โจทย์หิน ‘วิทัย’ พยุงเศรษฐกิจ ดูแล ‘ค่าเงิน-ดอกเบี้ย’ ระยะยาวปรับโครงสร้าง
การคัดเลือกผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ได้ข้อสรุปผู้ที่จะมารับตำแหน่งทดแทนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ที่ครบวาระวันที่ 30 ก.ย.2568 โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 ก.ค.2568 เห็นชอบแต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้ว่าการ ธปท.ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรับทราบแต่งตั้งนายวิทัย เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินธนาคาร และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด
นายพิชัย กล่าวว่าเชื่อมั่นการทำงานระหว่างกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการ ธปท.จะไปในทิศทางเดียวกันและทำงานร่วมกันได้ โดยขอให้มีความเข้าใจทั้งนโยบายการเงินและการคลัง
“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังทำงานร่วมกับผู้ว่าการ ธปท.ใกล้ชิดอยู่แล้ว โดยแลกเปลี่ยนความเห็นต่อเนื่องจนนำมาสู่การแก้ไขได้ตลอดเวลา ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาก็ทำงานร่วมกันได้ และการทำงานกับผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบันก็ทำงานได้ด้วยดีไม่มีอะไร” นายพิชัยกล่าว
ส่วนประเด็นรัฐบาลต้องการให้ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ผลักดันนโยบายใดเร่งด่วน เพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจไทยที่อาจเกิดขึ้นเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น นายพิชัย ระบุว่า รัฐบาลอยากให้ผลักดันหลายเรื่อง โดยเรื่องสำคัญที่ผู้ว่าการ ธปท.ต้องเร่งดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งต้องเร่งแก้ไขเร็วที่สุดเพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ต้องเร่งแก้ปัญหา รวมทั้งต้องทำงานให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
นายพิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายการเงินและการคลังปรับจูนเข้าหากันด้วยดีและทำงานใกล้ชิดกันขึ้น โดยยังยึดหลักการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมมีความอิสระที่ ธปท.ตัดสินใจได้
ส่วนข้อกังวลการทำงานต่อไปจะเป็นการชี้นำจากทางการเมืองหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า “สไตล์การทำงานของผมไม่กดดัน พูดกันด้วยเหตุและผล ทำงานด้วยความเข้าอกเข้าใจยืนยันไม่มีปัญหาแน่นอน เมื่อเข้ามาแล้วผู้ว่าการ ธปท.ต้องรับผิดชอบองค์กรและงานตัวเอง”
“เขาต้องมีความอิสระการทำงานและแนวคิด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีมีปัญหาหลากหลายจริงๆ อย่างไรก็ตาม หวังว่าการทำงานนโยบายการคลัง ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้อง และเป็นอิสระทางความคิด”
ส่วนการเข้ามาของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ คาดหวังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เป็นการพิจารณาของ กนง.เชื่อว่าคงประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดและนโยบายภาษีสหรัฐด้วยเพื่อกำหนดนโยบาย ซึ่งไม่ควรคิดแทนล่วงหน้า
“เวลาออกเกณฑ์ถ้าระวังความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินเป็นหลักมากเกินไป ไม่เปิดรับความเสี่ยงเลย แม้จะทำให้แบงก์แข็งแรงแต่ทำให้ศักยภาพลดลง คือ การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินลดลง เงินไม่ลงสู่ระบบ ดังนั้นต้องสร้างสมดุลระหว่างเสถียรภาพกับศักยภาพ“
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้เงินเฟ้อไทยอยู่ระดับต่ำเกินไป ดังนั้นภาคนโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องช่วยดูแล ส่วนเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลให้เหมาะสม
“หอการค้า”หวังลดดอกเบี้ยนโยบาย
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนายวิทัย ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ โดยเชื่อมั่นจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยได้ และฝากให้ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ดูแลค่าเงินบาทเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเงินบาทแข็งมากทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันไทยลดลงและสู้คู่แข่งไม่ได้ ดังนั้นจึงขอให้รีบเข้ามาดูแลให้มีความเหมาะสม
“คลัง”หวังทำงานร่วม ธปท.มากขึ้น
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ต้องการให้กระทรวงการคลังและ ธปท.หารือกันมากขึ้น เพื่อให้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินไปในทิศทางเดียวกันหรือสอดประสานกัน โดยเฉพาะการพิจารณาความเหมาะสมของกฎเกณฑ์การกระจายสินเชื่อและการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนรวมทั้งให้ไทยสู้ประเทศคู่แข่งได้เพราะขณะนี้ทุกชาติเร่งส่งออกสินค้า ดังนั้นค่าเงินเป็นปัจจัยเอื้อให้ผู้นำเข้าสั่งซื้อสินค้า และการที่เงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่อจากภาษีทรัมป์ที่ไทยยังไม่รู้ว่าผลการเจรจาของไทยจะได้อัตราภาษีเท่าไร
นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ต้องเข้ามาดูแล เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการเดือดร้อนจากดอกเบี้ยสูงส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจทำให้ขาดความสภาพคล่อง
ดังนั้นต้องเร่งมาดูแลเพื่อให้เหมาะสม อีกทั้งกังวลช่องว่างของดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินฝากที่ห่างกันมาก โดยขอให้พิจารณาลดลงให้ไม่ห่างกันมากเกินไป ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ยังเป็นปัญหาอยู่ควรมีมาตราการออกมาช่วยบรรเทาในเรื่องนี้
สรท.แนะดูแลเสถียรภาพเงินบาท
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า โจทย์ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ต้องรีบแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2 เรื่อง คือ
1.อัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจไทยมีปัญหา ซึ่งเป็นอำนาจของ ธปท.ต้องพิจารณาลดหรือไม่อย่างไร ซึ่งปัจจุบันช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ห่างมาก
ดังนั้นจุดที่เหมาะสมและสมดุลควรอยู่ตรงไหนขอฝากผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ที่มาจากธนาคารออมสินน่าจะเห็นภาพจุดนี้อยู่ เพราะผลจากระยะห่างของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทำให้ธนาคารพาณิชย์ได้กำไรจากส่วนต่างมาก และมากกว่าธนาคารพาณิชย์ประเทศอื่น
2.ค่าเงินบาท ซึ่งอัตราค่าเงินมีปัจจัยอื่นอีกมากที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่ ธปท.ย่อมรู้ดี โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามสูตรการคำนวณหรือเงื่อนไขที่มีอยู่ การที่จะไปควบคุมหรือแทรกแซงอาจเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ ภาคเอกชนไม่อยากไปก้าวล่วง แต่มองแนวทางของอัตราแลกเปลี่ยน คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรส่งเสริมนักลงทุนนำเงินบาทไปลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้เข้าใจว่าเศรษฐกิจซบเซาทำให้นักลงทุนไม่กล้าไปลงทุนที่ไหน อีกทั้งต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงิน และการซื้อขายทองคำเป็นเรื่องสำคัญเพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อการซื้อขายทองคำมาก
อย่างไรก็ตามขอฝากผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ พิจารณาหาแนวทางดูแลค่าเงินบาทให้มีความเสถียรภาพไม่ผันผวนมาก และอัตราใกล้เคียงประเทศคู่แข่ง ซึ่งต้องดูประเทศคู่แข่งมีวิธีดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งมากได้อย่างไร
“ผู้ส่งออกมี 2 เรื่องสำคัญที่อยากให้ผู้ว่า ธปท.เข้ามาดูแล คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายและค่าเงินบาท ที่จะบริหารอย่างไรให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม” นายธนากร กล่าว
แนะ‘ลดดอกเบี้ย'กระตุ้นอสังหาฯ
นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นายวิทัย มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลง เชื่อว่าช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อยากเห็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอัตราดอกเบี้ยขาลงจะช่วยกระตุ้นตลาดโดยตรง ช่วยทั้งผู้ประกอบการให้มีภาระต้นทุนลดลงและผู้บริโภครับภาระลดลงด้วย
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการซื้อหนี้จากสถาบันการเงินของรัฐ ถือเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินได้อย่างประสิทธิภาพ
โจทย์ใหญ่ รับมือ‘เศรษฐกิจชะลอ-ภาษีทรัมป์-หนี้ครัวเรือน’
นางสาวฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย วิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า โจทย์สำหรับผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่มีทั้งระยะสั้นต้องเร่งดูแลเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญพายุและมีแนวโน้มชะลอในปี 2568-2569 โดยเฉพาะผลกระทบจากภาษีของทรัมป์ที่รอประกาศชัดเจน 1 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ ธปท.มีเครื่องมือทางการเงินเพิ่มจากนโยบายดอกเบี้ยที่เข้ามาช่วยลดหนี้ของธุรกิจและประชาชนที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจและธุรกิจปีนี้ประคองตัวได้
ขณะที่โจทย์ระยะยาว คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรองรับจากความเสี่ยงภายนอกที่ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนในช่วงนี้ได้ โดย ธปท. ต้องพิจารณาควบคู่กับโจทย์ระยะสั้น
“ธปท.ยังมีเครื่องทางการเงินพร้อมนอกจากนโยบายบายดอกเบี้ย เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขยายวงเงินและเพดานการค้ำประกันสินเชื่อให้ประชาชน และภาคธุรกิจมีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างแต้มต่อผ่านความไม่แน่นอนภาษีทรัมป์ในเวลานี้และระยะข้างหน้าให้เกิดความสมดุลใน 3 ปีได้”
หวัง“การคลัง-การเงิน”สอดประสานกัน
นางสาวฐิติมา กล่าวว่า มาตรการภาษีทรัมป์กระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย และสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในไทย รวมถึงจะมีสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ไหลเข้ามากระทบผู้ผลิตของไทย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคงเลือกผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งไม่ว่าใครที่เข้ามารับตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และเชื่อว่าบุคคลนั้นมีความตั้งใจอยากเข้ามาช่วยประเทศ โดยผู้ว่าการ ธปท.ใหม่ที่กระทรวงการคลังเลือกสะท้อนให้เห็นมาตรการทางการเงินจะสอดประสานการทำงานร่วมกับมาตรการทางการคลังได้ และจะเห็นการทำงานที่ทันสถานการณ์ขึ้น
รวมทั้ง EIC คงคาดการณ์ (ณ มิ.ย.2568) จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 1.5% และชะลอลงในปีหน้า ขยายตัว 1.4% โดยรอประเมินผลกระทบภาษีทรัมป์ 1 ส.ค.นี้
“ซีไอเอ็มบี” ชี้โจทย์ใหญ่เร่งแก้ศก.โตต่ำ
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMB) ว่า ถึงเวลาที่ ธปท.ต้องลงจากหอคอยสู่ท้องทุ่ง เพื่อฟังเสียงประชาชนรากหญ้า ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และภาคการผลิตที่ต้องการการฟื้นตัว โดยผู้ว่าการ ธปท.ไม่เป็นเพียงผู้รักษาเสถียรภาพ แต่ต้องเป็นผู้นำที่กล้าฝ่าคลื่นใหญ่ด้วยหัวใจที่มั่นคงและวิสัยทัศน์ชัดเจน
สำหรับนายวิทัยมีจุดแข็งในฐานะผู้บริหารที่เคยพลิกฟื้นสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน โดยจุดแข็งเป็นการบริหารทรัพยากรจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องบทบาทผู้ว่าการ ธปท.ที่ต้อง “กล้าคิดใหญ่” เพื่ออนาคตประเทศ แต่ต้องเดินอย่างระมัดระวังท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน
“ถึงเวลาที่ ธปท.ต้องเปิดประตูหอคอย ฟังเสียงบ้านนา ไม่ใช่เพียงการสนทนาในกรอบสถิติอีกต่อไป”
ทั้งนี้ ภายใต้แรงกดดันจากภาคธุรกิจและประชาชนเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูง โดยผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ควรกล้าประเมินทิศทางนโยบายการเงินแบบคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนตัวเล็ก SME และผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่เพียงมองเงินเฟ้อหรือ GDP แต่ต้องเชื่อมอัตราดอกเบี้ยกับชีวิตจริงของเศรษฐกิจไทย
กล้ารักษาสมดุล เสถียรภาพกับนวัตกรรม
รวมทั้งบทบาทผู้ว่าการ ธปท.ยุคใหม่ไม่จำกัดแค่ระวังฟองสบู่หรือบริหารค่าเงินบาท แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้เทคโนโลยีการเงิน เช่น ดิจิทัลแบงก์และระบบสินเชื่อใหม่ โดยไม่ทิ้งกรอบการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง
สำหรับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางไม่ได้เกิดจากตำแหน่ง แต่เกิดจากความไว้วางใจที่ประชาชนรู้สึกได้ โดยต้องกล้าสื่อสารในภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจและกล้าบอกความจริงและกล้าฟังเสียงที่หลากหลาย เพื่อให้ธปท.เป็นธนาคารกลางที่ประชาชนรู้สึกว่า “อยู่ข้างเขา”
ทั้งนี้เศรษฐกิจวันนี้ต้องการผู้นำที่มองไกล และ “กล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง” แม้ไม่เป็นที่นิยมในระยะสั้น นโยบายบางอย่างอาจไม่ใช่คำตอบที่ง่ายดาย แต่อาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปูทางสู่เศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพในระยะยาว ผู้ว่าคนใหม่ต้องมีความกล้าเช่นนั้น
ในฐานะที่เคยเป็นทั้งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นักนโยบาย และนักปฏิรูป นายวิทัยมีโอกาสที่จะใช้เวทีของ ธปท.เป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ การลงทุนในศักยภาพคน และการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน บทบาทของผู้ว่าจึงอาจไม่ใช่แค่ “ดูแลนโยบายการเงิน” แต่เป็น “พลังส่ง” ให้ประเทศข้ามพ้นกับดักเดิม