สวทช. และ NAFRI ลงนาม MOU ร่วมมือด้านวิชาการและวิจัย เพื่อความยั่งยืนด้านเกษตรในภูมิภาค
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ National Agriculture and Forestry Research Institute (NAFRI) จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ณ อาคารไบโอเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยสาขาการเกษตรและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในระดับภูมิภาค
ภายในพิธีลงนาม ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวต้อนรับ และ Dr. Phetmanyseng Xangsayasane, Director General of NAFRI กล่าวเปิดงาน นอกจากนี้ Mr. Toulakham Phomsengsavanh, Counsellor (Economic and Commercial) ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย ได้เข้าร่วมแสดงความยินดีในความร่วมมือครั้งนี้ด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรองกล่าวว่า NAFRI ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักที่สำคัญของไบโอเทค สวทช. ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งในระดับการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัย และโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ นำไปสู่การขยายผลประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาค เช่น โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง ที่ สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ NAFRI ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุล (Marker Assisted Selection) มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในปัจจุบันของประเทศในเขตลุ่มน้ำโขง โครงการประสบผลสำเร็จทั้งเรื่องการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์จาก NAFRI รวมถึงสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะตรงตามความต้องการของ สปป.ลาว เช่น ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 1 ข้าวเจ้าเซบั้งไฟ 2 และเซบั้งไฟ 3 และหอมเซบั้งไฟ 4 เป็นต้น
นอกจากนี้ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันยังได้ขยายจากงานวิจัยด้านข้าวไปสู่งานวิจัยด้านมันสำปะหลัง และความหลากหลายทางชีวภาพ โดย MOU ฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี เพื่อสานต่อความร่วมมือเดิมและขยายผลไปสู่สาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสุขภาพสัตว์
Dr. Phetmanyseng Xangsayasane ผู้อำนวยการ NAFRI กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง NAFRI และไบโอเทค สวทช. ที่ผ่านมา นำมาสู่ความสำเร็จในการพัฒนาข้าวเหนียว 10 สายพันธุ์ และข้าวเจ้า 4 สายพันธุ์ ที่ทนทานต่อน้ำท่วมและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยนอกเหนือจากข้าวแล้ว การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ยังจะขยายไปยังความร่วมมืออื่น ๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น ทั้งเรื่องการวิจัยเห็ด ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัคซีนสัตว์
ด้าน Mr. Toulakham Phomsengsavanh, Counsellor (Economic and Commercial) ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายในการพัฒนาวิทยาศาสตร์การเกษตรร่วมกันอย่างยั่งยืน และจะช่วยส่งเสริมขยายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
การลงนาม MOU ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการผนึกกำลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเกษตรของภูมิภาค ซึ่งจะนำมาซึ่งความมั่นคงในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO