ธนาธรชี้ประเทศไทยไม่ถึงทางตัน 20 ปีติดหล่มอำนาจ ทหารต้องปฏิรูป
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ในรายการ"ผ่าทางตันประเทศไทย"เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปีเครือเนชั่น ร่วมกับ 3 บรรณาธิการของเครือเนชั่น ได้แก่ นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร นายบากบั่น บุญเลิศ และนายสมชาย มีเสน มีประเด็นสำคัญดังนี้
ผู้นำทางจิตวิญญาณและการยุบพรรคที่ "คุ้มค่า"
นายธนาธรกล่าวถึงบทบาทของตนในฐานะ "ผู้นำทางจิตวิญญาณ" ของพรรคการเมืองที่ตนมีส่วนร่วมตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จนถึงพรรคประชาชน โดยระบุว่าพรรคทำงานกันเป็นทีม และการยุบพรรคถึง 2 ครั้งนั้น "คุ้มค่ามาก" เพราะวาระที่เคยถูกมองว่าก้าวหน้าเกินไป ตอนนี้กลับกลายเป็น "วาระปกติ" ที่สังคมไทยสามารถถกเถียงกันได้ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
ทางตันการเมืองไทย: ความกังวลและการหยุดเวลา
เมื่อถูกถามว่าการเมืองไทยมาถึงทางตันแล้วหรือไม่ นายธนาธรแสดงความกังวลว่า "ถ้าทุกฝ่ายเชื่อมั่นในประชาธิปไตย การเมืองจะไม่ถึงทางตัน"แต่ขณะนี้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่ผลักดันให้เกิดทางตันขึ้น เพื่อ "หยุดยั้งเวลาทางการเมือง" ทำให้การเมืองและเศรษฐกิจคงสภาพเดิมตลอดไป
นอกจากนี้เห็นว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในปี 2548 ประเทศไทยมีนายกฯ 9 คน รัฐประหาร 2 ครั้ง การชุมนุมใหญ่ 4 รอบ และการยุบพรรคการเมืองหลักไม่น้อยกว่า 9 พรรค รวมถึงการเลือกตั้งเป็นโมฆะ 2 ครั้ง เขาตั้งคำถามว่าสังคมแบบนี้จะส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปได้หรือไม่
นายธนาธรเน้นย้ำว่าปัญหาสำคัญคือการไม่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะแบ่งอำนาจในสังคมไทยอย่างไร กติกาไม่เอื้ออำนวย และการมีรัฐธรรมนูญถึง 3 ฉบับใน 20 ปี สะท้อนว่ายังหาข้อสรุปไม่ได้ หากไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นไปไม่ได้
การทำลายกระแสการเปลี่ยนแปลงและการต่อสู้ด้วยกฎหมาย
นายธนาธรกล่าวถึงการที่บางกลุ่มต้องการหยุดไม่ให้สังคมก้าวหน้าว่าเป็นการพยายามสกัดกั้นพลังการเติบโตของประเทศ ซึ่งการรัฐประหารที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหาเดิม แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ พรรคประชาชนในปัจจุบันมีความมั่นคงทางกฎหมาย แต่ในสภาวะวิกฤตการเมือง การหาข้อผิดเพื่อยุบพรรคการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ
ในประเด็น "นิติสงคราม" นายธนาธรชี้ว่ากลไกการถ่วงดุลอำนาจที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ และมีการใช้อำนาจเพื่อฉ้อโกง ซึ่งสะท้อนความจำเป็นในการปรับแก้รัฐธรรมนูญให้ทันยุคสมัย
การรักษาอำนาจนำและการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นายธนาธรระบุว่ากลุ่มที่พยายามหยุดเวลาการเมืองนั้นทำไปเพื่อ"รักษาอำนาจนำ"และ"รักษาระเบียบสังคมปัจจุบัน"ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม แต่เขาเชื่อว่า "การเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตทางสังคมอยู่แล้ว"และประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้นเพื่อให้แข่งขันกับโลกได้ มิฉะนั้นลูกหลานจะลำบาก
นายธนาธร ยกตัวอย่างการจัดสรรงบประมาณแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถตอบรับการเข้ามาของ AI หรือกฎเกณฑ์โลกใหม่ได้ และวิจารณ์ว่ารัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมายังคงมีการจัดสรรงบประมาณที่คล้ายคลึงกัน โดยพรรคประชาชนต้องการผลักดันการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับประชาชนและนำพาประเทศไปข้างหน้า
รัฐราชการกับการผลักดันของนักการเมือง
นายธนาธรเชื่อว่าปัญหาของรัฐราชการเป็นความจริงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือการขาด "แรงผลักดันทางการเมือง" จากนักการเมืองที่มีความตั้งใจ หากฝ่ายการเมืองมีความตั้งใจจริง ประเทศไทยจะสามารถก้าวไปได้ไกลกว่านี้มาก
ทั้งนี้หากได้บริหารประเทศ นายธนาธรจะ"จัดสรรงบประมาณใหม่"เพิ่มความมั่นคงในชีวิตประชาชน ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว
ประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ และฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม
นายธนาธรชื่นชมข่าวดีที่ พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านแล้ว ซึ่งจะเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เขากล่าวว่าหากเลือกตั้งครั้งหน้ามีการ "พ่วงถามประชามติ" ด้วยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ จะไม่ทำให้ "เสียของ" และควรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเหมือนการรณรงค์รัฐธรรมนูญปี 2540 และย้ำว่าปัญหาการทุจริตจะแก้ไขได้ด้วยการ "บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคทุกชนชั้น" และ "การฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม" จะทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ
ไม่มีดีล และความเชื่อมั่นในอุดมการณ์พรรคประชาชน
นายธนาธรปฏิเสธข่าวลือเรื่อง "ดีล" ทางการเมือง โดยยืนยันว่าพรรคประชาชนเชื่อมั่นในอุดมการณ์ และการพูดคุยทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่จะไม่ก้าวข้าม "เส้นผลประโยชน์ของประเทศ" เพื่อต่อรองให้ตัวเอง ซึ่งจะเป็น "ผลไม้พิษ"
อย่างไรก็ตาม มีการพูดคุยกับแกนนำพรรคอื่นๆในระดับสส. และแกนนำพรรคแต่ส่วนตัวเองไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว และยังไม่เห็นสัญญาณว่าแกนนำพรรคประชาชนจะนำผลประโยชน์ส่วนตนไปต่อรอง
นายธนาธรเล่าว่าได้คุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครั้งล่าสุดที่ฮ่องกง เป็นการไปพบตามคำแนะนำของนายชัยธวัช ตุลาธน และหลังจากนั้นไม่มีการพูดคุยกันอีก ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยนั้น เพิ่งคุยกันเมื่อเช้า (18 ก.ค. 68) เพราะ "กดผิด"
โอกาสรัฐบาลพรรคประชาชน และทางออกของประเทศ
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่น หากเกิดปัญหาขึ้น นายธนาธรเชื่อว่าพรรคประชาชนยังมีโอกาสที่จะได้เสียงเกิน 250 ที่นั่ง แต่หากไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว การตัดสินใจร่วมรัฐบาลจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักคือ ผลการเลือกตั้ง และ การยอมรับนโยบายหลักที่พรรคได้หาเสียงไว้
ในประเด็น "ทางตัน" ของประเทศไทย นายธนาธรย้ำว่า "อย่าปล่อยให้มันถึงทางตัน" และหัวหน้าพรรคประชาชนก็แถลงแล้วว่ามีทางออก โดยพร้อมโหวตให้คนอื่นเป็นนายกฯ และถอยไปเป็นฝ่ายค้าน
ความเสี่ยงรัฐประหารและการปฏิรูปกองทัพ
นายธนาธรเชื่อว่า "ตราบใดที่ยังปฏิรูปกองทัพไม่ได้ เราไม่สามารถปิดประตูการรัฐประหารได้เลย" การรัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ แม้สถานการณ์จะดูไม่เอื้ออำนวย แต่ประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเคยเกิดขึ้น 2 ครั้งหลังจากปี 2534 ที่กองทัพเป็นที่รังเกียจของประชาชน
แนวทางการปฏิรูปกองทัพ ที่จำเป็นต้องทำไปพร้อมกันมี 2 ส่วน ประกอบด้วย
- ทำให้กองทัพมีสมรรถนะการรบที่พร้อมป้องกันประเทศตลอดเวลา
- ทำให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ "ยกเลิกกองทัพพาณิชย์" ไม่ควรมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือพาณิชย์ และควรขอสวัสดิการผ่านกระบวนการงบประมาณปกติเหมือนหน่วยงานอื่น เช่น ยกเลิกการมีสนามกอล์ฟ สนามมวย โรงแรม คลื่นวิทยุ ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
เกมการเลือกตั้งที่แตกต่าง
นายธนาธรไม่กังวลว่าพรรคอื่นจะรวมกันเพื่อสกัดพรรคประชาชนในการเลือกตั้งใหญ่ เพราะเชื่อว่า "ทำไม่ได้" เนื่องจากทุกเขตเลือกตั้งสำคัญ และไม่สามารถหลีกทางให้กันได้
นอกจากนี้ชี้ว่าลักษณะสำคัญของการเลือกตั้งระดับประเทศ (กระแส นโยบาย บุคคล) แตกต่างจากการเลือกตั้งท้องถิ่น (บุคคล นโยบาย กระแส) ซึ่งทำให้พรรคประชาชนไม่หวาดหวั่น เพราะเป็นคนละเกมและปัจจัยกำหนดชัยชนะก็แตกต่างกัน
สุท้ายนายธนารธร เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูประชาธิปไตย ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เสมอภาค การปฏิรูปกองทัพ เพื่อป้องกันการรัฐประหาร การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญ การจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ยืนยันว่าไม่เคยคิดล้มสถาบัน การเสนอแก้ไขมาตรา112 เพื่อป้องปกสถาบัน และนำพาประเทศไทยก้าวพ้นวงจรปัญหาเดิมๆ ไปสู่ความก้าวหน้า.
ที่มา ผ่าทางตันประเทศไทย กับ 3 ผู้นำทางความคิด : Chapter Two : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (คลิ๊กชม)