จากติดลบ สู่กำไรหมื่นล้าน จับตา ‘การบินไทย’ คัมแบ็ค เข้าเทรดวันแรกแบบไร้เพดาน
“ถ้าเรามองวิกฤติเป็นวิกฤตก็คงรอดยาก แต่ถ้ามองวิกฤติให้เป็นโอกาส เราจะพยายามทำทุกทางให้มันดีขึ้น และวันนี้ที่กลับมาเราเชื่อว่าเราจะบินได้ไกลและสูงกว่าเดิม” คำพูดของ ‘ลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
หลังผ่านพายุครั้งใหญ่มาได้ วันนี้การบินไทยหรือ THAI กำลังกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2568 หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว
[ ใช้เวลาฟื้นฟูเพียง 4 ปี ]
การบินไทยใช้เวลาเพียง 4 ปี ในการดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จครบทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางอนุมัติแผนในปี 2564
ผลลัพธ์ชัดเจนมากขึ้นในปี 2567 การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนหักต้นทุนทางการเงินและไม่รวมรายการพิเศษ) สูงถึง 41,515 ล้านบาทและในไตรมาสแรกของปี 2568 ก็ยังเติบโตต่อเนื่อง
ด้วยกำไรจากการดำเนินงาน 13,661 ล้านบาทคิดเป็น EBIT margin 26.5% — สูงที่สุดในกลุ่มสายการบินแบบ Full-Service ทั้งในเอเชียแปซิฟิกและยุโรป (อ้างอิง: Airline Weekly) แสดงให้เห็นว่าการบินไทยกลับมาบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
ในครั้งนี้ การบินไทยกลับมาพร้อมกับ คณะกรรมการชุดใหม่ 11 คน ในจำนวนนั้น มี 3 คนที่เคยเป็นกรรมการอยู่ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู
และ 2 ใน 3 คนนี้ ก็เคยเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีกรรมการใหม่อีก 8 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้น ผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เรียกว่า Board Skills Matrix
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อช่วยดูแลด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้คือทีมบริหารใหม่ ที่พร้อมนำพาการบินไทยก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และโปร่งใส
[ กลับมาอยู่ในจุดที่แข็งแกร่ง ]
ในด้านสถานะของบริษัทในวันนี้ถือว่าอยู่ในจุดที่ดีที่สุดในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงิน ประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยเฉพาะสถานะทางการเงินตอนนี้การบินไทยมีฐานะทางการเงินดีขึ้นมาก รายได้เพิ่ม กำไรดี และมีแผนชำระหนี้ชัดเจน
- ปี 2567 การบินไทยมีรายได้กว่า 187,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงานกว่า 41,000 ล้านบาท
- ไตรมาสแรกของปี 2568 ก็ยังดีต่อเนื่อง รายได้ 51,000 ล้านบาท กำไร 13,000 ล้านบาท เครื่องบินเต็มลำเฉลี่ย 83%
- การบินไทยสามารถเปลี่ยนหนี้ที่ค้างอยู่เป็นทุน และระดมเงินจากผู้ถือหุ้นและพนักงานได้รวมกว่า 76,000 ล้านบาท ทำให้ส่วนของบริษัทที่เคยติดลบ ตอนนี้กลับมาเป็นบวก
- อัตราหนี้ต่อทุนลดลงเหลือแค่ 2.2 เท่า จากเดิมที่เคยสูงถึง 12.5 เท่า
นอกจากนี้การบินไทยสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้โดย ไม่ต้องลดมูลค่าหนี้ (No Haircut) สำหรับเจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและการค้า โดยบริษัทฯ ได้กำหนดแผนชำระหนี้ไว้อย่างชัดเจนจนถึงปี 2579
ที่สำคัญปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสด (Cash Flow) ในมือประมาณ 125,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการลงทุนในระยะ 5 ปี (2568 – 2570) โดยไม่แผนกู้เงินใหม่แต่จะมีการหารือกับธนาคารเพื่อบริหารความเสี่ยง
[ กำหนดแผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี ]
การเติบโตของการบินไทยในตอนนี้ ไม่ใช่แค่ผลจากการฟื้นตัวหลังโควิด-19 เท่านั้น แต่เป็นผลจากการปรับโครงสร้างองค์กรและวางกลยุทธ์ระยะยาวอย่างจริงจังในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าใช้เงินลงทุนราว 170,000 ล้านบาท ดังนี้
–จัดหาเครื่องบินใหม่ ประมาณ 120,000 ล้านบาท โดยจะทยอยชำระค่าเครื่องบิน และทยอยส่งมอบ
-ปรับปรุงที่นั่งและภายในห้องโดยสารเครื่องบิน ประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
-ลงทุนในระบบดิจิทัลต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีและมีมาตรฐานมากขึ้น
-ศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) ใช้ลงทุน 400 ล้านบาทสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงที่สุวรรณภูมิและดอนเมือง และหากได้รับอนุมัติโครงการ MRO ที่อู่ตะเภา จะมีการลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมงบลงทุน 5 ปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนและตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 26% เป็น 35% ภายในปี 2572 และปูทางให้การบินไทยกลายเป็นหนึ่งในผู้นำสายการบินระดับภูมิภาคในอนาคตอย่างยั่งยืน
[ พร้อมเทรด 4 ส.ค.นี้ แบบไร้เพดาน ]
หุ้นการบินไทย (THAI) จะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2568 โดยในวันแรกของการเทรด จะไม่มีการกำหนดราคาสูงสุด-ต่ำสุด (Ceiling & Floor) รวมถึงไม่มีการใช้ Dynamic Price Band และ Auto Pause ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดเต็มรูปแบบ ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน
สำหรับการประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) มีการประเมินเบื้องต้นโดยใช้กำไรต่อหุ้น (EPS) ย้อนหลัง 12 เดือน ณ ไตรมาส 1/2568 ที่อยู่ที่ 1.08 บาท เมื่อเทียบกับราคาเพิ่มทุนที่ 4.48 บาท จะได้ค่า P/E (Price to Earnings Ratio) ประมาณ 4.1–4.2 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่อยู่ที่ 6–7 เท่า สะท้อนว่า THAI ยังมีโอกาสในการเติบโตของราคาในอนาคต
อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มครึ่งปีหลัง เรื่องของราคาน้ำมันยังคงเป็นความเสี่ยงหลัก เนื่องจากเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจการบิน แต่การบินไทยได้มีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงด้านนี้ไว้อย่างรัดกุม จึงคาดว่าผลกระทบจะอยู่ในระดับจำกัด
ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทยังเชื่อมั่นว่า ผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังจะยังเติบโตต่อเนื่อง จากยอดขายตั๋วล่วงหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น และการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ