พรรคประชาชน ยื่นแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปที่มาองค์กรอิสระ
พรรคประชาชน ยื่นแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปที่มาองค์กรอิสระ ใช้เสียงทั้ง สส. และ สว. รับรอง ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนได้
วันนี้ (7 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส. พรรคประชาชน ร่วมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นว่าด้วยองค์กรอิสระ ต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน อธิบายรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างว่า มีแนวคิดเพื่อสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่เป็นอิสระจากประชาชน โดยแบ่งออกเป็น 3 ร่าง
โดยร่างที่ 1 เป็นการเปลี่ยนระบบ ที่ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก คือเป็นการแก้ไขว่าด้วยกระบวนการที่มาและกระบวนการสรรหาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จากเดิมมีการสรรหาและเสนอชื่อ ผ่านคณะกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นช่องทางเดียว ส่วนที่แก้ไขคือให้มีการเสนอชื่อได้ หลายช่องทาง ทั้งจากที่ประชุมศาล ช่องทางจาก สส.รัฐบาล ช่องทาง สส.ฝ่ายค้าน และช่องทางของ สว.
ทั้งนี้ จะไม่มีการปรับแก้ไขในเรื่องคุณสมบัติ ยกเว้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีความเห็นว่ากรรมการทั้ง 9 คนควรมีความหลากหลาย
สำหรับประเด็นที่ 2 เป็นการแก้ไขในประเด็นการคัดเลือกและเห็นชอบ จากเดิมที่ต้องใช้การลงมติของ สว. โดยแก้ไขให้มาจากการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา และต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงมีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้านด้วย และประเด็นที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมในกระบวนการถอดถอน ที่ให้สิทธิสส.และประชาชน เข้าชื่อ 2 หมื่นคน ยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ในกรณีที่เห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ
สำหรับร่างที่ 2 และร่างที่ 3 นั้น เป็นการปรับเฉพาะจุด ที่เราหวังว่าจะเป็นข้อเสนอขั้นต่ำที่ทุกพรรคการเมืองและ สว. จะรับได้ โดยร่างที่ 2 จะเป็นเฉพาะการเปลี่ยนการคัดเลือกและรับรอง จากเดิมที่ สว.มีอำนาจชี้ขาด และต้องได้รับความเห็นชอบจากกึ่งหนึ่งของ สว. แก้ไขมาเป็นการพิจารณาร่วมกันของทั้งสองสภา โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา สำหรับร่างที่ 3 จะเป็นเฉพาะการคืนสิทธิให้ สส.และประชาชน 2 หมื่นคนในการเข้าชื่อเพื่อริเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
“การปรับกระบวนการสรรหาที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ คือการแก้ปัญหาที่องค์กรต่างๆ นั้นไม่ยึดโยงกับประชาชน ข้อเสนอของพรรคประชาชนเชื่อว่า จะได้รับเสียงฉันทามติขั้นต้นจากสมาชิกรัฐสภา โดยทั้ง 3 ฉบับนั้น เป็นการทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่เป็นอิสระจากประชาชน แต่เป็นอิสระจากการถูกครอบงำจากกลุ่มก้อนทางการเมือง” พริษฐ์กล่าว
พริษฐ์ชี้ว่า ในประเด็นองค์กรอิสระที่ผ่านมา ถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เราควรต้องช่วยกันปลดชนวน ซึ่งการแก้ไขรายมาตราดังกล่าว เป็นการทำคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการบรรจุและผลักดันร่างดังกล่าวในรัฐสภาโดยเร็ว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สุริยะใส’ ติง ‘พรรคประชาชน’ ต่อต้าน ‘การเมืองใต้โต๊ะ’ แต่ดันทำซะเอง?
- 'อีลอน มัสก์' ตั้งพรรค 'America Party' ลุยการเมืองสหรัฐ
- 'สวนดุสิตโพล' ชี้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เห็นด้วยรัฐประหาร แต่อยากให้ 'นายกฯ' ลาออก
ติดตามเราได้ที่