก่อน(แพ้ไทยรอบชิง)และการคว้ารองแชมป์คิงส์คัพครั้งที่ 38(แพ้ญี่ปุ่นในรอบชิง)
เช่นทีมหญิงของเวียดนาม ที่ปีนี้ คว้าแชมป์ตะกร้อ 4 คนหญิงทั้งเวิลด์คัพ 2025 และคิงส์คัพหนนี้ โดยชนะไทยในรอบชิงทั้ง 2 รายการ
หลังจากนี้ต้องคอยจับตาดูให้ดีว่า เมื่อญี่ปุ่นกับเวียดนามประสบความสำเร็จในตะกร้อ 4 คนในคิงส์คัพหนนี้ พร้อมกับพิสูจน์ให้เห็นว่า ตะกร้อ 4 คน ไทยกับมาเลเซียไม่ได้เหนือกว่าทุกชาติมากนัก อาจเป็นพิมพ์เขียวให้หลายๆชาติ หันหลังให้กับเซปักตะกร้อ(ตะกร้อ 3 คน)และตะกร้อคู่ แล้วมาเอาจริงเอาจังกับตะกร้อ 4 คนมากขึ้น
เผลอๆมันจะทำให้ตะกร้อ 4 คนได้รับความนิยมมากขึ้นไปด้วย เพราะตำแหน่งแชมป์ มันไม่ได้ผูกขาดกับไทย-มาเลเซีย อีกต่อไป
นอกจากนี้ จากการที่ญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 20 ในปีหน้าที่เมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ ระหว่างวันที่ 19 กันยายน – 4 ตุลาคม พ.ศ.2569 พวกเขาวางให้ตะกร้อ 4 คนเป็นไฮไลต์ประจำทัวร์นาเมนต์อย่างแน่นอน โดยนำความสำเร็จจากการเพิ่งได้แชมป์ตะกร้อ 4 คนในศึกคิงส์คัพที่เพิ่งปิดฉากลงไป เป็นใบเบิกทาง