เกปา คนล่าสุด ! 6 เหตุผลที่ อาร์เซน่อล เซ็นสัญญากับแข้งเชลซี ต่อไป
สำหรับการมาของ เกปา นั่นหมายความว่าตอนนี้ อาร์เซน่อล เซ็นสัญญานักเตะจาก "สิงโตน้ำเงินคราม" เป็นรายที่ 6 จาก 7 ฤดูกาลหลังสุด นับตั้งแต่ปี 2019 อาร์เซน่อล จ่ายเงินรวม 90 ล้านปอนด์ (ราว 3,960 ล้านบาท) เป็นค่าตัวนักเตะให้กับสโมสรร่วมกรุงลอนดอน
นายด่านจากแดนกระทิงดุ วัย 30 ปี เดินตามรอยเท้าของ ดาวิด ลุยซ์, วิลเลี่ยน, จอร์จินโญ่, ไค ฮาแวร์ตซ์ และ ราฮีม สเตอร์ลิง และถ้าหากมองย้อนกลับไปในปี 2015 "เดอะ กันเนอร์ส" เคยจ่ายเงิน 10 ล้านปอนด์ (ราว 440 ล้านบาท) เพื่อคว้าตัว ปีเตอร์ เช็ก โกลจอมเก๋ามาจาก "สิงห์บลูส์" ด้วย
แล้วมีเหตุผลอะไรที่การย้ายทีมระหว่าง 2 สโมสรร่วมเมืองยังคงดำเนินต่อไป ? แน่นอนว่าทุกกรณีมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีปัจจัยพื้นฐานบางอย่างที่เชื่อมโยงการย้ายทีมจาก เชลซี มายัง อาร์เซน่อล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน
1. ทำเลที่ตั้ง
แน่นอนว่าทำเลที่ตั้งมีความสำคํญอย่างยิ่ง เพราะการย้ายจาก เชลซี ไป อาร์เซน่อล ทำให้นักเตะและครอบครัวของพวกเขายังคงได้พำนักอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน แม้จะมีบางคนที่ย้ายบ้านจากเซอร์เรย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสนามซ้อมเชลซี ไปสนามซ้อมลอนดอน โคลนี่ย์ เพราะอยู่ไกลพอสมควร และต้องผ่านเส้นทางที่รถติดอย่าง M25 แต่ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายออกจากเมืองหลวงโดยสิ้นเชิง
2. ปัจจัยเรื่องอายุ
สำหรับอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือเรื่องอายุ เพราะนักเตะที่ย้ายจาก เชลซี ไปสวมเครื่องแบบ "ปืนใหญ่" ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามักจะเข้าสู่ช่วงบั้นปลายชีวิต โดยอายุเฉลี่ยของนักเตะที่ย้ายไปเล่นในถิ่นเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม อายุมากกว่า 30 ปี หลายคนมีครอบครัวที่ลงหลักปักฐานอยู่ในลอนดอนแล้ว ทำให้การย้ายข้ามสโมสรภายในเมืองเดียวกันสะดวกมากกว่า
3. รายได้แทบไม่เปลี่ยนแปลง
ต้องยอมรับว่า อาร์เซน่อล เป็นหนึ่งในไม่กี่สโมสรที่สามารถจ่ายค่าเหนื่อยใกล้เคียงหรือในระดับเดียวกับรายได้ที่พวกเขาเคยได้รับตอนเป็นพ่อค้าแข้ง เชลซี ยกตัวอย่างกรณีของ วิลเลียน และ ลุยซ์ ซึ่งตอนนั้นอายุ 32 ปีแล้ว และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีสโมสรชั้นนำแห่งไหนจะยอมจ่ายค่าเหนื่อยในระดับที่ใกล้เคียงกับที่พวกเขาได้รับตอนเล่นให้ทัพ "สิงโตน้ำเงินคราม"
4. ความเชื่อมโยงทางชาติพันธุ์
ในกรณีของ วิลเลี่ยม กับ ลุยซ์ ความผูกพันในฐานะชาวบราซิเลียนมีความสำคัญมาก เพราะพวกเขาเซ็นสัญญามาอยู่กับ อาร์เซน่อล สมัยที่ เอดู ซึ่งเป็นชาวบราซิเลียน เหมือนกัน ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา "ปืนใหญ่" ทำให้การปิดดีลเป็นเรื่องง่าย เช่นเดียวกับ จอร์จินโญ่ ที่เกิดในบราซิล แม้จะเล่นให้ทีมชาติอิตาลี โดย มิเกล อาร์เตต้า ผู้จัดการทีมอาร์เซน่อล เคยพยายามเซ็นเขาเข้าร่วมทีมแมนฯ ซิตี้สมัยเป็นผู้ช่วยเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ด้วย
5. การเปลี่ยนกลยุทธ์ของเจ้าของสโมสร
สำหรับกรณีของ ฮาแวร์ตซ์ ต้องบอกว่า อาร์เซน่อล ได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของ เชลซี นับตั้งแต่ที่ ท็อดด์ โบห์ลี่ นักธุรกิจชาวอเมริกัน เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร โดยทีมจำเป็นต้องขายนักเตะเพื่อนำเงินทุนมาใช้สำหรับการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ ในขณะเดียวกับ "สิงห์บลูส์" ยังต้องการลดรายจ่ายสโมสรด้วย ด้วยเหตุนี้ สตาร์ทีมชาติเยอรมนี ซึ่งได้รับค่าเหนื่อยสูงมากจึงถูกขายออกไป ขณะที่การยืมตัว สเตอร์ลิง เมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นโอกาสดีของ "เดอะ กันเนอร์ส" เพราะทีมจ่ายค่าเหนื่อยน้อย ส่วน เชลซี ต้องการปล่อยนักเตะออกให้ทันเส้นตาย
6. ได้ประโยชน์ร่วมกัน
การย้ายทีมของ เกปา ถือว่าได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพราะ เชลซี มีผู้รักษาประตูหลายคน และนี่คือโอกาสสุดท้ายที่จะขาย นายทวารชาวสแปนิช ออกไปก่อนที่จะหมดสัญญา ซึ่งเหลือเพียง 1 ปีเท่านั้น ส่วน อาร์เซน่อล ได้โกลที่มีประสบการณ์ซึ่งรู้จักพรีเมียร์ลีก เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นการกดดัน ดาบิด ราย่า ที่ต้องรักษาฟอร์มให้คงเส้นคงวาหากไม่อยากหลุดตำแหน่งมือ 1 แถมค่าตัวแค่ 5 ล้านปอนด์ ถูกกว่าตัวเลือกเดิมอย่าง โจน การ์เซีย ที่เพิ่งย้ายไป บาร์เซโลน่า ในราคามากกว่า 20 ล้านปอนด์ (ราว 880 ล้านบาท)
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากเหตุและผลต่างๆ ในการย้ายทีมระหว่างทั้งสองทีม แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จ และไม่มีใครสามารถรักประกันได้ว่าดีลทั้งหมดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้จะเป็นผลดีทั้งกับนักเตะหรือ อาร์เซน่อล
TOMMY TEE.