บพค. จัดงาน "Thailand Brainpower Briefing 2026" ชูวิสัยทัศน์ "พลังสมอง ประกายแห่งนวัตกรรม" สนับสนุนทุนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และ การสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “Thailand Brainpower Briefing 2026: เวทีชี้แจงทิศทางและกรอบการสนับสนุนทุน บพค. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569” ในวันพุธ ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. (ถนนโยธี) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชี้แจงนโยบาย ทิศทาง และกรอบการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของ บพค. รวมถึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประชาคมวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับฟังวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทย สู่การเป็น Smart Nation อย่างยั่งยืน
การจัดเวทีชี้แจงแนวทางการสนับสนุนทุน “Thailand Brainpower Briefing 2026” ภายใต้แนวคิดหลัก “Brainpower - The Spark of Innovation: พลังสมอง ประกายแห่งนวัตกรรม” มีเป้าหมายสำคัญในการให้หน่วยงานและผู้ประสงค์ขอรับทุนสนับสนุนวิจัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ได้รับทราบข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการทุนของ บพค. ทิศทางการดำเนินงานตามแผนงาน และเป้าหมายการวิจัย รวมถึงหลักเกณฑ์การจัดทำข้อเสนอโครงการ ขั้นตอนการยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนทุน ระยะเวลา และแนวทางการบริหารจัดการงานวิจัยตลอดห่วงโซ่ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพงานวิจัยของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเวทีสำคัญในการรับฟังนโยบายจากประธานคณะกรรมการ บพค.
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ และพบปะคณะผู้บริหาร บพค. นำโดย ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการ บพค. ที่มีบทบาทในฐานะหัวเรือสำคัญในการนำทางและพัฒนาระบบ ววน. ด้านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ด้านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้าและเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้ตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศ
การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ บพค. ได้กล่าวให้แง่คิด แก่ บพค. เกี่ยวกับประเด็น “ทุนสมองกับการพัฒนาอนาคตประเทศไทย” ว่า การดำเนินงานที่สำคัญของ บพค. คือ การปรับกระบวนทัศน์จากการ 'สนับสนุน' เพียงมิติเดียว ไปสู่การเป็น 'ผู้ร่วมขับเคลื่อน' และ 'ผู้สร้างสรรค์คุณค่าร่วมกัน' กับประชาคมวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรามุ่งเน้นให้งานวิจัยและนวัตกรรมได้รับการประยุกต์ใช้จริง ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการปลดล็อกศักยภาพของ 'ทุนสมอง' ไทย เพื่ออนาคตที่ก้าวหน้าและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา บพค. ได้ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง 'คนสมรรถนะสูง' และพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยระดับแนวหน้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ก้าวขึ้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อม ๆ กัน ทัดเทียมกับสากล และเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) อย่างยั่งยืน
ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน ดร.ณิรวัฒน์ฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์และให้นโยบายว่า การสร้าง 'คนสมรรถนะสูง' และพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า ถือเป็นภารกิจหลักของ บพค. เนื่องจากเราตระหนักดีว่า 'ทรัพยากรมนุษย์' คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Smart Nation โดยแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างจากเดิมคือ การเน้นการพัฒนากำลังคนแบบ 'Demand Driven' มากขึ้น ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงความต้องการที่แท้จริงจากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคสังคม เข้ากับการผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรวิจัยหลังปริญญาผ่านแพลตฟอร์ม Deep Specialization Graduate และ Post-doctoral/Post-graduate Fellowship โดย บพค. ได้ลงทุนและร่วมมือกับหลักสูตรที่ตอบสนองต่อเทคโนโลยีแห่งอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาทักษะ (Up-skill/Re-skill) ให้กับบุคลากรในระบบ ซึ่งมีกลไกสำคัญคือการสนับสนุนทุนในลักษณะ 'Co-Creation' ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมร่วมกัน เราคาดการณ์ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมจากการที่บุคลากรเหล่านี้มีงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด มีทักษะพร้อมใช้งาน และสามารถสร้างผลงานวิจัยที่นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งจะนำไป สู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากล และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดร. ณิรวัฒน์ฯ ยังได้เน้นย้ำถึง กลยุทธ์ของ บพค. ในการตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตและประเด็นวิจัยเร่งด่วน โดยกล่าวถึง ประเด็นวิจัยเหล่านี้ว่าคือ ทั้ง 'โอกาส' และ 'ความท้าทาย' ของประเทศ โอกาสคือการที่ประเทศไทยสามารถใช้ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยต่อยอดความเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมถึง การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อหาทางออกและแก้ปัญหาที่ท้าทายของประเทศ ปัจจุบัน บพค. ดำเนินงานตามแผน ววน. ปี พ.ศ. 2566–2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 และ 4 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า และการพัฒนากำลังคนทักษะสูงในลักษณะ Demand Driven ผ่านความร่วมมือกับองค์กรระดับประเทศและนานาชาติ โดยมุ่งเน้นประเด็นวิจัยที่สำคัญ อาทิ (1) Digital & Computing Technology (โดยเฉพาะ AI และการประมวลผลขั้นสูง เพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น เกษตร อาหาร การแพทย์ โลจิสติกส์ และการผลิต) (2) Sensor & Electronics Technology (ครอบคลุมตั้งแต่ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ระบบ IoT จนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และระบบเกษตรแม่นยำ) (3) Biotechnology (การสนับสนุนเทคโนโลยีอย่าง Synthetic Biology, Genome Editing, และ Precision Fermentation) (4) Clean Energy & Decarbonization (ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนเทคโนโลยี SMR และเชื้อเพลิงชีวภาพ) (5) Advanced Materials Technology (วัสดุชั้นสูงสำหรับการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมการบิน) และ (6) Frontier Technology (ได้แก่ ควอนตัมเทคโนโลยี พลาสมาและฟิสิกส์พลังงานสูง และเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ) ส่งเสริมการรวมทีมวิจัยจากหลากหลายสาขา และการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการสร้าง 'จุดคานงัด' ที่จะยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในด้านเหล่านี้ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Ground breaking technology) เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตและบริการแห่งอนาคต (Future technology) และเทคโนโลยีที่สอดรับความท้าทายสังคม (Societal challenge technology)
"กลยุทธ์แบบ Consortium Driven และการสร้าง Strategic Partners คือหัวใจสำคัญในการ 'ผนึกกำลัง'"
ดร. ณิรวัฒน์ฯ อธิบายเพิ่มเติม "เราเชื่อมั่นในการหลอมรวมจุดแข็งของแต่ละภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และพันธมิตรระดับนานาชาติ รูปแบบ Co-Creation คือการร่วมกันคิดและสร้างสรรค์โจทย์วิจัยและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นทาง Co-Value คือการสร้างคุณค่าร่วมกันที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง และ Co-Investment คือการร่วมลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความเป็นเจ้าของร่วมกันในผลลัพธ์ รูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศอย่างมหาศาล เพราะเป็นการลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเร่งให้เกิดผลลัพธ์ที่ใช้งานได้จริงและนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น"
ในการนี้ บพค. คาดหวังว่า การจัดงาน "Thailand Brainpower Briefing 2026" เป็นเสมือน 'เข็มทิศ' และ 'สะพานเชื่อม'สิ่งที่เราคาดหวังจากประชาคมวิจัยและผู้สนใจขอรับทุนได้มีความเข้าใจที่ชัดเจนในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ บพค. การส่งเสริมการทำงานร่วมกันในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรใหม่ ๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรับทราบนโยบายโดยตรง ได้เข้าใจทิศทางทุน พบปะแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ บพค. และได้รับทราบถึงแนวทางการยื่นคำขอสนับสนุนทุนประจำปีงบประมาณ 2569 ที่กำลัง จะเปิดรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบ NRIIS ในเร็ววันนี้ ซึ่งนักวิจัยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ช่องทางเพจ Facebook PMU-B บพค. ท้ายที่สุด บพค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานวันนี้จะเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถมองภาพร่วมกันกับ บพค. ในการช่วยกันพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กันด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO