ปลดล็อก “ไร้สัญชาติ” 1.4 แสนราย รัฐย้ำไม่ครอบคลุมแรงงานต่างด้าว
ครม. เร่งปลดล็อก “ไร้สัญชาติ” 1.4 แสนราย ตามมติครม.
น.ส. ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาสัญชาติ ตามมติ ครม. วันที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยประกาศหลักเกณฑ์ให้คนเกิดในราชอาณาจักรแต่ยัง “ไร้สัญชาติ” ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2568
กลุ่มเป้าหมาย “ชนกลุ่มน้อย/ชาติพันธุ์” เฉพาะที่อยู่ในไทยมานาน
- กลุ่มเป้าหมายราว 140,000 คน เป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติไว้ก่อนแล้ว มีข้อมูลภาพถ่าย ลายนิ้วมือ และเลข 13 หลักขึ้นต้น 5, 6 หรือ 8
- ครอบคลุมบุตรหลานที่เกิดในไทยของผู้ถือบัตรสีชมพู กลุ่มเลข 6 - 50 ถึง 6 - 72 และผู้ถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (ขึ้นต้น 5 หรือ 8)
- รวมถึงผู้ที่อยู่ในทะเบียนประวัติ “บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน” ตามมติ ครม. 18 ม.ค. 2548 เช่น ชาวมอร์แกน (เลขบัตรขึ้นต้น 0 และหลักที่ 6–7 เป็น 89)
ย้ำไม่ครอบคลุมแรงงานต่างด้าว - ผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิง
รัฐบาลย้ำว่ามาตรการนี้ ไม่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ ผู้มีสัญชาติอื่น หรือผู้หนีภัยในค่ายพักพิง แต่เป็นการแก้ปัญหาสิทธิสถานะของคนที่เกิดและเติบโตในไทยมาอย่างยาวนาน โดยมีหลักเกณฑ์ “เข้มงวด‑ตรวจสอบได้” เพื่อลดช่องโหว่ในการสวมสิทธิ
ยกระดับคุณภาพชีวิตบนหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นโยบายดังกล่าวจะเปิดทางให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสวัสดิการรัฐ การศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ พร้อมยืนยันเดินหน้ากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การให้สัญชาติไทยเป็นไปอย่างโปร่งใส และเกิดประโยชน์กับผู้มีสิทธิอย่างแท้จริง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดรับคำร้องขอสัญชาติไทยให้คนต่างด้าว 2 กลุ่ม ใครบ้างมีสิทธิ ?
- นายกฯ มอบบัตรปชช. กลุ่มชาติพันธุ์เชียงราย ย้ำความเสมอภาค - มีศักดิ์ศรี
- ศบ.ทก. แจงปมเหตุวุ่นชายแดน เจรจากัมพูชาต่อเวลาเปิดด่าน เดินทางกลับปท.แล้ว 722 คน
- นายกฯ ชี้แจงไร้แนวคิดไล่แรงงานต่างด้าว ย้ำดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนเคร่งครัด
- จับสลาก “บ้านเพื่อคนไทย” โอกาสใหม่ หรือความหวังที่ยังต้องรอลุ้น?