ลำตะคอง วิกฤต พายุวิภา ไม่ช่วยเติมน้ำ เหลือ 21% หวัง กันยา-ตุลา หวัง มีพายุลูกใหม่
โคราช เฝ้าระวังเข้มสถานการณ์น้ำ หลังปริมาณฝนตกในพื้นที่ต่ำ อ่างเก็บน้ำยังรับน้ำได้อีกมาก เตรียมพร้อมเต็มที่รับพายุลูกใหม่ช่วงปลายฤดูฝน
นครราชสีมา-จากสถานการณ์พายุโซนร้อน “วิภา” ที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ขณะเคลื่อนตัวผ่านแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคมนี้ ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม มีความเสี่ยงสูงจากฝนตกหนัก ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนว่า ฝนสะสมอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา และพื้นที่ภาคอีสานดังกล่าว แนะนำให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่อาจรุนแรงขึ้น
ล่าสุด วันที่ 23 กรกฎาคม นายมารุต ชุ่มขุนทด ผู้ประสานงานพรรคกล้าธรรม พร้อมด้วย นายสมชาย อังศิริลาวัลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา และนายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำอ่างห้วยยาง ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง อยู่ใกล้พื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งพบว่า ปริมาณน้ำในอ่างฯ เหลือน้อยมาก แม้จะมีพายุวิภาเข้ามาในช่วงนี้ แต่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา กลับได้รับอิทธิพลน้อยมาก
โดยนายสมชาย อังศิริลาวัลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดมีประมาณ 41% ของความจุ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ มีน้ำรวมกันเฉลี่ย 56% ส่วนอ่างขนาดกลางอีก 24 แห่งมีน้ำประมาณ 51% ซึ่ง จ.นครราชสีมา ได้รับอิทธิพลจากพายุวิภาน้อยมาก มีเพียงลมแรงและฝนตกเล็กน้อยเท่านั้น และปัจจุบันลมเริ่มสงบ พายุเคลื่อนไปทางภาคเหนือและอีสานตอนบนแล้ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการพร่องน้ำจากอ่างฯ ที่มีน้ำเกิน 80% เช่น อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ่างเก็บน้ำห้วยยางพะไล และอ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด เพื่อรองรับน้ำใหม่ช่วงปลายฤดูฝน
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน ได้พร่องน้ำเหลือประมาณ 50% เพื่อเพิ่มศักยภาพการรับน้ำในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมนี้ ขณะเดียวกัน การส่งน้ำเพื่อการเกษตรฤดูนาปี สามารถส่งได้เต็มพื้นที่และมีเพียงพอในฤดูฝนนี้ ส่วนฤดูแล้งหน้า คาดว่า จะมีน้ำประมาณ 40-50% ของความจุ และสามารถใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในอ่างห้วยบ้านยาง ที่มีน้ำราว 29% ซึ่งเพียงพอสำหรับการประปาในพื้นที่ใกล้ตัวเมือง”
ด้านนายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวว่า “อ่างเก็บน้ำลำตะคองขณะนี้ มีน้ำประมาณ 65 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นราว 21% ของความจุ แม้พายุวิภาจะผ่านเข้ามา แต่ยังไม่มีผลต่อบริเวณเขาใหญ่ ต้นกำเนิดของลำตะคอง จึงทำให้น้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อย เมื่อดูตามสถิติที่ผ่านมา คาดว่า ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม จะเป็นช่วงที่น้ำไหลเข้าอ่างฯ มากที่สุด
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ลำดับแรกคือน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค มีการส่งน้ำให้ประปาตลอดสายลำตะคองครอบคลุมทุกระดับ จากนั้น เป็นน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและอุตสาหกรรม ส่วนภาคเกษตรกรตอนนี้ส่วนใหญ่ใช้น้ำฝนในการทำนา และได้มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับจังหวัดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน โดยเฉพาะการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ทั้งยังเร่งพัฒนาโครงสร้างเพื่อระบายน้ำออกจากเมืองให้เร็วที่สุด
ขณะที่นายมารุต กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา ยังมีความต้องการน้ำอย่างมาก เนื่องจากช่วงนี้ยังไม่เข้าสู่ฤดูเติมน้ำลงเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคองที่ปริมาณน้ำยังต่ำ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ก็ยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก ตนได้ประสานงานกับกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงสำนักงานชลประทานภาคที่ 8 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามความพร้อมในการรับมือพายุ และได้รับข้อมูลว่าน้ำยังมีเพียงพอ ทั้งเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค สำหรับภาคเกษตรยังมีน้ำในระบบชลประทานรองรับอย่างเพียงพอ ขณะที่น้ำกินน้ำใช้ก็ยังมีเหลือพอ
โดยเฉพาะจาก 3 เขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ ตนขอให้ประชาชนอุ่นใจได้ และขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดตามความเหมาะสม พร้อมกันนี้ พรรคกล้าธรรมยังได้เร่งประสานงานกับกระทรวงที่ดูแล เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมการช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ นอกจากนี้ ยังผลักดันโครงการ “โคราชเฟิร์ส” เพื่อส่งเสริมการบริโภคพืชผลในท้องถิ่นก่อนส่งออกไปยังจังหวัดอื่น และติดตามสถานการณ์ราคาพืชผลที่ตกต่ำ เพื่อประสานงานกับรัฐบาลดูแลเกษตรกรอย่างต่อเนื่องด้วย”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ลำตะคอง วิกฤต พายุวิภา ไม่ช่วยเติมน้ำ เหลือ 21% หวัง กันยา-ตุลา หวัง มีพายุลูกใหม่
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th