RSV ระบาดฤดูไหน? ป้องกัน และเตรียมตัวรับมือก่อนสายเกินไป
เรียกได้ว่าตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไวรัสทางเดินหายใจอย่างเป็นทางการอีกครั้งแล้ว แต่ละประเทศจะมีฤดูกาลระบาดของโรคไวรัสทางเดินหายใจแตกต่างกันไป ตามสภาพดินฟ้าอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น โรงเรียนเปิดเทอม ปิดเทอม การเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูฝน ฤดูหนาว
ซึ่งบทความให้ความรู้โดย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ (ว 34129) กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา แผนกสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับสาระน่ารู้ไขข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับ RSV พร้อมทั้งแนะนำวิธีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค RSV เพื่อนำไปสังเกตลูกน้อยและผู้สูงอายุในบ้านให้ห่างไกลจากโรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus)
4 โรคไวรัสทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยที่สุดคือ
1. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19; โควิด-19)
2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu)
3. โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus/RSV)
4. ไรโนไวรัส Rhinovirus (โรคหวัด)
พบว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้เริ่มมีการระบาดของไวรัสโควิด 19 ร่วมกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะเห็นว่ามีการระบาดเร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาพอสมควร แต่อาจจะไม่ได้มีอาการที่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้านั้น ส่วนไรโนไวรัสมักพบได้ตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่สำหรับ RSV ในทุก ๆ ปี จะเริ่มระบาดตั้งแต่ช่วงกลางฤดูฝน หรือประมาณช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฏาคม ที่กำลังจะมาถึงนั่นเอง
สาระน่ารู้เกี่ยวกับ RSV RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะซึมเข้าสู่ทางเดินหายใจได้โดยตรงและรวดเร็ว ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อบุทางเดินหายใจรุนแรง และทำให้เกิดโรคปอดบวม ปอดอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบได้ง่ายมาก ซึ่งติดต่อกันง่ายแบบ Droplet จากสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ผ่านการไอ จาม และการสัมผัสกันโดยตรง พบการระบาดตามฤดูกาล ช่วงกลางฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว หรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง+
เมื่อไหร่? จะสงสัยว่าติดเชื้อ RSV RSV อาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล และจะหายได้ ภายใน 5-7 วัน เด็กบางคนมีอาการไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ไอมากจนอาเจียน อาจมีหายใจเร็ว แรง หายใจลำบาก หรือหายใจแบบมีเสียงวี๊ด (wheezing) ได้ จะป่วยรุนแรงขนาดไหนขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานตามช่วงวัย ในเด็กจึงเป็นได้ตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) คออักเสบ (Pharyngitis) กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) ไปจนถึงหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) และปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia) ในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องจึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงได้มากที่สุด
ในปัจจุบันการตรวจหาเชื้อ RSV โดยการป้ายสารคัดหลั่งน้ำมูกในจมูก (Nasal swab) ทำได้ง่าย สะดวก ราคาถูก สามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นเหมือนการตรวจโควิด ได้ด้วยตนเอง
RSV รักษาให้หายได้อย่างไร? การรักษา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การประคับประคองอาการทั่วไป เช่น ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ ให้ออกซิเจน ช่วยดูดระบายเสมหะ และการรักษาแบบเฉพาะที่ เช่น พ่นยาขยายหลอดลม พ่นน้ำเกลือเข้มข้นชนิดพิเศษ เพื่อลดภาวะหลอดเกร็ง หายใจมีเสียงวี๊ด ในปัจจุบันมีรายงานการใช้ยา Montelukast ในการลดความรุนแรงในช่วงแรกของการหายใจหอบเหนื่อย แบบมีเสียงวี๊ด และใช้ยาต่อเนื่อง เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ
แม้จะรักษาหายขาดแล้ว RSV ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยเด็กมักมีภาวะหลอดลมไวตามมา ทำให้หายใจเหนื่อยง่าย หลังการติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมถึงมีรายงานเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดได้สูงขึ้นทั้งในเด็กที่มีและไม่มีความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว
จริงหรือไม่? RSV มีวัคซีนป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory syncytial virus) แล้ว ซึ่งสามารถลดโอกาสการติดเชื้อ และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง แนะนำให้ฉีดในคุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หอบหืด ถุงลมโผ่งพอง เบาหวาน ไต หัวใจ แต่ทั้งนี้ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี แนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปต่อเชื้อ RSV เพื่อช่วยให้เด็กเล็กสามารถสร้างภูมิคุ้มกันระยะสั้นได้ทันที โดยปราศจากการติดเชื้อ จึงแนะนำให้เริ่มรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปต่อเชื้อ RSV ช่วงก่อนฤดูกาลระบาดของเชื้อ
ทั้งนี้ แผนกสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วย คุณภาพการรักษา มาตรฐานการให้บริการ ระบบการดูแลผู้ป่วยด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ และผ่านการรับรองมาตรฐาน AACI (American Accreditation Commission International) ISO 7101:2023 – Health Care Organization Management และ ISO 9001:2015 – Quality Management Systems
แต่อย่างไรก็ตามมาตรการสำคัญในการป้องกันการระบาดของไวรัสทางเดินหายใจที่ดีที่สุด ทั้ง RSV และไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ นั้น คือการหมั่นล้างมือให้สะอาดหรือใช้เจลแอลกอฮอลล์ลูบมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างในการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเหมาะสม ไม่ควรให้เด็กอยู่ร่วมกันกลุ่มใหญ่ ๆ แออัด และควรรีบแยกเด็ก แยกของเล่นเด็กทันที เมื่อสังเกตุได้ว่ามีเด็กป่วยสงสัยว่ามีการติดเชื้อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทารกคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV แล้ว
- เด็ก 2 ขวบปีแรก ห่างไกลไวรัส RSV ด้วยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป
- เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ "Together Against RSV" ในประเทศไทย แพทย์แนะ เด็กแรกเกิดจนถึงแปดเดือนควรรับภูมิ
- “ไข้อีดำอีแดง" โรคติดต่อในเด็กที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
- เตือน! คนอ้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็น "ไข้เลือดออกรุนแรง" กว่าคนน้ำหนักปกติ