เตือน! อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม ค่ารักษาประเทศเพื่อนบ้านเรียกเก็บไม่ได้เกือบแสนล้าน
15 กรกฎาคม 2568 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อความทาง Social Media เช่น Facebook ไลน์ และคลิปวิดิโอจากช่อง Tiktok ที่ระบุถึงยอดเงินค่ารักษาประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เรียกเก็บไม่ได้ของปี 67 เกือบแสนล้านบาท โดยบอกว่าเป็นข้อมูลจาก สปสช. นั้น ขอชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวนั้นเป็นข่าวปลอม และไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง ไม่เข้าใจเจตนาของผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จว่าต้องการอะไรในสถานการณ์เช่นนี้
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า กรณี "ต่างด้าว" ที่สามารถเข้ารักษาพยาบาลในประเทศไทยฟรี มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติไทย มีกองทุน ท.99 ดูแล กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีการจ่ายเงินสมทบ และกลุ่มที่ซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกลุ่มอื่นนอกเหนือจากนี้ต้องชำระค่ารักษาพยาบาลเอง และจำนวนค่ารักษาที่เรียกเก็บไม่ได้ไม่ได้มีจำนวนพุ่งสูงตามข้อมูลเท็จที่เผยแพร่
อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่ไม่สามารถชำระค่าบริการได้ อาจขอความอนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล โดยหน่วยบริการจะพิจารณาตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เรียกเก็บไม่ได้นี้ จะมีงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรนานาชาติให้การสนับสนุนส่วนหนึ่ง แต่ยืนยันว่าไม่ใช่จำนวนตัวเลขตามข้อมูลเท็จที่เผยแพร่อย่างแน่นอน ยกตัวอย่าง รพ.แม่สอด จ.ตาก ที่อยู่พื้นที่ชายแดน ค่ารักษาที่เรียกเก็บไม่ได้ แต่เป็นการดูแลเพื่อนมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรมอยู่ที่ 154 ล้านบาท
“สปสช. ขอเตือนประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร และไม่หลงเชื่อข่าวปลอมใดๆ จนตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ต้องการสร้างกระแสให้เกิดความแตกแยก” โฆษก สปสช. กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "บัตรทองจะล่ม" จริงหรือ? ถอดรหัสต้นทุน ‘รักษาฟรี’ ที่รพ.รัฐกำลังบอกว่า ‘ไม่ไหวแล้ว’
- เปรียบเทียบ สิทธิประกันสังคม vs สิทธิบัตรทอง ใครสิทธิมากกว่า?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตือนภัย! “มิจฉาชีพ” เปิดบัญชี TikTok ปลอม ลวงปล่อยสินเชื่อ
- “กระบี่ - ภูเก็ต” ระวังสึนามิ ภูเขาไฟใต้น้ำ ข่าวปลอมมาแรงอันดับ 1
- จะเกิดสึนามิ! ดีอี เตือนอย่าเชื่อ เปิด 10 ข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากสุด
- รัฐบาลแจงคืนโบราณวัตถุแก่กัมพูชา เป็นเรื่อง 25 ปีก่อน ย้ำเป็นไปตามกม.ระหว่างประเทศ
- สปสช.เพิ่มชุดสิทธิ 145 ล้านบาท จัดซื้อ ฮอร์โมนเพศ ให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศ