ไฟเขียว “ดาวเทียมต่างชาติ” เขย่า ‘ไทยคม’ ?
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับกิจการอวกาศในไทยที่น่าจับตาอย่างยิ่งน่าจะเป็นกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เห็นชอบร่างนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ หรือนโยบาย Landing Right และร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สดช.) เสนอ และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
เปิดทางดาวเทียมต่างชาติ
โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการสร้างโอกาสและความท้าทายจากการเข้ามาให้บริการของผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารต่างชาติ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องมีการเตรียมการกำหนดนโยบายรองรับให้มีความเหมาะสม สามารถสร้างสมดุลการแข่งขันของผู้ประกอบการ
ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาส และทางเลือกสำหรับประชาชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และบริการดาวเทียมต่างชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ล่าสุด (16 ก.ค.) ได้มีการรายงานข้อเสนอในเรื่องการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าอุปกรณ์ดาวเทียม และการเปิดให้บริการ แต่ยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด
แหล่งข่าวจาก กสทช.ระบุว่า กฎหมายกิจการดาวเทียมยังมีเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติผู้ขอใบอนุญาตกิจการดาวเทียม ทั้งในส่วน Landing Right และสถานีเกตเวย์ที่ต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย หรือมีตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจเป็นทางการ หรือต้องเป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่มีชาวไทยถือหุ้น 51% จึงต้องพึ่งพาพาร์ตเนอร์ในประเทศในการเปิดเกตเวย์ และถือใบอนุญาต Landing Right เช่นเดียวกับกรณี Eutelsat จากฝรั่งเศส เจ้าของโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ OneWeb ที่ต้องร่วมมือกับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เพื่อเปิดสถานีเกตเวย์
ด้าน “ปฐมภพ สุวรรณศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเป็นพันธมิตรกับโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ของ Global Star เพื่อให้บริการความถี่แบบแคบในปี 2567 ก็ได้มีการพูดคุยกับอีกหลายราย เช่น starlink, OneWeb, Project Kuiper ของ Amazon เป็นต้น เพื่อเพิ่มและขยายบริการในอนาคต โดยเฉพาะด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คาดว่าจะเห็นข้อตกลงเร็ว ๆ นี้
ชูความมั่นคงจุดแข็ง “ไทยคม”
สำหรับดาวเทียมไทยคม เป็นดาวเทียมค้างฟ้า (Geo) ซึ่งจะทวีความสำคัญ และมีบทบาทอย่างมากในเรื่องยุทธศาสตร์ความมั่นคง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่หลายประเทศอยากมีเทคโนโลยีดาวเทียมเป็นของตนเอง
“ดาวเทียมค้างฟ้าของเรายิงสัญญาณตรงเข้ามาเฉพาะประเทศไทย และพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลในประเทศจะปลอดภัย ต่างจากดาวเทียม LEO ต่างชาติที่โคจรรอบโลก ข้อมูล และการสั่งปิดเปิดดาวเทียม อยู่ต่างชาติหมด ไม่รู้ใครควบคุม แม้ LEO จะให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่คนทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของข้อมูลแล้ว เราจะช่วยในเรื่องความมั่นคง ที่สำคัญคือเทคโนโลยีอยู่กับมือเรา ถ้าใช้ดาวเทียมต่างประเทศมีความเสี่ยง กฎหมายไทยไม่สามารถที่จะไปบังคับอะไรได้ ถ้าข้อมูลที่เราทำหรือถ่ายถ้าหลุดไป เขารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่”
ซีอีโอไทยคมกล่าวต่อว่า ในยุคต่อไปทุกที่ในโลกต้องใช้ดาวเทียม โดยเฉพาะด้านความมั่นคงของประเทศ ดาวเทียมจะมีบทบาทมากขึ้น ในเรื่องภาพถ่ายดาวเทียม และการสื่อสาร เพราะจะเห็นพื้นที่ได้ทันที และเห็นการเปลี่ยนแปลงย้อนหลังด้วยว่ามีการพัฒนาอย่างไร ทั้งภายในประเทศ และบริเวณชายแดนที่เซอร์เวย์โดยใช้เครื่องบินไม่ได้
ลุยตลาดต่างประเทศ
“ไทยคม รักษาวงโคจรให้ไทยถึง 5 จาก 7 ตำแหน่ง ครอบคลุมรัศมีราว 1 ใน 3 ของโลก ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคต เรายังมีแผนบริหารจัดการ ทั้งการใช้สิทธิยิงดาวเทียมขึ้นรักษาสิทธิวงโคจร การบริหารสิทธิวงโคจรร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงในอนาคต”
ล่าสุดร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมในอินเดีย ในการให้บริการสื่อสารทั่วถึงในอินเดีย และจะเริ่มดำเนินการเต็มที่ปีหน้า หลังยิงไทยคม 9 ภายในสิ้นปีนี้ หากรวมในประเทศอื่น ๆ ด้วยอาจทำให้สัดส่วนรายได้กว่าครึ่งมาจากต่างประเทศ
“แต่รายได้ในประเทศในครึ่งหลังปี 2568 จะรับรู้รายได้จากโครงการโทรคมนาคมทั่วถึงเท่าเทียม ของ กสทช. (มูลค่า 5.8 พันล้านบาท) ซึ่งครั้งนี้เราเป็นผู้เข้าประมูลงานทั้งหมดตั้งแต่ต้น ต่างจากแผนเก่าที่ผู้ชนะประมูลมาใช้ดาวเทียมเราไปทำโครงการอีกทอด รวมรายได้ในฐานะที่ปรึกษา และผู้ให้บริหารจัดการระบบให้ NT-OneWeb ก็อาจทำให้สัดส่วนรายได้ภายในและนอกประเทศกลับมาสมดุลได้”
นอกจากนี้ ในธุรกิจ New S-curve ที่จะเป็นแหล่งรายได้ใหม่เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จาก SPACE TECH มาเสริมนวัตกรรม และบริการโซลูชั่น Carbon Watch ที่ติดตามการดูดซับคาร์บอนเพื่อคำนวณเครดิตก็ได้เจรจาคู่ค้าทั้งองค์กรเอกชน ทั้งกลุ่ม SCG กลุ่ม ปตท. รวมถึงรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อนำเสนอโครงการ
ล่าสุดจับมือสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม (สอน.) ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศจากระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เพื่อการส่งเสริมสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดฝุ่น PM 2.5 ที่จะต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มให้คนทั่วไป และหน่วยงานรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ไฟเขียว “ดาวเทียมต่างชาติ” เขย่า ‘ไทยคม’ ?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net