นักเศรษฐศาสตร์เตือนเจรจาภาษีทรัมป์หากกระทบอธิปไตย-ทำลายสัมพันธ์จีนอย่ายอมเด็ดขาด
นักเศรษฐศาสตร์คาดรัฐบาลทรัมป์ตั้งกำแพงภาษี 36% มีปัจจัยการเมืองเจือปน กระตุกหากยื่นเงื่อนไขจนกระทบอธิปไตย-ความมั่นคง-ทำลายความสัมพันธ์กับจีน หัวเด็ดตีนขาดต้องไม่ยอม
16 ก.ค.2568 - รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการเจรจาเรื่องกำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกาว่าเมื่อพิจารณาการตั้งอัตราภาษีนำเข้าของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ต่อประเทศต่าง ๆ แม้ในภาพรวมจะเป็นเรื่องความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดกลับพบว่า มาจากเหตุผลทางการเมืองและความมั่นคง เช่น การขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจากบราซิลเป็น 50% นอกเหนือจากเหตุผลที่ประเทศบราซิลเป็นหนึ่งในสมาชิกของ BRICS แล้ว ยังเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศบราซิลด้วย โดยเฉพาะคดีความของอดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบโซนารู ผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ส่วนกรณีของประเทศอินโดนิเซีย ซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกของ BRICS อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มาตรการภาษีของทรัมป์ก็ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง ประการแรก มีการขู่ว่าจะเก็บภาษีเพิ่มอีก 10 % กับประเทศที่สนับสนุน BRICS ประการต่อมา แม้ทางการอินโดนิเซียจะยอมทำ MOUs หลายฉบับในการซื้อสินค้าทางการเกษตรและพลังงานจากบริษัทของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนซื้อฝูงบินจากบริษัท Boeing ไม่นับรวมกรณีความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ รัฐบาลทรัมป์ก็ยังคงการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอินโดนิเซียที่ 32% เช่นเดิม
“ดังนั้น ในกรณีประเทศไทย การที่รัฐบาลทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีที่ 36% นอกจากเหตุผลเพื่อลดการขาดดุลการค้า สาเหตุหลักก็น่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองเช่นกัน หากข้อเสนอที่แท้จริงของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องที่กระทบอธิปไตย ระบอบการปกครอง กระบวนการยุติธรรม หรือสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงในประเทศไทย ตลอดจนทำลายความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่นับรวมการที่ประเทศไทยต้องเสียเปรียบทางการค้าอย่างมาก รัฐบาลไทยก็ไม่ควรยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจะเป็นกรณีที่ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการที่รัฐบาลทรัมป์ลดอัตราภาษีนำเข้า น้อยกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศที่จะเกิดขึ้น”
รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยยอมดำเนินการตามแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาในหลายเรื่อง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง รัฐบาลควรใช้วิกฤติครั้งนี้สร้างโอกาสเพื่อทำให้ประเทศให้แข็งแกร่ง เพราะการหวังพึ่งพิงประเทศอื่นตลอดไป ย่อมไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน ดังเช่นแนวคิดของกลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักพึ่งพาที่ระบุว่า การที่ประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถก้าวข้ามเป็นประเทศรายได้สูงได้ เพราะความเจริญทางเศรษฐกิจไม่ได้มาจากปัจจัยภายในประเทศ แต่เป็นการพึ่งพิงทางการค้าและการลงทุนจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เสมือนหนึ่งประเทศกำลังพัฒนาเป็นได้เพียงดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง ต้องอาศัยความสว่างจากดาวฤกษ์ เช่น พระอาทิตย์ เท่านั้น ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วคือดาวฤกษ์ที่มีแสงในตนเอง ซึ่งความสว่างไสวนั้นหมายถึงทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สามารถสร้างให้ประเทศมีความโดดเด่น พัฒนาสินค้าและบริการให้มีความแตกต่าง ล้ำสมัย จนทำให้เป็นที่ต้องการของทุกประเทศ
รศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้หลายประการ เช่น นโยบายกำแพงภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต้องมาจากปัจจัยที่รัฐบาลไทยสามารถควบคุมได้ โดยผลการวิจัยที่ผ่านมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า สภาพแวดล้อมของประเทศที่มีความปลอดภัย ภาครัฐมีธรรมาภิบาลและมีการทุจริตคอร์รัปชันที่ต่ำ แรงงานที่มีความรู้ความสามารถ จะนำมาซึ่งเม็ดเงินผ่านการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง รวมถึงการที่นักท่องเที่ยวที่มีกำลังทางเศรษฐกิจและมีคุณภาพเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและสิ่งผิดกฎหมาย ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน รวมถึงเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ประเทศไทยสามารถกลายเป็นดาวฤกษ์ได้ในที่สุด