เปิดผลงาน สุดยอดภาพถ่ายฝีมือคนไทย เนบิวลาสะท้อนแสง หาชมยาก คล้ายตุ๊กแกในอวกาศ
เปิดผลงาน สุดยอดภาพถ่ายฝีมือคนไทย เนบิวลาสะท้อนแสง หาชมยาก คล้ายตุ๊กแกในอวกาศ ใช้เวลาบันทึกภาพกว่า 35 ชั่วโมง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ประกาศผลการตัดสินการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำปี 2568 หัวข้อ มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ เผยภาพถ่าย “Red Riding Lacert” “Lunar Occultation of Saturn 2024”
“Sun in Hydrogen Alpha with DIY Spectroheliograph” “น้ำตกห้วยเลา ทางช้างเผือก ดาวศุกร์ ดาวหาง C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS)” “Aurora Australis with the Magellanic Clouds” และภาพเคลื่อนไหว "Pure VDO Comet A3" เป็นสุดยอดผลงานภาพถ่ายและวิดีโอประจำปี 2568
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ รักษาการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เปิดเผยว่า ในปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 500 ผลงาน สะท้อนการเติบโตของวงการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านจำนวนผู้เข้าร่วมและคุณภาพของผลงานที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน ภาพถ่าย "ดาวหาง" ส่งเข้าประกวดจำนวนมากเป็นพิเศษ แสดงให้เห็นถึงความสนใจและการติดตามข่าวสารด้านปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น
รวมถึงการนำความรู้ด้านดาราศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับเทคนิคถ่ายภาพและประมวลผลภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผลงานที่ส่งเข้ามานั้นทั้งสวยงามและมีคุณค่าเชิงวิชาการ การแข่งขันในปีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งปีที่เข้มข้นและท้าทายคณะกรรมการอย่างยิ่ง ด้วยฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลล้วนมีความโดดเด่นและน่าประทับใจ หนึ่งในนั้นคือภาพ “Red Riding Lacerta” โดยนายวชิระ โธมัส เจ้าของรางวัลชนะเลิศในประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Object) เป็นภาพเนบิวลาสะท้อนแสงที่หาชมได้ยาก มีรูปร่างคล้ายตุ๊กแกในอวกาศ ผู้ถ่ายใช้เวลาบันทึกภาพรวมกว่า 35 ชั่วโมงในหลากหลายช่วงความยาวคลื่น ทำให้ได้ภาพที่เต็มไปด้วยรายละเอียด สวยงาม และทรงพลัง
เปิดผลงาน สุดยอดภาพถ่ายฝีมือคนไทย เนบิวลาสะท้อนแสง หาชมยาก คล้ายตุ๊กแกในอวกาศ
สำหรับประเภทวัตถุในระบบสุริยะ มีความพิเศษด้านเทคนิคและอุปกรณ์ในการถ่ายภาพ ทำให้ภาพ “Sun in Hydrogen Alpha with DIY Spectroheliograph” โดยนายธีรวัฒน์ เสถียรกาล คว้ารางวัลชนะเลิศ ด้วยการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ในช่วงคลื่นไฮโดรเจน-อัลฟา ร่วมกับอุปกรณ์ “DIY Spectroheliograph” ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นเอง
สามารถกรองแสงแคบเฉพาะช่วงและแสดงรายละเอียดของดวงอาทิตย์ได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งเปลวสุริยะ แกรนูล (Granule) จุดมืด (Sunspot) และความปั่นป่วนของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในด้านเทคนิคและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการถ่ายภาพดาราศาสตร์อย่างสร้างสรรค์
อีกหนึ่งผลงานที่สร้างความประทับใจอย่างมากคือภาพ “Aurora Australis with the Magellanic Clouds” โดยนายพรเทพ เบญญาอภิกุล ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ภาพนี้ถ่ายด้วย “โทรศัพท์มือถือ” แต่สามารถบันทึกแสงใต้ (Aurora Australis) สีเขียวและแดง เสาแสง (Light Pillar)
รวมถึงวัตถุท้องฟ้าสำคัญของซีกโลกใต้ ได้แก่ เมฆแมคเจลแลนใหญ่ เมฆแมคเจลแลนเล็ก และดาวคาโนปุส ได้อย่างงดงาม แสดงให้เห็นว่าหัวใจรักในดาราศาสตร์และมุมมองที่เฉียบคมสามารถสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์ราคาแพง
ทั้งนี้ ดาวน์โหลดไฟล์ภาพถ่ายทั้งหมดที่ได้รับรางวัล https://bit.ly/NARIT-Astrophotography-Contest-2025 สำหรับผู้สนใจส่งผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์เข้าร่วม ติดตามข่าวสารการประกวดในปีถัดไปได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิดผลงาน สุดยอดภาพถ่ายฝีมือคนไทย เนบิวลาสะท้อนแสง หาชมยาก คล้ายตุ๊กแกในอวกาศ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th