Micro Pay e-Wallet โฉมใหม่ หนุนพ่อค้าแม่ค้า จัดการรายรับ-จ่าย เข้าถึงทุน
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของชีวิตประจำวัน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดทั่วประเทศต่างต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ที่แม้จะเต็มไปด้วยโอกาส แต่ก็ซ่อนเร้นด้วยความท้าทายไม่น้อย
หนึ่งในปัญหาที่เห็นได้ชัดเจน คือเรื่องของช่องทางการชำระเงินที่ยังไม่ทันสมัยและไม่ครอบคลุม ร้านค้าหลายแห่งยังคงพึ่งพาการรับเงินสด ซึ่งนอกจากจะเพิ่มภาระในการจัดการและความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยแล้ว ยังทำให้การทำธุรกรรมยุ่งยากและช้าลง
นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังขาด “ประวัติทางการเงิน” ที่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีเอกสารทางการเงินอย่างสลิปเงินเดือนหรือบัญชีธนาคารที่สม่ำเสมอ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อย่างเต็มที่ จึงต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบที่มีต้นทุนสูงกว่า นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเติบโตทางธุรกิจของพวกเขาติดขัด
Micro Pay e-Wallet พัฒนาขึ้นเพื่อหวังจะช่วยแก้เพนพ้อยท์ดังกล่าว ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ถูกพัฒนาโดยธนาคารไทยเครดิตเมื่อ 5 ปีก่อน จากจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป สู่การอัพเกรดเพื่อช่วย พ่อค้าแม่ค้าพัฒนาธุรกิจสู่ยุค “Smart Market” ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน คือช่วยให้การรับเงินง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และช่วยสร้างประวัติการเงินที่เข้มแข็งสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย
- ยึดแนวคิด “Customer-Centric”
นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต กล่าวว่า ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมุ่งมั่นขยายบริการทางการเงินที่เข้าถึงง่ายและเท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและรายย่อย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจไทย เพื่อช่วยให้หลุดพ้นจากหนี้นอกระบบและเข้าถึงแหล่งทุนในระบบอย่างเป็นธรรม ผ่านการสร้างวินัยและพฤติกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัล
Micro Pay e-Wallet เป็นหนึ่งในโครงการที่ธนาคารพัฒนาขึ้น เพื่อผลักดันร้านค้ารายย่อยสู่ระบบดิจิทัล ลดข้อจำกัดด้านการรับชำระเงิน และเปิดทางสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยออกแบบทุกฟังก์ชันโดยมี“ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” และกำลังจะเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อเพิ่มความสะดวกและตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้ามากยิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวสูง
- 5 ปีแห่งการเติบโต Micro Pay e-Wallet
ด้านนายกมลภู ภูริดิฐสกุล รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ธนาคารไทยเครดิต และกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยไมโคร ดิจิทัล โซลูชั่นส์ จำกัด ได้ฉายภาพหลังจากเปิดตัว Micro Pay e-Wallet เมื่อปี 2563 ว่า เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แอปพลิเคชันจากภาครัฐเปิดตัวพร้อมกันหลายรายการ
โดย Micro Pay e-Wallet เริ่มจากเพื่อให้กลุ่มคนทั่วไปใช้งาน และระยะเวลาเพียง 6-7 เดือนหลังเปิดตัวก็มีผู้ใช้งานกว่า 80,000 ราย จากนั้นยอดผู้ใช้เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็น 190,000 ราย, 300,000 ราย, 400,000 ราย กระทั่งสิ้นปี 2567 มีผู้ใช้สะสมกว่า 604,000 ราย และในเดือนมิถุนายน 2568 ตัวเลขเพิ่มเป็น 650,000 รายเป็นที่เรียบร้อย
ไม่ใช่แค่จำนวนผู้ใช้เท่านั้นที่เติบโต แต่จำนวนธุรกรรม ผ่านแอปฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 400,000 รายการในปีแรก กลายเป็น 3.3 ล้าน, 10 ล้าน และ 24.1 ล้านรายการตามลำดับ จนในปีล่าสุด ยอดรวมแตะ 48 ล้านรายการ ซึ่งหมายความว่าการเข้าใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของเราโดยเฉลี่ยมากกว่า 3 ล้านรายการต่อเดือน และตัวเลขล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2568 ขยับขึ้นเป็นเกือบ 4 ล้านรายการ ตอกย้ำว่าได้รับการตอบรับที่ดี
เมื่อดูจากมูลค่ารวมของธุรกรรมผ่าน Micro Pay e-Wallet ก็ยิ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าธุรกรรมจาก 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 7 ล้านบาทในปีแรก ปีที่ 2 ขยับเป็น 14.6 ล้านบาท ปีที่ 3 สูงถึง 20 ล้านบาท และในปี 2567 ที่ผ่านมา มูลค่าทะยานสู่ 26,000 ล้านบาท เป็นธุรกรรมทั้งปีที่อยู่ในกระเป๋าเงิน เป็นมูลค่าก้าวกระโดดมาก
- การเติบโตของร้านค้าพุ่งสู่ 3.2 แสนราย
การเติบโตนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของร้านค้าที่ลงทะเบียนระบบ KY/KYM ผ่าน Micro Pay e-Wallet จาก 20,000 รายในปีแรก สู่ 83,000 รายในปีถัดมา และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 187,000 ราย และ 284,000 ราย ก่อนจะพุ่งสู่ 320,000 ราย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2568 ครอบคลุมตลาดสดกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่คือกลุ่มรายได้น้อย และมากกว่า 80% ไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบมาก่อน
ด้านธุรกรรมจากฝั่งร้านค้า หรือการรับชำระผ่าน QR ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 300,000 รายการในช่วงเริ่มต้น เป็น 30.6 ล้านรายการในสิ้นปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันเฉลี่ยเกือบ 4 ล้านรายการต่อเดือน
สำหรับมูลค่าทางการเงินของธุรกรรมผ่าน QR ร้านค้า ก็เพิ่มขึ้นจาก 76 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้น เป็นกว่า 500 ล้านบาทในปีถัดมา และ ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 4,415 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของทีมงานไทยเครดิตและทีมพัฒนาแอปฯ ที่มุ่งมั่นตอบโจทย์กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอย่างแท้จริง
โดยคาดว่า หลังจากเปิดตัวแอปฯ Micro Pay e-Wallet เวอร์ชันใหม่ในช่วงต้นเดือน สิงหาคม ตั้งเป้ามีคนใช้งานเพิ่มถึง 1 ล้านราย ซึ่งไม่ได้ตั้งเป้าว่าภายในกี่ปี แต่หากเร็วสุดยิ่งดี และคาดว่าจำนวนธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และภายในสิ้นปี 2568 น่าจะสามารถแตะยอด 40 ล้านรายการได้เป็นอย่างน้อย โดยมีแนวโน้มอาจทะลุถึง 50 ล้านรายการได้เช่นกัน
- Micro Pay โฉมใหม่มีอะไรบ้าง?
นายกมลภู ให้รายละเอียดว่า Micro Pay e-Wallet โฉมใหม่นี้ มาพร้อมฟังก์ชัน สำคัญที่ออกแบบมาเพื่อรองรับร้านค้า-ตลาดสดทั่วประเทศ สู่ Smart Market โดยเฉพาะ เช่น
Prompt QR Merchant รับเงินทันทีโดยไม่ต้องล็อกอิน คือ ผู้ใช้งานสามารถเปิดแอปฯ ขึ้นมาและใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอก PIN เหมือนเวอร์ชันก่อน หน้าแรกที่ปรากฏจะเป็นหน้า "QR Ready" ที่สามารถรับชำระเงินได้ทันที เพิ่มความสะดวกให้กับร้านค้าโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีลูกค้าเข้ามาจำนวนมาก
QR ร้านฉัน สรุปรายรับ-รายจ่ายแบบอัตโนมัติ ช่วยสร้างประวัติทางการเงินเพื่อใช้ในการขอสินเชื่อ แอปฯ จะช่วยรวบรวมและแสดงผลข้อมูลรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้ร้านค้าสามารถวางแผนจัดการเงินได้ง่ายขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตร ตังค์โต Know-how ของธนาคารไทยเครดิต ที่ให้ความรู้เรื่องการออมและบริหารการเงินแก่พ่อค้าแม่ค้า
Request to Pay เครื่องมือใหม่สำหรับเจ้าของตลาดในการจัดเก็บค่าเช่า และบริหารข้อมูลผู้เช่าในระบบเดียว
แผนเปิดตัวฟีทเจอร์ใหม่ ๆ อีกต่อเนื่อง
นายกมลภู กล่าวต่อว่า ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะเปิดให้ใช้งานบริการ e-Billing แทนการส่งเอกสารกระดาษ ซึ่งแต่ละเดือนมีการจัดส่งเอกสารกว่า 200,000–300,000 ฉบับ บริการนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และเพิ่มความสะดวก โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบใบแจ้งยอดย้อนหลังได้ถึง 3 เดือนผ่านแอปฯ อีกทั้งยังมีระบบสะสมคะแนน (Micropay Point) ที่แลกเป็นเงินสดได้ลูกค้าจะได้รับคะแนนจากทุกธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินผ่าน QR Code, การชำระค่างวด หรือบิลต่างๆ คะแนนสามารถนำมาแลกเป็นเงินสดเข้ากระเป๋าในแอปฯ ใช้สำหรับทำธุรกรรมต่อได้ หรือลุ้นรางวัล
- Roadmap 4 ฟีเจอร์ใหม่ เสริมศักยภาพร้านค้า
นอกจากนี้ Micro Pay e-Wallet ยังเตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเติมภายในปีนี้และปีหน้า ได้แก่
ระบบแจ้งเตือนเสียงสำหรับร้านค้าย่อย (Sub-Merchant Alert) มีฟังก์ชันเสียงแจ้งเตือน เช่น "รับเงิน 100 บาทค่ะ" เพื่อให้ร้านค้ารู้ได้ทันทีว่าการชำระเงินสำเร็จ โดยสามารถเปิดหรือปิดเสียงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละร้านค้า รวมถึงช่วยให้เจ้าของร้านที่มีหลายสาขา หรือมอบหมายพนักงานขาย สามารถทราบยอดเงินเข้าแบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องถ่ายสลิป ลูกค้า-เจ้าของร้านจะเห็นข้อมูลธุรกรรมผ่านแอปทันที เพิ่มทั้งความสะดวกและความปลอดภัยจากการปลอมแปลงสลิป
มาตรการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานธนาคารแห่งประเทศไทย Micro Pay e-Wallet อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมั่นใจได้ว่าข้อมูลและเงินของลูกค้าอยู่ภายใต้การคุ้มครองอย่างเข้มงวด และปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลและธุรกรรมทางการเงินอย่างเคร่งครัด
การเข้าถึงบริการสินเชื่อจากธนาคารไทยเครดิตผ่านแอป ด้วยข้อมูลธุรกรรมที่เกิดจากการใช้งานจริง เช่น การรับชำระเงินผ่าน QR Code ร้านค้าที่มีประวัติการเงินที่ดีจะสามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านแอปได้โดยตรง โดยการพิจารณาสินเชื่อจะดำเนินการโดยธนาคารไทยเครดิต ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของ Micro Pay e-Wallet
รองรับการชำระด้วยบัตรเครดิต (Credit Card QR Acceptance) อยู่ระหว่างการร่วมมือกับเครือข่ายบัตรเครดิตรายใหญ่ เช่น Visa และ Mastercard เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับการชำระเงินจากนักท่องเที่ยวหรือผู้ถือบัตรเครดิต ผ่าน QR Code ได้โดยตรง เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้ายุคใหม่ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่
- ฟรีทุกบริการ พร้อมขยายขีดความสามารถเพื่อพ่อค้าแม่ค้า
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารทั้งสองย้ำว่า ไม่ใช่แค่การเปิดตัวแอปครั้งเดียวแล้วจบ แต่จะพัฒนาต่อเนื่อง เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้าอย่างแท้จริง โดยยังคงยึดหลักให้บริการฟรี และใช้งานง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใต้ปรัชญา“ธนาคารเพื่อทุกคน” ของธนาคารไทยเครดิต
สำหรับ ผู้ใช้งานทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารไทยเครดิต Micro Pay ก็ยังคงให้ บริการฟรีทุกฟีเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เติมเงินมือถือ ฯลฯ พร้อมกับ สะสมคะแนน (Point) แลกของรางวัลหรือเงินคืน ซึ่งต่างจากหลายแพลตฟอร์มที่ยังมีค่าธรรมเนียมบางรายการ
“เรารู้ว่ากลุ่มลูกค้าหลักของเราคือพ่อค้าแม่ค้าที่มีรายได้น้อย บางคนไม่คุ้นกับแอป ไม่กล้าใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งที่เราทำ คือ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ไปพูดคุย สอนใช้แอป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนลูกค้าเริ่มเห็นประโยชน์ และกล้าใช้” นายกมลภู กล่าวทิ้งท้าย