อันตราย "เด็กเล็ก-ผู้สูงวัย" เสี่ยงวิกฤตร้ายแรงจาก RSV และไข้หวัดใหญ่
ซาโนฟี่ ประเทศไทย สนับสนุนจัดเวทีเสวนาด้านสุขภาพ Health Talk ในงาน Thailand Healthcare 2025 ภายใต้หัวข้อ "เด็กเล็กติดง่าย ผู้สูงวัยเสี่ยงหนัก : ทำความรู้จักอาร์เอสวีและไข้หวัดใหญ่" ซึ่งไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus - RSV) เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มอายุแรกเกิดจนถึง 2 ปี สามารถติดต่อได้ผ่านการไอ จาม และการสัมผัส
ไวรัสอาร์เอสวีในเด็ก
เด็กทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและจะต้องเคยติดเชื้อ RSV อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิตก่อนอายุ 5 ขวบ และ 90% ของเด็กจะติดเชื้อ RSV ภายใน 2 ขวบปีแรกถึง 50% ของเด็กที่ติดเชื้อภายในขวบปีแรก
โดยการระบาดของเชื้ออาร์เอสวีส่วนใหญ่เป็นตามฤดูกาล ในประเทศไทยการระบาดจะเริ่มเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และระบาดสูงสุดในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม
ส่วนคนในบ้านสามารถนำเชื้อมาสู่เด็กเล็กได้ แม้จะอยู่แต่ในบ้านก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ และมักมีอาการรุนแรงจนต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการของอาร์เอสวีในเด็กที่ควรสังเกต คือ ไอ หอบเหนื่อย มีเสมหะเหนียว และไข้สูง 1 ใน 3 ของเด็กเล็กที่ติดเชื้ออาร์เอสวีจะมีอาการรุนแรงลามลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ เนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กอายุน้อยมีขนาดเล็ก
ประเด็นสำคัญคือ เชื้ออาร์เอสวียังไม่มียารักษาจำเพาะ เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันก่อนเกิดโรค โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 เดือน
รศ.พญ.โสภิดา บุญสาธร รีฟส์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในกลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ไม่ว่าจะเกิดมาแข็งแรงดี ครบกำหนด คลอดก่อนกำหนด หรือมีโรคประจำตัว ล้วนมีโอกาสที่จะติดเชื้ออาร์เอสวีได้ และอาจเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องเข้ารักษาในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต และอาจเสียชีวิตได้เช่นกัน
แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปอาร์เอสวี ซึ่งไม่ใช่วัคซีนแต่เป็นการฉีดแอนติบอดีเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ทำให้สามารถป้องกันโรคได้ทันที ข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันประสิทธิภาพสูง
ได้แก่ ลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ถึง 79.5% และลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้ออาร์เอสวีโดยรวมได้ถึง 83.2% นอกจากนี้ ยังลดระยะเวลาการเข้ารับการรักษา และลดโอกาสการเข้ารับการรักษาตัวในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤตได้ถึง 75.3%
ดังนั้น เพื่อปกป้องเด็กไทยจากโรคติดเชื้ออาร์เอสวี ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงออกแนวทางการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเนอร์ซีวิแมบ (Nirsevimab)1 แนะนำในทารกแข็งแรงดีทุกรายที่อายุต่ำกว่า 8 เดือน และอาจพิจารณาให้ในทารกแข็งแรงดีที่อายุ 8-12 เดือน
ควรเริ่มฉีดก่อนเข้าฤดูกาลระบาดของอาร์เอสวี ช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปี สำหรับทารกที่เกิดในระหว่างช่วงฤดูกาลระบาดของอาร์เอสวี ควรได้รับเนอร์ซีวิแมบโดยเร็วที่สุดหลังคลอด ภูมิคุ้มกันจะขึ้นทันทีตั้งแต่ได้รับเนอร์ซีวิแมบ และปกป้องลูกน้อยได้อย่างน้อย 6 เดือนตลอดฤดูกาลระบาด
ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง เพียงแค่ 6 เดือนแรกของปี 2568 มีผู้ป่วยมากกว่า 3.7 แสนราย และเสียชีวิตถึง 51 ราย กลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดคือผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันถดถอยและมักมีโรคร่วม
การป้องกันโดยการเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มักระบาดในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูหนาว จึงขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับวัคซีนได้ทันที เพราะในผู้สูงอายุมีหลายปัจจัยที่ทำให้เวลาเกิดโรคติดเชื้อรุนแรงกว่าปกติ ปัจจัยแรก จากภาวะภูมิคุ้มกันถดถอย ภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่ออายุเยอะขึ้นทำให้ติดเชื้อง่าย หรืออาการรุนแรงกว่าคนหนุ่มสาว
ปัจจัยที่สอง คือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคปอดเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จึงทำให้โรคนั้น ๆ กำเริบ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่จะแตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่มีความรุนแรงมากกว่า ผู้ป่วยมักมีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลียมาก อาจลงปอด และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่มี 2 แบบ คือ ขนาดมาตรฐาน (standard dose) ที่ฉีดได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และขนาดสูง (high dose) ที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยวัคซีนขนาดสูงมีปริมาณแอนติเจนสูงกว่าขนาดมาตรฐานถึง 4 เท่า ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีกว่าในกลุ่มผู้สูงอายุ
ข้อมูลการศึกษาพบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดขนาดสูงมีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนขนาดมาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถลดโอกาสการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มขึ้น 24% ลดการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลได้เพิ่มขึ้น 64% และลดอัตราการเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับวัคซีนขนาดมาตรฐาน2 วัคซีนขนาดสูงนี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ในแถบอเมริกาและยุโรปมานานกว่า 10 ปี มากกว่า 200 ล้านโดส สะท้อนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย
ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และกรมควบคุมโรคของไทย ยังยืนยันว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบ 3 สายพันธุ์ หรือ 4 สายพันธุ์ ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของการป้องกัน เนื่องจากสายพันธุ์ B/Yamagata ซึ่งเคยรวมอยู่ในวัคซีนแบบ 4 สายพันธุ์นั้นไม่พบการระบาดอย่างมีนัยสำคัญมาเกือบ 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ จึงเพียงพอสำหรับการป้องกันในปัจจุบัน