ทำไมต้องแยกเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจ
"เงินธุรกิจกับเงินส่วนตัว เหมือนแฟนกับภรรยา… ห้ามไปปนกัน!" เดี๋ยวก่อนนน มันจะเป็นแบบนั้นได้ยังไงกันเล่า! เอาใหม่ครับ …
เวลาผมไปบรรยายเรื่องภาษีธุรกิจ จุดแรกที่ผมมักจะแนะนำนั้น ไม่ใช่การประหยัดภาษีให้มากที่สุด แต่เป็นการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของ เงินส่วนตัว กับ เงินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นไปจนถึงกลางที่รู้สึกว่ายังวางระบบไม่ดี
เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยากครับ เนื่องจากเจ้าของธุรกิจมักจะเข้าใจว่า ทุกอย่างใช้ร่วมกันได้ เพราะนี่ก็ตัวเรา และ นี่ก็ธุรกิจที่เราเป็นเจ้าของ
แต่โลกของการเงิน บัญชี และภาษีไม่ใช่แบบนั้นครับ เมื่อเราเอาเงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวไปปนกันแล้วมันจะเกิดคำถามตามมามากมาย
- ถ้าคุณอยากจะหาหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเพิ่มเพื่อร่วมทุน เขาจะสงสัยว่า คุณบริหารจัดการเงินแบบนี้ เขาจะไว้ใจได้เหรอ ในเมื่อทุกอย่างที่คุณทำมันปนกันไปหมด
- ถ้าคุณอยากจะขอสินเชื่อธนาคาร ธนาคารจะมองคุณแบบสงสัย ๆ เวลาขอสินเชื่อ ว่าข้อมูลการเงินที่แท้จริงของธุรกิจเป็นยังไง จะวัดผลแบบไหนว่าคุณสามารถจ่ายหนี้ไหวกันแน่นะ
- ถ้าคุณอยากจะเจอสรรพากร (อ่า .. น่าจะไม่อยากเจอสินะครับ) แต่การปะปนเงินแบบนี้ และไม่มีรายละเอียดที่ถูกต้อง สรรพากรนี่แหละครับที่อยากจะเจอคุณ
- และสุดท้ายก็คือ ถ้าคุณอยากจะรู้ข้อมูลของธุรกิจตัวเองทั้งหมด กระแสเงินสด งบประมาณ รายได้ กำไร คุณอาจจะตอบไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่า จริงๆ แล้วธุรกิจเรานั้นมันประสบความสำเร็จหรือเปล่า
เมื่อหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะตอบกลับมาว่า แล้วมันจะเป็นไรไปเล่า ถ้าไม่ได้คิดจะมีหุ้นส่วน ไม่ได้อยากจะขอสินเชื่อ ยื่น ๆ เสียภาษีไปบ้างให้สรรพากรไม่มายุ่ง ส่วนเงินในบัญชีทั้งหมดถ้าเพิ่มขึ้นก็พอแล้ว แบบนี้ก็ไม่ต้องแยกเงินก็ได้นี่นา
ใช่ครับ แต่ชีวิตจะเป็นแบบนี้ไปตลอดจริงๆ หรือเปล่า อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ สิ่งที่ผมอยากจะถามกลับคือ แล้วทำไมถึงไม่อยากทำให้ทุกอย่างถูกต้องล่ะครับ
เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ลองมาดูตัวอย่างกันครับ
สมมติว่าคุณเปิดธุรกิจยอดฮิตอย่างร้านขายกาแฟ คุณตรวจสอบยอดขายประจำวันได้ 5,000 บาท แต่เอาไปซื้อของกินส่วนตัวจำนวน 2,000 บาทเพื่อเป็นรางวัลชีวิต แบบนี้เราจะบอกได้ไหมครับว่า ธุรกิจมีกำไร 3,000 บาท
คำตอบคือไม่ได้ถูกไหมครับ เพราะยังไม่หักต้นทุนกาแฟ ค่าเช่า ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ค่าจ้างพนักงาน อุปกรณ์ต่าง ๆ จริง ๆ อาจจะขาดทุนอยู่ก็ได้
ลองมองต่อไปอีกสักหน่อย ถ้าจากตัวอย่างนี้คุณขายกาแฟได้ 100 แก้ว (คิดเป็นราคาขายแก้วละ 50 บาท) คุณจะรู้ได้ยังไงว่า ราคาขายที่ตั้งไว้นั้นถูกต้อง ? ในเมื่อคุณไม่ได้แยกต้นทุนที่ถูกต้องไว้ตั้งแต่แรก
ลองคิดต่ออีกสักหน่อยครับ สมมติว่า ค่าใช้จ่ายรายวันของร้านประกอบด้วยรายการต่อไปนี้
- ต้นทุนค่ากาแฟ อุปกรณ์ต่าง ๆ 1,000 บาท
- ค่าเช่าร้าน 500 บาท
- ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไฟฟ้า ประปา 100 บาท
- ค่าแรงพนักงาน 500 บาท
- ต้นทุนอื่น ๆ 900 บาท
รวมต้นทุนทั้งหมด คือ 3,000 บาท ถ้าวันนี้ขายได้ 100 แก้วคิดเป็นเงิน 5,000 บาท ก็แปลว่า กำไร 2,000 บาท คิดเป็นกำไรต่อแก้ว คือ 20 บาท!! แบบนี้ก็ถือว่าดี เยี่ยมไปเลย
แต่ถ้าคุณคิดให้ดีกว่านี้ กำไรที่แท้จริงควรต่ำกว่า 20 บาทครับ เพราะคุณยังไม่ได้คิด “ต้นทุน” ของตัวเองในการทำร้านไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งถ้าคุณอยากได้ส่วนแบ่งจากกิจการมาใช้ส่วนตัว คุณอาจจะต้องประเมินต้นทุนรายวันของตัวเองเพิ่มเข้าไป เพื่อให้ “กันเงิน” ส่วนนี้แยกออกมาจากธุรกิจ และทำให้คุณมี “ค่าจ้าง” ส่วนตัวที่ไม่ปะปนกัน
มาถึงตรงนี้น่าจะพอเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ถ้าเราคำนึงถึงการแยกเงินระหว่างส่วนตัวกับธุรกิจ เราจะวัดผลกำไรที่ถูกต้องได้ และแยก “เงิน” ส่วนตัวที่เราได้ออกมาอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทีนี้ถ้าพอมองเห็นแล้ว ผมคิดว่าเรามาดูวิธีการจัดการดีกว่าว่าเราจะแยกเงินได้อย่างไร วิธีการง่าย ๆ ที่สุด คือ การแยกบัญชีให้ชัดครับ เหมือนเป็นการแยกออกเป็น 2 ร่าง ระหว่างธุรกิจกับตัวเรา โดย
- บัญชีธุรกิจ: ใส่แต่เงิน (รับจ่าย) ที่เกี่ยวกับธุรกิจ 100%
- บัญชีส่วนตัว: โอนเงินที่จ่ายให้ตัวเองจากธุรกิจ แล้วใช้ได้ตามใจ
กฎข้อสำคัญ คือ อย่าไปใช้ปนกัน อย่าไปจ่ายให้กันโดยที่ไม่จำเป็น อย่างเช่นธุรกิจร้านกาแฟเมื่อกี้ ถ้าวันนี้มีกำไรจากธุรกิจ เราอาจจะตัดส่วนนึงโอนเข้าบัญชีส่วนตัวเพื่อแยกเงินมาใช้ หรือ ใช้วิธีการจ่ายเป็นรายเดือนก็ได้ เช่น กำไรวันละ 2,000 บาท ทั้งเดือน คือ 60,000 บาท เราจะกันเป็นเงินเดือนตัวเอง 30,000 บาทไว้ใช้ตามใจชอบอย่างมีความสุข ส่วนที่เหลือก็ใช้สำหรับการทำธุรกิจ
และถ้าหากธุรกิจนี้มีการขยับขยาย เติบโตขึ้นกลายเป็นบริษัท (นิติบุคคล) การทำแบบนี้ก็เหมือนการกำหนดผลตอบแทนที่ถูกต้องให้กับเจ้าของ (ที่ทำงานให้กับธุรกิจ) เหมือนกันครับ
สรุปแล้ว การแยกเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจ ไม่ใช่แค่เรื่องของระเบียบวินัย หรือทำไปเท่ ๆ แต่เป็นเรื่องของความอยู่รอด และการเติบโตของธุรกิจครับ
เริ่มต้นง่าย ๆ ได้เลยวันนี้ แค่เปิดบัญชีธนาคารแยกกัน ตั้งกฎง่าย ๆ ว่า "เงินธุรกิจใช้เพื่อธุรกิจ เงินส่วนตัวใช้เพื่อตัวเอง" แล้วลองทำดูสัก 3 เดือน ผมเชื่อว่าคุณจะเริ่มเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นเยอะเลย
สุดท้ายอย่าลืมว่า ธุรกิจที่ดีที่สุด คือธุรกิจที่เราเข้าใจตัวเลขของมันจริง ๆ เพราะตัวเลขที่ถูกต้องนั้นแหละครับ ที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจ การปรับราคา หรือแม้แต่การวางแผนจัดการภาษี…