สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน: ผิดไหม… ถ้าไม่บังคับให้ลูกแบ่งของเล่น?!
เรื่องราวหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในเว็บไซต์ Reddit มาจากคุณแม่คนหนึ่งที่ตั้งคำถามว่า ผิดไหมที่ตัวเองไม่บังคับให้ลูกต้องแบ่งของเล่นให้คนอื่น ที่มาของคำถามก็คือลูกชายวัยสามขวบของเธอเอาของเล่นชิ้นโปรดไปเล่นที่สวนสาธารณะ และเมื่อมีเด็กอีกคนเดินเข้ามาขอเล่นของเล่นนั้นด้วย ลูกกลับพูดว่า “ไม่ให้” ด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย ส่วนเธอก็ไม่ได้เข้าไปบอกว่าลูกต้องแบ่งของเล่นให้เขา เพราะมองว่าลูกย่อมมีสิทธิ์ในของของตัวเอง แต่กลับทำให้คุณแม่ของเด็กอีกคนไม่พอใจ และบอกว่าเธอควรจะ สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน บ้างจริงอยู่ที่การ สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน ก็เป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก แต่คำถามที่ตามมาก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้ การแบ่งของเล่นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าลูกไม่เต็มใจหรือไม่ยินดีที่จะให้ในเวลานั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องบอกให้ทำทันทีหรือไม่ หรือว่าการแบ่งปัน ควรมาคู่กับการเคารพในสิทธิ์และการตัดสินใจของแต่ละคนกันแน่เราลองมาค่อยๆ ทำความเข้าใจเรื่องนี้กันดีกว่าค่ะ1. เด็กยังไม่เข้าใจ ‘การแบ่งปัน’ ในแบบของผู้ใหญ่
คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าทำไมลูกถึงได้หวงของเล่นของตัวเองนัก นั่นเป็นเพราะว่าลูกยังอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้เรื่องความเป็นเจ้าของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale ระบุว่า เด็กในวัย 2–4 ขวบ ยังคงพัฒนาทักษะการเข้าใจมุมมองของผู้อื่น (Theory of Mind) ไม่เต็มที่ ลูกจึงยังไม่สามารถนึกภาพได้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกปฏิเสธDr. Heather Shumaker ผู้เขียนหนังสือ It’s OK Not to Share กล่าวว่า การที่เด็กพูดว่า ‘ไม่’ กับการแบ่งของเล่น ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้ขอบเขตของตัวเอง และการฝึกควบคุมสิ่งที่เป็นของตัวเอง ซึ่งคำว่า ‘ไม่’ นั้น ไม่ได้หมายถึงความใจร้าย แต่คือการเริ่มต้นของความเข้าใจในสิทธิของตัวเอง2. ควรเริ่มจากความสมัครใจ ไม่ใช่ความรู้สึกผิด
Dr. Laura Markham นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Aha! Parenting อธิบายไว้ว่า การที่คุณพ่อคุณแม่บังคับให้ลูกแบ่งของโดยไม่ถามว่าลูกรู้สึกอย่างไร อาจทำให้ลูกเรียนรู้ว่าความรู้สึกของตัวเองไม่สำคัญ และวันหนึ่ง ลูกอาจไม่กล้าปฏิเสธแม้จะรู้สึกไม่สบายใจดังนั้น การแบ่งของที่เกิดขึ้นด้วยความเต็มใจต่างหาก คือบทเรียนที่แท้จริงของคำว่าน้ำใจ และเมื่อลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เคารพในความรู้สึกของเขา ลูกก็จะค่อยๆ เปิดใจเรียนรู้ที่จะให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจมากขึ้นในอนาคต3. การปฏิเสธเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องขอบเขต
การที่ลูกพูดว่า “ไม่ให้” คือโอกาสทองในการเรียนรู้เรื่องขอบเขต ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเคารพทั้งตัวเองและผู้อื่นในระยะยาวงานวิจัยหนึ่งจาก Michigan University พบว่า เด็กที่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิ์ในสิ่งของของตัวเองและไม่ถูกกดดันให้ยอมทุกครั้ง จะเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นที่รู้จักปกป้องตัวเองจากสถานการณ์เสี่ยง และสามารถสื่อสารความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน4. การแบ่งปันควรเกิดขึ้นเมื่อลูกพร้อม
สำหรับเด็กเล็ก การแบ่งของเล่นอาจดูเหมือนเรื่องง่ายในมุมผู้ใหญ่ แต่สำหรับลูก นั่นคือของรักของหวง การจะให้ใครแตะต้องได้อาจต้องใช้เวลา ความรู้สึกปลอดภัย และความเข้าใจจากคนรอบตัว เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในจังหวะที่ลูกพร้อม ไม่ใช่เพราะถูกเร่งให้ถึงเวลาต้องทำDr. Tina Payne Bryson นักจิตวิทยาเด็กและผู้ร่วมเขียนหนังสือ The Whole-Brain Child กล่าวว่า ยิ่งเราบังคับให้เด็กต้องมีพฤติกรรมบางอย่างก่อนที่สมองส่วนการควบคุมตนเองของเขาจะพัฒนาเต็มที่ เด็กก็ยิ่งรู้สึกต่อต้านหรือไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนั้น5. การให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจสำคัญกว่า
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนคงอยากให้ลูกเติบโตเป็นคนมีน้ำใจ มีเมตตา และรู้จักแบ่งปัน แต่สิ่งที่ควรปลูกฝังนอกจากเรื่องของการแบ่งปันแล้ว คือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้าใจว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร และการเห็นคุณค่าของการให้ด้วยความเต็มใจคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยสอนให้ลูกมีความเห็นอกเห็นใจได้โดยการพูดคุยอย่างอ่อนโยน เช่น “ลูกคิดว่าเพื่อนรู้สึกยังไง ถ้าเขาอยากเล่นด้วยแล้วลูกไม่ให้” หรือ “ถ้าลูกอยากเล่นของของเพื่อน แล้วเพื่อนไม่ให้ ลูกจะรู้สึกอย่างไรนะ”การพูดคุยลักษณะนี้เป็นการวางรากฐานให้ลูกเริ่มเข้าใจมุมมองของผู้อื่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อถึงวันหนึ่ง ลูกจะเริ่มอยากแบ่ง ไม่ใช่เพราะมีใครบอกให้ทำ แต่เพราะรู้สึกว่าอยากให้ผู้อื่นรู้สึกดีเหมือนที่ตัวเองเคยรู้สึกนั่นเองอ่านบทความ: สอนลูกให้รู้จักการแบ่งปันและช่วยเหลือ: 5 วิธีสอนลูกให้เป็น ผู้ให้ (Giver) และ ผู้รับ (Taker) ที่ดีอ้างอิงredditpubmed.ncbi.nlm.nih.govminddevlab.yale.edu