เงินบาทแข็งค่า จับตาสัปดาห์หน้า 5 ปัจจัยสำคัญ ผู้ว่าฯธปท.คนใหม่-ราคาทองโลก
เงินบาทกลับมาแข็งค่าปลายสัปดาห์ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปิดเหนือ 1,200 จุดได้ช่วงท้ายสัปดาห์ กสิกรไทยคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตา 5 ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้า ทั้งประเด็นเกี่ยวกับการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า (รวมถึงไทย) การเสนอชื่อผู้ว่าการธปท. คนถัดไปต่อ ครม. ตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. ของไทย ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ แต่พลิกแข็งค่ากลับมาอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์
เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะพลิกอ่อนค่าลงในเวลาต่อมา สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ขยับแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. ออกมาสูงกว่าที่คาด [CPI Inflation +2.7% YoY ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าตลาดคาดที่ +2.6% YoY และสูงกว่า +2.4% YoY ในเดือนพ.ค.] ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า เฟดอาจต้องระมัดระวังมากขึ้นในการประเมินจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัด ๆ ไป
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงประคองต่อเนื่อง หลังจากปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากล่าวปฏิเสธข่าวการเตรียมพิจารณาปลดนายเจอโรม พาวเวล ออกจากตำแหน่งประธานเฟด
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาพลิกแข็งค่าผ่านแนว 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงท้ายสัปดาห์ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ขณะที่แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลง หลังตอบรับปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดค้าปลีกและตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ไปมากแล้ว
ในวันศุกร์ที่ 18 ก.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ก.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 14-18 ก.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 4,595 ล้านบาท แต่ยังคงขายสุทธิพันธบัตรไทยต่อเนื่องอยู่เล็กน้อยที่ 625.7 ล้านบาท
สำหรับสัปดาห์ถัดไป หรือระหว่างวันที่ 21-25 ก.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.30-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า (รวมถึงไทย) การเสนอชื่อผู้ว่าการธปท. คนถัดไปต่อ ครม. ตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. ของไทย ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนก.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามท่าทีต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด การประกาศดอกเบี้ย LPR ของจีน ผลการประชุม ECB และข้อมูล PMI (เบื้องต้น) สำหรับเดือนก.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซนและญี่ปุ่น
ส่วนสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนท่ามกลางความหวังต่อผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดีดตัวขึ้นกว่า 80 จุดภายในสัปดาห์เดียว ท่ามกลางแรงหนุนหลัก ๆ จากความหวังว่าไทยจะบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ หลังจากทีมเจรจาไทยได้พยายามปรับข้อเสนอโดยการเปิดการค้าให้สหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าไทยน่าจะรับการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าใหม่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านที่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้
ปัจจัยบวกข้างต้นกระตุ้นแรงซื้อหุ้นไทยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่กลุ่มแบงก์บวกได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่าผลประกอบไตรมาส 2/2568 ที่กำลังทยอยประกาศออกมานั้นอาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก ประกอบกับมีความกังวลว่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจากกระแสข่าวเกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้ว่าการธปท. คนใหม่
อนึ่ง ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 1,210.01 จุด ตามแรงซื้อของกลุ่มต่างชาติ อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงติดตามประเด็นการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
ในวันศุกร์ที่ 18 ก.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,206.58 จุด เพิ่มขึ้น 7.62% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 48,357.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.50% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 6.02% มาปิดที่ระดับ 250.65 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-15 ก.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,160 และ 1,125 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,230 และ 1,255 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนมิ.ย. ของไทย ผลประกอบการไตรมาส 2/2568 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนก.ค. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม ECB ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนก.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักนำเสนอข่าวตรงกันว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ลงนามเสนอชื่อนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยนายพิชัยระบุเพียงสั้นๆว่าจะนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 22 ก.ค. 2568นี้
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เงินบาทแข็งค่า จับตาสัปดาห์หน้า 5 ปัจจัยสำคัญ ผู้ว่าฯธปท.คนใหม่-ราคาทองโลก
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net