ครม.เห็นชอบ “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2”
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 1 กรกฎาคม 2568 เวลา 21.18 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมททำเนียบฯ 1 ก.ค. – ครม. เห็นชอบ “คุณสู้ เราช่วย เฟส2” และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแบงก์รัฐ งัดมาตรการ “จ่าย ตัด ต้น” ลดภาระหนี้รายย่อย ชำระร้อยละ 2 ของ เงินต้น และพักหนี้ให้ 3 ปี
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบโครงการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” ช่วยเหลือลูกหนี้ผ่าน ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส., ธอส., ธนาคารอิสลามฯ, ธสน., และเอสเอ็มอีดีแบงก์ โดยปรับปรุงกรอบวงเงินของแบงก์รัฐ ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ โดยมอบหมายให้แบงก์รัฐทั้ง 6 แห่ง ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของแต่ละแห่ง
ครม.ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตามมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านโครงการคุณสู้ เราช่วย เฟส 2 มีหลักการสำคัญเช่นเดียวกับการดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย เฟสแรก คือ เป็นมาตรการเฉพาะกลุ่ม เน้นช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ หรือกลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เป็นมาตรการชั่วคราว ป้องกันมิให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (Moral Hazard)
สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1) มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ได้ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้ ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย เกินกว่า 30 วัน จนถึง 365 วันนับแต่วันถึงกำหนดชำระ หรือ เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 รวมถึงภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lendine) ในปี 2567) รวมทั้ง หนี้ที่มีการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย เกินกว่า 365 วันเป็นต้นไป นับแต่วันถึงกำหนดชำระ โดยให้แบงก์รัฐที่เข้าร่วมมาตรการ ให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไขของมาตรการ
2) มาตรการ “จ่าย ปิด จบ” ขยายคุณสมบัติลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ มุ่งดูแล ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย เกินกว่า 90 วันนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 กรณีสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน คงค้างชำระไม่เกิน 10,000 บาท ต่อบัญชี สำหรับสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan) หนี้คงค้างไม่เกิน 30,000 บาท ต่อบัญชี และได้กู้เงินต่อบัญชีตามที่กำหนด โดยลูกหนี้แต่ละรายสามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี โดยแบงก์รัฐ ให้ความช่วยเหลือตามเงื่อนไขของมาตรการ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 11 ธันวาคม 2567
3) เพิ่มเติมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับสำหรับหนี้ NPLs ที่ไม่มีหลักประกัน โดยออก “มาตรการจ่าย ตัด ต้น” เป็นมาตรการใหม่ ให้ความช่วยเหลือ คือ 3.1 ปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไซเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (Term Loan) และกำหนดอัตราผ่อนชำระค่างวดต่อเดือนขั้นต่ำร้อยละ 2 ของยอดเงินต้นคงค้างสินเชื่อก่อนเข้าร่วมมาตรการ ในช่วง 3 ปี โดยค่างวดที่ลูกหนี้ชำระจะนำไปชำระต้นเงินทั้งจำนวน และพักดอกเบี้ยไว้ทั้งหมดในช่วง 3 ปี
3.2 ลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการจะไม่สามารถก่อหนี้อุปโภคบริโภคใหม่ใน 12 เดือนแรก
3.3 หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลา 3 ปี ปี สถาบันการเงินจะยกเว้นดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ลูกหนี้ โดยสถาบันการเงินจะขอชดเชยดอกเบี้ยจากแหล่งเงินทุนภาครัฐร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยที่ยกเว้นให้ลูกหนี้ และสถาบันการเงินจะรับภาระร้อยละ 50. -515- สำนักข่าวไทย