ย้อนเรื่องราวและความสำเร็จ ก่อน ‘The Devils Wears Prada 2’ มา
“That’s all.” คำติดปากสุดฮิตจาก Miranda บรรณาธิการของนิยตสารแฟชั่นอันดับ 1 ‘RUNWAY’
หลังสร้างความฮือฮาให้แฟนๆ ตั้งแต่ประกาศว่าจะมีการทำภาคต่อของภาพยนตร์สุดไอคอนิก ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง ‘20th Century Studios’ ก็ปล่อยทีเซอร์แรกของ The Devil Wears Prada 2 ออกมาเรียกน้ำย่อย พร้อมแอบสปอยเบาๆ ว่า ‘เตรียมจิกส้นสูงไปอินกันปีหน้า’
ตามมาด้วยข่าวว่านักแสดงนำชุดเดิมอย่าง Meryl Streep, Anne Hathaway, Emily Blunt, และ Stanley Tucci จะกลับมารับบทเดิมอีกครั้ง ร่วมด้วยนักแสดงใหม่ฝีมือเก๋าอย่าง Kenneth Brannaugh, Lucy Liu, Justin Theroux, B.J. Novak, Pauline Chalamet และอีกมากมาย
และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยภาพจากกองถ่าย The Devil Wears Prada 2 หนังภาคต่อที่ทุกคนต่างรอคอย กับภาพตัวละครหลักอย่าง ‘Andy Sachs’ ที่ได้ ‘Anne Hathaway’ กลับมารับบทนี้ครั้งในรอบ 19 ปี งานนี้ทำเอาแฟนต่างอดใจรอกันแทบไม่ไหว
แต่ก่อนไปเจอภาพยนตร์ The Devil Wears Prada 2 กันแบบเต็มๆ ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2026 นี้ อยากชวนทุกคนไปกลับไปทำความรู้จัก ‘The Devil Wears Prada’ อีกสักครั้ง อะไรที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นหนังที่ครองใจผู้ชมตลอดกาล
[มีการเผยแพร่เนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วน]
[เรื่องย่อ The Devil Wears Prada]
‘The Devil Wear Prada’ เข้าฉายในปี 2006 จากฝีมือการกำกับของ David Frankel หนังเรื่องนี้ที่ถูกดัดแปลงมาจากหนังสือของ Lauren Weisberger ซึ่งเป็นหนังสือขายดีและได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้อ่านทั่วโลก
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อ ‘Andy Sachs’ (แสดงโดย Anne Hathaway) เด็กจบใหม่ที่นิยมสวมเสื้อผ้าธรรมดาๆ ไม่สนใจแฟชั่นแม้แต่น้อย แต่ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยของ ‘Miranda Priestly’ (แสดงโดย Meryl Streep) บรรณาธิการของนิยตสารแฟชั่นอันดับ 1 RUNWAY ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สาวนับล้านใฝ่ฝัน ด้วยเป้าหมายแค่เพียงว่าจะเก็บเกี่ยวคอนเนคชั่นเท่านั้น
การทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยนี้ทำให้เธอไม่มีเวลาส่วนตัวเลยแม้แต่น้อย เพราะเธอยังต้องคอยจัดการงานจิปาถะและเรื่องส่วนตัวแทนทุกอย่างแทน Miranda ต้องปรับตัวกับวงการแฟชั่น รวมไปถึงกระทบกระทั่งกับ Emily ผู้ช่วยรุ่นพี่ Andy ได้เรียนรู้เบื้องหลังการทำงานในโลกแฟชั่นที่เธอเคยเหยียดหยาม เธอเปลี่ยนแปลงตัวเอง และก้าวหน้าในอาชีพจนแซงหน้า Emily เป็นผู้ช่วยเบอร์ 1 ที่ได้ไปปารีสแฟชั่นวีคเคียงข้าง Miranda แต่เพื่อนๆ รอบข้างกลับรู้สึกว่า Andy ได้กลายเป็นคนตื้นเขินและเอาตัวเองเป็นใหญ่อย่างที่เธอเคยรังเกียจ
ในขณะเดียวกันวิกฤตใหญ่กำลังจะมาถึงตัว Miranda เสี่ยงที่จะถูกปลดจากการเป็นบรรณาธิการของ Runway แต่เธอก็เอาตัวรอดไปได้ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยทำให้ความฝันของ Nigel อาร์ตไดเรกเตอร์ของนิตยสาร พังทะลายลงก็ตาม Andy ต่อว่า Miranda เรื่องทีเธอทรยศ Nigel แต่กลับโดนสวนมาว่าเธอก็ทำไม่ต่างกันตอนที่เบียด Emily มาปารีสแฟชั่นวีค ซึ่งทำให้ Andy ตัดสินใจลาออก เพราะเธอไม่อยากกลายเป็นคนแบบเดียวกันกับ Miranda และโยนโทรศัพท์ทิ้งน้ำพุเมื่อ Miranda โทรตาม
เมื่อ Andy กลับมาเคลียร์ความสัมพันธ์ของเธอและ Nate ยกเสื้อผ้าจากปารีสให้กับ Emily และไปสมัครงานที่หนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง เธอพบว่า Miranda พูดว่าพวกเขาจะโง่มากถ้าไม่รับ Andy เข้าทำงาน ทิ้งเรื่องราวไว้ให้เราได้ลุ้นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ผ่านยุครุ่งเรืองของนิตยสารแล้ว Miranda, Andy, Emily และ Nigel จะกลับมาด้วยความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร
[ก่อนจะเป็นทีมนักแสดงในตำนาน]
The Devil Wears Prada และทีมนักแสดงกลายเป็นขวัญใจของผู้ชม แต่รู้หรือไม่ว่าเราเกือบไม่ได้เห็นนักแสดงที่เรารักในบทสุดไอคอนิกเหล่านี้
เพราะ Meryl Streep ที่หลายคนคงคิดว่าไม่มีบทไหนที่เธอเล่นไม่ได้ แต่ในทีแรก เธอเกือบจะไม่ได้รับบทนี้ Wendy Finermanโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ บอกว่าหลายคนพูดว่าเขาบ้าที่จะเลือก Meryl มารับบทเพราะเธอไม่ใช่คนตลกเลยสักนิด แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าการเลือก Meryl มารับบทบรรณธิการสุดเฮี้ยบนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ Devil Wears Prada เป็นตำนานมาจนทุกวันนี้
[The Devil Wears Prada หนังที่ครองใจผู้ชมตลอดกาล]
The Devil Wears Prada เป็นหนังขวัญใจของใครหลายคน ที่ต้องเลือกกลับมาวนดูซ้ำๆ แม้จะผ่านมาเเล้วเกือบ 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษ แต่ยังคงสร้างอิมเเพ็กไว้อย่างไม่รู้จบ จนกลายเป็นไอคอนิกแห่งยุค 2000 ไปเป็นที่เรียบร้อย
ตัวละครจากเรื่องนี้กลายเป็นอีกภาพจำที่ตรึงใจของ ทีมนักแสดง ‘Meryl Streep’ กับบทบาทของ Miranda และ ‘Anne Hathaway’ ในบท Andy รวมไปถึง Emily Blunt กับบทบาทของ Emily Charlton ที่มักจะเข้ามาสร้างสีสันเสมอ
ด้านแฟชั่นก็ไม่ต่างกัน ด้วยภาพยนตร์ที่เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานในวงการแฟชั่น เหมือนเป็นการทลายกรอบให้คนทั่วไปเข้าใจวงการนี้ได้มากยิ่งขึ้น และกลายเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งตัวของใครหลายคนที่เพิ่งเข้าสู่วงการทำงาน จนส่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ไอคอนิกแห่งยุค
เพลงประกอบเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของ The Devil Wears Prada ด้วยแนวเพลงที่หลากหลาย และจับภาพเทรนด์ของยุค 2000 ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Suddenly I See ของ KT Tunstall ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นฉากเปิดเรื่อง, Vogue และ Jump ร้องโดย Madonna หรือ City of Blinding Lights ของ U2 เเละอีกมากมาย
มีมก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังคงอยู่ในสายตาของคนสมัยนี้อยู่เสมอ และยังคงถูกหยิบมาใช้ต่อเนื่อง ทั้งมีมภาพนั่งปาดน้ำตาของ Emily พร้อมพูดประโยค “I love my job. I love my job. I love my job.” หรือแม้กระทั่งมีม Miranda คุยโทรศัพท์ท่ามกลางพายุเบื้องหลัง และอีกมากมาย กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทั้งขำ ทั้งจิกกัด และยังสะท้อนความเป็น The Devil Wears Prada ได้อย่างเหนือชั้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า The Devil Wears Prada ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังที่สะท้อนชีวิตเการทำงานในวงการนิตยสารแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นความทรงจำ และกลายเป็นภาพายนตร์ที่สร้าแรงบันดาลใจ ไปจนถึงงานในฝันให้กับคนยุคนั้นไม่น้อย
.
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/articles/cwyk31z2zxyo
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Devil_Wears_Prada_(film)
https://www.cinemablend.com/movies/quotes-the-devil-wears-prada