ผู้ว่าฯชัชชาติชวนคนกรุงลงทะเบียนแยกขยะก่อนทิ้ง ยอดล่าสุด138,000 หลัง
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายประพาส เหลืองศิรินภา ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 2 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง
ผู้ว่าฯ กทม. เน้นย้ำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2568 ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2568 แบบครอบคลุมทุกพื้นที่ และเข้าถึงประชาชนทุกครัวเรือน
พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนทุกครัวเรือน ทั้งที่มีความประสงค์ร่วมคัดแยกขยะ และยังไม่พร้อมคัดแยกขยะ ให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม โดยลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY ซึ่งแอปนอกจากจะชำระค่าธรรมเนียมขยะผ่านคิวอาร์โค้ดได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังสามารถตรวจสอบรายการใบแจ้งหนี้ ประวัติการชำระเงิน แสดงรายการข้อมูลบ้าน แก้ไขพิกัดบ้าน แจ้งข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ร่วมลงทะเบียนมากมาย
อีกทั้งเพื่อให้ กทม. มีฐานข้อมูลการจัดการขยะภายในครัวเรือนของประชาชนในกรุงเทพฯ สำหรับเป็นข้อมูลวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะในอนาคต ซึ่งในขณะนี้ (22 ก.ค. 68) มีจำนวนบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 138,147 หลังคาเรือน
สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวมล่วงหน้าไว้แล้ว ในวันที่ 1 ส.ค. 68 แอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY จะแจ้งเตือนให้ส่งภาพการคัดแยกขยะ 4 ประเภท ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย (ถ้ามี) และขยะทั่วไป จากนั้นระบบและเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องของการคัดแยกขยะ และแจ้งผลการลงทะเบียนยืนยันการรับสิทธิลดค่าธรรมเนียม ซึ่งจะปรับขึ้นในเดือน ต.ค. 68 เป็น 60 บาท/เดือน เหลือจ่ายเดือนละ 20 บาท/เดือน ในส่วนของประชาชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถสมัครได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับให้ตรวจสอบระบบการลงทะเบียนให้พร้อมรองรับและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยสามารถลงทะเบียนได้ 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 1. ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY 2. เว็บไซต์ BKK WASTE PAY 3. ลงทะเบียนโดยเจ้าหน้าที่ ณ ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขต และ 4. ลงทะเบียนโดยเจ้าหน้าที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะที่บ้าน หรือ เจ้าหน้าที่ Handheld
ซึ่งการลงทะเบียนวิธีที่ 3 และ 4 จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟน พร้อมให้สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต เร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจแก่กลุ่มผู้ประกอบการ เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ที่มีปริมาณขยะมากกว่า 20 ลิตร/วัน ซึ่งจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมขยะในอัตราใหม่ที่มีการปรับขึ้นกว่า 3 เท่า แต่หากมีการคัดแยกขยะและสามารถลดปริมาณขยะลงได้ ให้แจ้งสำนักงานเขตในพื้นที่เขตเข้าประเมินปริมาณขยะภายในเดือน ก.ย. นี้ ก่อนที่จะบังคับใช้อัตราค่าธรรมเนียมใหม่ในเดือน ต.ค. 68