'พงศ์กวิน' รมว.แรงงานใหม่ มอบ 5 นโยบาย ลั่นดันค่าแรงให้แตะ 650 บาท
4 ก.ค.68 ที่ กระทรวงแรงงาน นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่จากพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางเข้ามากระทรวงแรงงานในเสบา 08.19 น. เป็นฤกษ์ดี ขณะลงจากรถก็ยกมือไหว้ทักทายนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ ก่อนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสั้นๆ ว่า พร้อมทำงานในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานอย่างเต็มที่ เรื่องสำคัญคือเรื่องของแรงงานที่ยังต้องเร่งดำเนินการ
ก่อนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีฯ ได้มีการศึกษาเรื่องหาข้อมูลเกี่ยวกับกระทรวงและปัญหาที่ต้องแก้ไขผ่านอินเทอร์เน็ตมาก่อนแล้ว และมีการเตรียมการแล้วเป็นที่เรียบร้อย อย่างเช่นเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนแรง อย่างตึก skyy 9 แล้วเรื่องอื่นๆ ต้องศึกษาเพิ่มเติม และต้องทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ยอมรับว่าประหม่านิดหน่อยในการรับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก แต่เมื่อนักข่าวถามว่า สู้ไม่สู้ รัฐมนตรียิ้มรับพร้อมกล่าวว่า สู้ครับ
จากนั้นก็ได้ขึ้นไปพบท่านเจ้าคุณ พร้อมนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีฯ และเซ็นเอกสารรับตำแหน่ง ตามฤกษ์เวลา 08:39 น.
จากนั้นเวลา 09:19 น. ก็ได้เข้าสักการะสิ่งศักสิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพ่อปู่ชัยมงคล ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ ศาลพ่อปู่ชินพรหมมา และสักการะพระพุทธรูปประจำห้องปฏิบัติราชการ
นายพงศ์กวิน เผยต่อถึง กรณีแรงงานกัมพูชาที่ขณะนี้ได้ทยอยกลับประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน ที่เป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ รวมถึงอาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการบางราย โดยทุกฝ่ายได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการปรับสัดส่วนแรงงานแต่ละสันชาติให้สมดุล เพื่อให้สัดส่วนแรงงานต่างด้าวแต่ละสัญชาติมีความเหมาะสม โดยจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแรงงานจากนอกกลุ่ม CLMV เข้ามาเสริม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะเฉพาะ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพแรงงานเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายสูงสุด จึงจะเร่งดำเนินการขับเคลื่อน 5 นโยบาย เพื่อให้แรงงานไทยมีชีชิตให้เป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีรายได้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดย 5 นโยบาย ประกอบด้วย 1. “AI เพื่อยกระดับแรงงานไทย” โดยจะเร่งพัฒนาหลักสูตร AI ให้สอดคล้องกับภาคการผลิตและบริการ พร้อมดึงแรงงานทุกกลุ่มเข้าสู่กระบวนการฝึกทักษะ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และใช้กลไก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฯ กระตุ้นภาคเอกชนร่วมพัฒนาทักษะแรงงานด้าน AI ให้ทันต่อความต้องการของตลาด
2. ”การคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม” โดยจะผลักดันกฎหมายแรงงานใหม่ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ กว่า 21 ล้านคนเพื่อเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ นำไปสู่การบังคับใช้โดยเร็ว เนื่องด้วยปัจจุบันมีการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานจะต้องดูแลแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมศึกษารูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อพัฒนากฎหมายและระบบประกันสังคมให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
3 . “Learn to Earn” เนื่องด้วยเยาวชนช่วงอายุ 15-18 ปี ในปัจจุบันมีความสามารถรอบด้าน จึงต้องสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อนำไปสู่การหารายได้เสริมระหว่างเรียน และยังเป็นการเสริมประสบการณ์ สร้างทักษะ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ยังมีกฎหมายคุ้มครองที่ชัดเจน ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้ แต่ต้องเป็นการทำงานที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจ และต้องไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเยาวชน จึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้ประกอบการ ในการสนับสนุนและส่งเสริมเยาวชน เพื่อผลักดันให้นโยบายดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
4. “สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับรายได้ให้แก่แรงงานไทย” โดยจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวนประมาณ 24 ล้านคน ที่แม้ว่าในช่วงปีนี้ได้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้วถึง 2 รอบ ทำให้แรงงานในบางพื้นที่และบางสาขาอาชีพ ได้รับค่าจ้างในอัตราวันละ 400 บาท แต่ก็ยังมีผู้ประกันตนอีก 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานไทย 1.8 ล้านคนที่ยังได้รับค่าจ้างไม่ถึงวันละ 400 บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานกว่า 90% มีรายได้เกิน 400 บาท ต่อวันแล้ว สำหรับกลุ่มที่เหลือได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งยกระดับรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้โดยด่วน ซึ่งในระยะแรกจะฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการ Up – Skill Re – Skill เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้มีทักษะฝีมือได้มาตรฐานที่จะเข้าสู่ระบบค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทำให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นเกินกว่าวันละ 400 บาท ท้้งนี้กระทรวงฯพร้อมพัฒนากลไกค่าจ้างขั้นต่ำและโครงสร้างค่าจ้างให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว
"ตนก็อยากผลักดันให้แตะ 650 บาท สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ แต่พัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น เพื่อภาพรวมระยะยาว และค่าแรงก็จะสูงขึ้นตาม"
5. ”การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน“ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานต่างด้าวมีส่วนในการขับเคลื่อนภาคการผลิตและภาคบริการของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถ ปล่อยให้มีการใช้แรงงานต่างด้าวโดยขาดการควบคุม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ดังนั้นจึงจะเร่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน โดยเร่งประชาสัมพันธ์ให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน เข้าสู่กระบวนการขออนุญาต หรือผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทย ตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนตามจำนวน และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบทำงาน และการทำงานที่เป็นการแย่งอาชีพคนไทย