สบน. ย้ำ G-Token ไม่ใช่เงินตรา ใช้ซื้อสินค้าไม่ได้
สบน. ย้ำ G-Token เป็นรูปแบบเดียวกับพันธบัตรออมทรัพย์ ไม่ใช่เงินตรา ไม่มีคุณสมบัติใช้จ่าย ชำระหนี้ หรือเพิ่มเงินใหม่ในระบบ ชี้ไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ออกโทเคนดิจิทัลในลักษณะนี้
22 ส.ค. 2568 นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า การออกG-Token ถือเป็นนวัตกรรมการเงินที่สำคัญ และไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ออกโทเคนดิจิทัลในลักษณะนี้ โดยจะมีการเปิดช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น มีบริษัทหลักทรัพย์ 16 แห่ง และ ICO Portal อีก 5-6 แห่งเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีการกำหนดราคาต่อหน่วยต่ำลง เพื่อเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ และในทางอ้อมยังเป็นการสร้างความคุ้นชินในการสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
สำหรับในประเด็นข้อห่วงกังวลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายพชร ยืนยันว่า การออกG-Token ดำเนินการเป็นไปตามกรอบของกฎหมายอย่างรอบคอบ ขณะที่G-Token ไม่ใช่เงินตราและไม่มีคุณสมบัติในการใช้จ่ายหรือชำระหนี้ ผู้ถือG-Token จะต้องมีการไถ่ถอนเป็นเงินในตลาดรองก่อน หากต้องการนำไปใช้จ่าย
“G-Token จึงไม่ถือเป็นการเติมเงินใหม่เข้าสู่ระบบ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงว่ารัฐบาลได้กู้เงินจากผู้ถือ G-Token เท่านั้น ส่วนกรณีที่ G-Token อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจะเกิดขึ้นในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเป็นขาลง ทำให้ผู้ขายมีกำไรส่วนต่างหากมีการเปลี่ยนมือ”
ทั้งนี้สบน. คาดว่าจะสามารถเปิดจำหน่ายได้เร็วที่สุดในช่วงปลายเดือนส.ค.2568โดยกำหนดวงเงินไว้ที่ 5,000 ล้านบาท มีอายุไม่เกิน 3 ปี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าจะใช้แบบคงที่หรือลอยตัว อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยของG-Token จะสูงกว่าผลตอบแทนอ้างอิงพันธบัตร 3 ปีเล็กน้อย เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำกว่าพันธบัตรออมทรัพย์
โดยขณะนี้ สบน. อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดร่วมกับตัวกลางที่เกี่ยวข้องตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล คือผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ซึ่งคาดว่าจะได้ผู้บริหารจัดการภายในเดือนนี้ และใช้ระยะเวลาในการเตรียมระบบประมาณ 30-45 วัน