เปิดแผนสู้ ภาษีทรัมป์ 36%
"ภาษีทรัมป์" ทุบไทย เก็บ 36% กดดันส่งออก-ลงทุน ไทยเร่งสู้ ก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.
"ภาษีทรัมป์" ยังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่า ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" จะร่อนจดหมายเรียกเก็บภาษีศุลกากรให้อีกหลายๆ ประเทศ ล่าสุดก็ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากบราซิลเป็น 50% และในช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมาก็ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจาก EU และเม็กซิโกสูงถึง 30% ถือว่า เป็นการยกระดับสงครามการค้าไปอีกขึ้น นั่นเพราะประธานาธิบดี ทรัมป์ ระบุว่า การขาดดุลการค้ากับ EU เป็นภัยคุกคามมั่นคงของชาติ ขณะที่ทีมไทยแลนด์ก็เดินหน้าทำข้อเสนอใหม่ต่อสหรัฐฯ แล้ว
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า หลังจากที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ไทย 36% ส่วนประเทศรอบไทยถูกเรียกเก็บภาษีน้อยกว่า อาทิ ญี่ปุ่น 25%, เกาหลีใต้ 25%, มาเลเซีย 25%, เวียดนาม 20% ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2568 ถือเป็นปัจจัยเข้ามากดดันเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการลงทุน ที่โดนกดดันจากยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI มีความเสี่ยงหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีถูกกว่าแทน
แม้ข้อมูลในอดีตจะบ่งชี้ว่าช่วงปี 2567 ยอดขอรับการส่งเสริม FDI จะพุ่งสูง 8.3 แสนล้านบาท แต่เม็ดเงินลงทุนจริง คาดว่าจะเกิดขึ้น หลังจากขอรับการส่งเสริมผ่านไปราว 1-2 ปี ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามหากสถานการณ์ยังครุมเครือและไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น อาจเห็นสำนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ทยอยปรับ ลดคาดการณ์ GDP ของไทยให้ต่ำกว่า 1%ในระยะถัดไปได้
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่น่าสนใจจาก "นายพิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแผนสู้ภาษีทรัมป์ว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยลดการพึ่งพาภาคการส่งออกให้ลดน้อยลงจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 58-60% และหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงการขยายตลาดไปยังประเทศใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะที่กรอบการเจรจาภาษีสหรัฐ ที่จะมีผล 1 ส.ค. นี้ โดยล่าสุดไทยได้ดำเนินการทบทวน และปรับเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติมและส่งกลับไปยังสหรัฐเรียบร้อยแล้ว โดยยืนยันว่าข้อเสนอจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ
ขณะที่ "รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้ความเห็นว่า ประเทศไทย ยังไม่เผชิญสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจากกำแพงภาษีทรัมป์ เกมเจรจาต่อรองทางการค้ายังไม่จบ ได้มีการเลื่อนเส้นตายไปวันที่ 1 ส.ค. รัฐบาลทรัมป์ใช้กลยุทธ์บีบให้ไทย มีข้อเสนอที่สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์ และต้องการให้ไทยเปิดเสรีเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น ต้องการให้ยกเลิกมาตรการ
กีดกันการค้าทั้งหลายที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้งระบบโควต้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายใน
โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เราไม่ควรเปิดตลาดสินค้าทุกประเภทด้วยอัตราภาษี 0% แบบเวียดนามเพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ทางการค้า หากเราต้องการจะทำแบบเวียดนามโมเดล เราก็อาจทำได้ยากภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของไทย
เพราะกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมภายในและกลุ่มแรงงานก็จะกดดันไม่ให้รัฐบาลเปิดตลาด และเรียกร้องให้มีมาตรการปกป้อง แต่สถานการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นในเวียดนาม เพราะเวียดนามเป็นรัฐสังคมนิยมที่ใช้ระบบการวางแผนจากส่วนกลางผสมเศรษฐกิจแบบตลาด
สำหรับยุทธศาสตร์การเจรจาของไทยจึงไม่ใช่ยอมเปิดตลาดสินค้าทุกประเภทให้สหรัฐฯเพื่อแลกกับการลดภาษี แต่ควรใช้วิธียอมเปิดตลาดสินค้าเฉพาะบางประเภทที่เราพอแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ หรือ เป็นสินค้าไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนสินค้าประเภทที่ยังแข่งขันไม่ได้ต้องมีมาตรการช่วยเหลือและระบบสนับสนุนให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ผลิตภาพสูงขึ้น แล้วจึงค่อยเปิดตลาด การเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สหรัฐฯโดยเฉพาะสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและมีกลยุทธ์
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการเจรจาการค้าของทีมไทยแลนด์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งดีลต่าง ๆ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบีเคย์เฮียน มองว่า สุดท้ายแล้วหลังได้ดีลทุกอย่างที่พอใจ เราอาจเห็นการขยับอัตราภาษีการค้าลงทั้งระบบทุกประเทศ เพื่อให้ภาษีการค้าแท้จริงเฉลี่ย อยู่ระหว่าง 10-20% ซึ่งจะไม่สร้างภาระกับผู้บริโภคสหรัฐฯ มากเกินไป และยังทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ แม้อาจเป็นในอัตราชะลอลงนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews