กสทช. บุกจับวิทยุสื่อสารเถื่อนกว่า 2 หมื่นเครื่อง มูลค่ากว่า 20 ล้าน
สำนักงาน กสทช. บุกจับวิทยุสื่อสารเถื่อนกว่า 2 หมื่นเครื่อง มูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท หลังบุกจับมือถือไม่ผ่านมาตรฐานขายผ่านออนไลน์กว่า 30 ล้านบาทก่อนหน้านี
วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ สำนักงาน กสทช. โดยทีมพระพาย ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต เข้าตรวจค้นบริษัทและบ้านพักย่านพระราม 2 พบเครื่องวิทยุคมนาคมยี่ห้อ Motorola ประมาณ 2 หมื่นเครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 20 ล้านบาท พร้อมอุปกรณ์กระจายสัญญาณ WiFi ละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจาก สำนักงาน กสทช.จำนวนมาก รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ทำการตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิด ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ คือ (1) พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ฐานนำเข้า มี และจำหน่ายวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 5 ปี (2) พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ฐานปลอมเครื่องหมายการค้า โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (3) พ.ร.บ.ปลอมแปลงเอกสารราชการ พ.ศ.2499 เป็นประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ (4) พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท เนื่องจากฐานมีนำเข้าและจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกครั้งยังมีการปลอมแปลงเอกสารของสำนักงาน กสทช. และปลอมแปลงสติ๊กเกอร์ กสทช.
สำนักงาน กสทช. จึงได้รวบรวมของกลางทั้งหมดนำส่งสถานีตำรวจท่าข้าม เพื่อดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไป เนื่องจากการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมที่ผิดกฎหมาย และหลอกลวงขายของประชาชนทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้จากการสอบถามผู้ต้องหาเรื่องการนำเข้า บริษัทได้นำเอกสารการรับซื้อสินค้าจากในประเทศมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ โดยเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งผู้ต้องหาให้การว่ารับซื้อวิทยุสื่อสารมาจากบริษัทอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารรับส่งสินค้าอยู่ในที่เกิดเหตุ ขั้นตอนจากนี้กรมศุลกากรจะดำเนินการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวที่ถูกอ้างถึงต่อไป หากตรวจสอบพบว่าบริษัทต้นทางไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร บริษัทต้นทาง และบริษัทที่ถูกจับกุมในวันนี้ อาจจะมีความผิดฐานรับซื้อ รับไว้ ซึ่งของที่ลักลอบหรือหลีกเลี่ยง หรือไม่ผ่านพิธีการศุลกากร มีโทษตามมาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็น 4 เท่าของราคาของที่รวมค่าอากร หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านสำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปราม (ฝ่ายป้องกันและปราบปราม 4) กรมสรรพสามิต ระบุการจับกุมครั้งนี้จะมีฐานความผิดมีไว้เพื่อขาย ซึ่งสินค้า ที่มิได้เสียภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพาสามิต พ.ศ. 2560 สำหรับโทษมีการคำนวนภาษีจากราคาสินค้าขายปลีกแนะนำ มีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 5-15 เท่าของค่าภาษี
นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทีมพระพายยังเข้าตรวจสอบและจับผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. จำนวนเกือบ 1 หมื่นเครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งมีการหลอกลวงประชาชนว่าสินค้าสามารถรับสัญญาณ 5G ได้ ทั้งที่เครื่องรับสัญญาณไม่ได้ และมีการปลอมแปลงตราครุฑของสำนักงาน กสทช. โดยสินค้าทั้งหมดไม่มีหน้าร้านขายผ่านช่องทางออนไลน์
“การเข้าจับกุมผู้ขายวิทยุสื่อสาร รวมถึงอุปกรณ์การสื่อสารต่าง ๆ เช่น มือถือไม่ได้มาตรฐาน นอกจากการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนให้ได้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ประชาชนไม่ถูกหลอกซื้อสินค้าปลอม สูญเสียเงิน เพราะได้ของไม่ตรงปก ของใช้ไม่ได้จริงตามที่กล่าวอ้าง และยังทำให้คนที่ผลิตสินค้าจริง ทำถูกกฎหมาย ได้รับความลำบาก ซึ่งรายได้เหล่านี้ควรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง” นายไตรรัตน์ กล่าว