เปิดคำวินิจฉัยกกต.ฟัน "หมอเกศ" ใช้ตำแหน่ง"ศาสตราจารย์" หลอกลวง จูงใจให้ลงคะแนน
ละเอียดยิบ คำวินิจฉัยกกต.ฟัน "หมอเกศ"ใช้ตำแหน่ง"ศาสตราจารย์" สมัคร สว. หลอกลวง จูงใจให้ลงคะแนน ชี้เป็นตำแหน่งวิชาการที่กม.กำหนดขั้นตอนไว้ชัดเจน ซึ่งไม่พบหลักฐานได้รับแต่งตั้ง -หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองการเทียบวุฒิ
วันนี้(21ก.ค.)เว็บไซต์สำนักงานกกต.ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกกต.รวม13 หน้าที่มีมติเมื่อวันที่ 30เม.ย.68 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของน.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิก วุฒิสภา 2561 มาตรา 62 และรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และให้ดำเนินคดีอาญาแก่น.ส.เกศกมลตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561มาตรา 77 (4) กรณีใช้ตำแหน่ง"ศาสตราจารย์ " ในการยื่นสมัครและแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
คดีนี้มีผู้ร้องน.ส.เกศกมล รวม7รายร้องใน 6 ประเด็นซึ่งมีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันว่า น.ส.เกศกมล สมัครรับเลือกเป็นสว. กลุ่มที่19 โดยระบุในข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว.3) ในส่วนของประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครว่า แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน กรมสุขภาพจิต แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงาม ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง และเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏจากรายงานผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบุรี ลงวันที่ 15 มิ.ย.67 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าน.ส.เกศกมล แนะนำตัวในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มชื่อ “เส้นทางสว.67#ตะวันตก” ด้วยข้อความว่า “สวัสดีค่ะ หมอเกศค่ะ ศาสตราจารย์ ดร.พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย เป็นหมอด้านสุขภาพจิต ชุมชนและผิวพรรณความงามค่ะ กลุ่ม 19 ผู้ประกอบวิชาชีพ จังหวัดเพชรบุรี ค่ะ” ซึ่งเข้าข่ายหรือมีลักษณะ เป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ ของผู้ถูกร้อง เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนให้แก่ผู้ถูกร้อง อันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 77 (4)
โดยน.ส.เกศกมล ชี้แจงแก้ข้อหาเป็นหนังสือยืนยันว่ามิได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายตาม ข้อกล่าวหา ตนเองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต โดยได้รับอนุมัติ จากสภามหาวิทยาลัยรังสิตให้เป็นแพทยศาสตรบัณฑิตตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.50 และได้ขึ้น ทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นสมาชิกแพทยสภาตั้งแต่ปี 50 และเริ่มประกอบอาชีพแพทย์ทั่วไป ต่อมาประกอบอาชีพเป็นแพทย์ประจำคลินิกเสริมความงาม อีกทั้งผ่านการอบรมระยะสั้นจากสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 30 ครั้ง และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบ กิจการสถานพยาบาลชื่อว่า "เกศกมล คลินิกเวชกรรม” รวมระยะเวลาปฏิบัติงาน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10ปี จึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณ และความงามมานานกว่า 10 ปี
ซึ่งในประเด็นที่น.ส.เกศกมล ถูกร้องว่าระบุในส.ว.3 ส่วนของประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครว่า เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม , เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ,เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานติดตามการดำเนินการตามนโยบายด้านส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระทรวงแรงงาน , เป็นกรรมการผู้จัดการ เกศกมล คลินิก เกศกมล เด็นทัล คลินิก และ อินเตอร์ เดอร์มา แลบอราทอรี ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนกกต.เห็นว่า ยังรับฟังไม่ได้ และไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันได้ว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา
ส่วนที่กล่าวหาว่าน.ส.เกศกมล ระบุในส่วนประวัติการศึกษาว่า ปริญญาเอก รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Political Science) California University, USA และศาสตราจารย์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Professor in Human Resource Development) California University และ ระบุประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครว่า ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง
โดยน.ส.เกศกมล ชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นหนังสือว่า มิได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ตามข้อกล่าวหา โดยตนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ จาก California University ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จดทะเบียนถูกต้องและได้รับการรับรองจากกระทรวง ศึกษาธิการของประเทศสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อปี พ.ศ. 2564 ขณะตนกำลังศึกษา ระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกริก ตนได้พบกับพยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของ California University FCE ประจำประเทศไทย ชักชวนให้ตนเรียนปริญญาเอก ซึ่งตนสนใจเข้าศึกษาปริญญาเอก ใช้ระยะเวลา ในการศึกษาประมาณ 3 ปี และชำระค่าใช้จ่ายในการศึกษา 6 ภาคเรียน ภาคเรียนละ 2,000ดอลลาร์สหรัฐ รวมค่าใช้จ่าย 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยตนได้ทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง GOOD GOVERNANCE PRINCIPLES AFFECTING ORGANNIZATION EFFICIENCY OF PUBLIC COMPANIES IN ASEAN COUNTRIES โดยส่งผ่าน พยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 2 และมีคณะกรรมการในการสอบดุษฎีนิพนธ์จำนวน 3 ท่าน เป็นผู้ตรวจสอบ โดยตนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนที่ตนระบุว่า ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย เพราะตนมีหลักฐานการสำเร็จการศึกษา ดุษฎีบัณฑิตและได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่ไม่เคยทำงานในตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย แต่อย่างใดนั้น
จากการตรวจสอบและไต่สวนของกกต.ได้ข้อเท็จจริงว่า ขั้นตอนในการรับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และการรับรองคุณวุฒิของ California University FCE สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตรวจสอบแล้วไม่พบว่าน.ส.เกศกมลได้ส่งข้อมูลคุณวุฒิการศึกษาให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนพิจารณารับรองคุณวุฒิหรือรับรอง คุณวุฒิเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน
ขณะที่ตำแหน่งวิชาการ"ศาสตราจารย์"ไม่พบว่ามีชื่อน.ส.เกศกมล อยู่ในฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และคณะกรรมการ การอุดมศึกษา (กกอ.) กำหนด ประกอบกับไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีสถาบันอุดมศึกษาใดเคยขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อมูล ปรากฏว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังไม่เคยพิจารณาเทียบคุณวุฒิการศึกษา จาก California University และ California University FCE
ซึ่งกรณีน.ส.เกศกมล ระบุประวัติการศึกษาว่า “2.2. ปริญญาเอก รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Political Science) California University, U.S.A." กกต.เห็นว่า เนื่องจากยังไม่มีบุคคลใดหรือองค์กรใดนำวุฒิการศึกษาจาก California University FCE ไปยื่น เพื่อเทียบวุฒิต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเพื่อเข้ารับราชการ อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันได้ว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา กรณีจึงน่าเชื่อว่าการที่น.ส.เกศกมลแนะนำตัวในส่วนของ ประวัติการศึกษาว่า ปริญญาเอก รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Political Science) California University, U.S.A. ยังไม่เป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียง เกียรติคุณของผู้ถูกร้อง เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนให้แก่ผู้ถูกร้อง ในขั้นนี้ ข้อเท็จจริง จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า น.ส.เกศกมลกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 77 (4)
แต่กรณีศาสตราจารย์ ที่น.ส.เกศกมลระบุประวัติการศึกษาว่า “2.1 ศาสตราจารย์การพัฒนาทรัพยากร มนุษย์ (Professor in Human Resource Development) California University และระบุประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครว่า “ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย” นั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า น.ส.เกศกมล มิได้มีตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์ตามหลักการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้นของประเทศไทย อีกทั้ง พยานที่ไต่สวนประกอบคนที่3-11 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาและเป็นผู้มีสิทธิเลือก ระดับประเทศ ให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า ข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร ซึ่งระบุว่า "ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย "มีผลจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่น.ส.เกศกมล ดังนั้น การที่น.ส.เกศกมล แนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาว่าเป็น “ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย” โดยที่มิได้ ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ตามกฎหมายของประเทศไทย จึงเป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด ในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้ถูกร้อง เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือก ลงคะแนนให้แก่ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นการทุจริตในการเลือก และทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม อันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 62 และมาตรา 77 (4)
นอกจากนี้กรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏเกี่ยวกับการใช้ภาพถ่ายสวมชุดครุยวิทยฐานะโดยไม่มีสิทธิในการสมัครสว.นั้นเห็นว่า กรณีที่ 1เป็นภาพถ่ายน.ส.เกศกมลใส่ชุดครุย ของ California University FCE เมื่อน.ส.เกศกมลได้รับการประเมินคุณวุฒิการศึกษาระดับเทียบเท่ารัฐศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต (Doctor Of Political Science) จาก California University FCE จึงมีสิทธิใส่ชุดครุย วิทยฐานะของวุฒิการศึกษา Doctor Of Political Science ของ California University FCE กรณีที่ 2เป็นภาพถ่ายน.ศ.เกศกมลใส่ชุดครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกริก เมื่อน.ศ.เกศกมล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเกริก จึงมีสิทธิไส่ชุดครุยวิทยฐานะของวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทของ มหาวิทยาลัยเกริก และกรณีที่ 3เป็นภาพน.ส.เกศกมล ใส่ชุดครุยของ Universal Institute of Professional Management ซึ่งจากการไต่สวนน.ส.เกศกมลและพยานผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้แทนของ Universal Institute of Professional Management ในประเทศไทย ให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า Universal Institute of Professional Management อนุมัติให้น.ส.เกศกมลได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Professional honorary doctorate degree) น.ส.เกศกมลจึงมีสิทธิใส่ชุดครุยวิทยฐานะดังกล่าว อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันได้ว่า
มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 77(4)
จึงมีคำสั่งในประเด็นที่ 1-5 กรณีวุฒิการศึกษา ให้ยกคำร้อง ประเด็นที่6 กรณีศาสตราจารย์ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของน.ส.เกศกมล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิก วุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา 62 และรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และให้ดำเนินคดีอาญาแก่นางสาวเกศกมล ตามมาตรา77(4)กรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏจากรายงานการไต่สวนเพิ่มเติมจำนวน 3กรณีให้ยุติเรื่อง
ทั้งนี้พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.2561มาตรา77 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการ (4)หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่น เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือก เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิ ที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1-10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 -200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด20 ปี
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO