เตือนเกษตรกร! ลุยน้ำ-ย่ำโคลน เสี่ยง โรคไข้ดิน อันตรายถึงชีวิต
4 ก.ค. 68 นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เตือนเกษตรกร ไม่ควรเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดิน ในน้ำ นาข้าว แปลงผัก สวนยาง และบ่อน้ำ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย ที่เจอได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว แปลงผัก สวนยาง หรือแม้แต่บ่อน้ำตามธรรมชาติทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับเกษตร งานไร่ นา จับปลา หรือทำงานที่ต้องย่ำดินย่ำน้ำบ่อยๆ คือกลุ่มเสี่ยงหลัก
เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางหลักๆ
1. สัมผัสโดยตรงกับดินหรือน้ำที่มีเชื้อ โดยเฉพาะถ้ามีแผล
2. ดื่มน้ำไม่สะอาด หรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
3. สูดฝุ่นที่ลอยมากับดินแห้งที่มีเชื้อโรค
พอรับเชื้อเข้าไป อาการจะเริ่มออกภายใน 1-21 วัน บางรายอาจใช้เวลานานกว่านั้นเป็นเดือนหรือเป็นปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน รวมถึงปริมาณเชื้อที่ได้รับเข้าไป
สิ่งที่น่ากังวลคือ อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง มักคล้ายกับการติดเชื้อทั่วไป เช่น ไข้สูง ปวดเมื่อย เป็นฝีที่ผิวหนัง หายใจไม่สะดวก หรือบางคนรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อกระจายทั่วร่างกาย เสี่ยงเสียชีวิต โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน ไตเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
วิธีป้องกันตัวง่ายๆ
1. หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ ย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า
2. ถ้าจำเป็นต้องลงน้ำ ให้ใส่รองเท้าบูทหรือหุ้มเท้าให้มิดชิด
3. มีแผลต้องปิดให้มิดก่อนลุย
4. กลับจากทำงานควรรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที