กองทัพภาคที่ 2 สรุปสถานการณ์สู้รบชายแดน คาดกัมพูชาเตรียมโจมตีหนักโค้งสุดท้ายก่อนเจรจา
วันนี้ (27 กรกฎาคม) ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 สรุปสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2568 ณ เวลา 12.00 น.
ตามที่เกิดสถานการณ์สู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 สรุปผลการปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
สภาพอากาศตามแนวชายแดนยังปรากฏฝนตกหนักในหลายพื้นที่, ภาพรวมสถานการณ์ในช่วงบ่าย จนถึงช่วงกลางคืน ของวันที่ 26 กรกฎาคม 2568 มีการปฏิบัติที่สำคัญจำนวน 7 พื้นที่ (ลดลงจากวันแรก 3 พื้นที่) ดังนี้
พื้นที่ช่องบก ทั้ง 2 ฝ่าย ตรึงกำลัง และปรากฏข่าวสารว่ามีการเคลื่อนย้ายกำลังบางส่วนมาช่วยในพื้นที่ ภูมะเขือ
พื้นที่ช่องอานม้า ฝ่ายไทยดำเนินการเข้าควบคุมพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1 : 50,000 ขณะที่กำลังกัมพูชาได้เคลื่อนย้ายลงไปทางทิศใต้
พื้นที่ภูผี-ปราสาทโดนตวล และช่องตาเฒ่า ยังตรึงกำลังกันอยู่ คาดว่าฝ่ายกัมพูชาจะมีการสูญเสียอย่างหนัก สำหรับข่าวสารว่าผู้บัญชาการกองพลของกัมพูชาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่นี้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติการทางทหารแล้ว ยังไม่สามารถยืนยันข่าวสารนี้ได้
พื้นที่ด้านหน้าเขาพระวิหาร ยังคงมีการสู้รบกันอยู่ โดยอาวุธหลักของกัมพูชา คือการใช้พลซุ่มยิงจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร มุ่งทำร้ายกำลังพลของไทย ขณะที่พื้นที่ภูมะเขือ ฝ่ายเรายังคงควบคุมพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1:50,000 เอาไว้ได้
พื้นที่ช่องจอม มีการใช้อาวุธยิงสนับสนุน โจมตีบ้านเรือนประชาชนไทย และพื้นที่ปราสาทตาควาย และฝ่ายกัมพูชา มีความพยายามในการส่งรถถัง ขึ้นมายังพื้นที่ช่องกร่าง ทางทิศตะวันตกปราสาทตาควาย 2 กิโลเมตร
พื้นที่ปราสาทตาเมือนธม มีการปรับรูปขบวนเข้าตีทางทิศตะวันออกปราสาทตาเมือนธมตลอดทั้งวัน จนฝ่ายเราต้องถอนตัวออกจากพื้นที่และใช้ปืนใหญ่โจมตีทำให้ฝ่ายกัมพูชาต้องถอนตัวออกไป
สำหรับการปฏิบัติในวันที่ 27 กรกฎาคม 2568 ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 06.30 น. ฝ่ายกัมพูชาได้ใช้จรวดไม่ทราบชนิด จากที่ตั้งสนามบินกรุงสำโรง จำนวน 4 นัด ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนไทย 2 หลัง สัตว์เลี้ยง 5 ตัว
การปฏิบัติของฝ่ายเราในวันนี้ที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าควบคุมพื้นที่ตามแนวเส้นปฏิบัติการ 1:50,000 บริเวณช่องอานม้า อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่ซึ่งกัมพูชายังคงมีความพยายามในการเข้าพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ช่องตาเฒ่า ด้านหน้าเขาพระวิหาร และภูมะเขือ พื้นที่ช่องจอม ปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม ซึ่งการรุกรานดังกล่าว อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนตามแนวชายแดน
ภาพรวมของสถานการณ์ ยังมีความตึงเครียดสูง และฝ่ายกัมพูชาอาจกำลังเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางทหาร เพื่อสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายไทยให้มากที่สุดในช่วงสุดท้ายก่อนการเจรจา โดยปัจจุบันได้มีประเทศเป็นกลางเสนอแนวทางในการยุติความขัดแย้งแล้วหลายประเทศ โดยเฉพาะความเห็นของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
การอพยพประชาชน สนับสนุนส่วนราชการจังหวัดในการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงภัย ไปยังพื้นที่รวบรวมพลเรือน พื้นที่ตอนในทั้ง 4 จังหวัด ดังนี้
- จังหวัดบุรีรัมย์ 1 จุด 10,173 คน
- จังหวัดสุรินทร์ 71 จุด 40,736 คน
- จังหวัดศรีสะเกษ 135 จุด 39,580 คน
- จังหวัดอุบลราชธานี 76 จุด 16,588 คน
ปัจจุบันดำเนินการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเข้าพื้นที่รวบรวมพลเรือนแล้ว 107,077 คน (เพิ่มขึ้น 9,646 คน)
ผลกระทบต่อประชาชน พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ มีกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ 3 ลูก, ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ มีกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ 16 ลูก, บ้านตาโสร์ ตำบลบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ 9 ลูก บ้านเรือนเสียหาย 3 หลัง (ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต)
ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสาร และการแจ้งเตือนจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ งดการโพสต์ หรือแชร์ภาพการเสียชีวิตของทหารกัมพูชา เพื่อให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิต
นอกจากนี้ยังมี จิตอาสา 904, จิตอาสาพระราชทาน และจิตอาสา เข้าอำนวยความสะดวกประชาชนในศูนย์พักพิงชั่วคราว การจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในพื้นที่ 4 จังหวัด รวมถึงจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับผู้อพยพจากพื้นที่ประสบภัย เหตุการณ์ปะทะระหว่างไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสิงสาง, อำเภอหนองบุญมาก และ อำเภอชุมพวง รวมทั้งสิ้น 705 คน