โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เลิกมองสั้น หนังสือที่ผู้นำรัฐบาลควรอ่าน

THE STANDARD

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • thestandard.co
เลิกมองสั้น หนังสือที่ผู้นำรัฐบาลควรอ่าน

ประเทศไหนที่มีผู้บริหารประเทศไร้วิสัยทัศน์ ขาดภาวะผู้นำ และไม่มีความรู้ความสามารถในการจัดการกับวิกฤตต่างๆ ที่รุมล้อมประเทศชาติ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมือง นับเป็นปมสำคัญทำให้ประเทศต้องย่ำอยู่กับที่ อยู่ไปวันๆ แบบไร้ทิศทาง และจมอยู่ในวังวนของปัญหาเดิมๆ

โดยเฉพาะในยุคที่โลกปั่นป่วน สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูง ผู้บริหารประเทศต้องเลิกมองสั้น ควรเรียนรู้ศาสตร์แห่งการเป็นผู้นำให้มากกว่านี้ และควรเติมอาหารสมองเรียนรู้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาวิกฤตชาติของผู้นำในประเทศอื่นด้วย ควรเรียนรู้ว่า ทำไมผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศ และมีการวางแผนระยะยาว รวมทั้งการลงมือทำอย่างจริงจัง จะสามารถนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤตและจัดการปัญหาต่างๆ ของชาติบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความนี้จึงขอแนะนำหนังสือที่ผู้นำรัฐบาลไทยควรอ่าน และมีหลายส่วนของหนังสือนี้ที่น่าจะนำไปปรับประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการบริหารประเทศ โดยคำนึงถึงบริบทภายในด้วย (ไม่ใช่การลอกเลียนแบบหรือก๊อปปี้ไปใช้ทั้งหมด เพราะระบบการปกครองและบริบทภายในของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน)

ดิฉันได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ‘Xi Jinping: The Governance of China’ ที่ได้รับการแปลมากกว่า 40 ภาษาทั่วโลก รวมทั้งเวอร์ชั่นที่แปลเป็นภาษาไทย ภายใต้ชื่อหนังสือว่า ‘สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ’ ซึ่งมี 2 เล่ม คือ เล่มแรก ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อมิถุนายน 2014 และเล่มที่สอง โดยศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน ตีพิมพ์เมื่อตุลาคม 2017 เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีหลายประเด็นที่ผู้นำรัฐบาลไทยควรเรียนรู้ สรุปดังนี้

ประเด็นแรก จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การชี้ให้เห็นว่า ผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ และมีการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ กรณีของผู้นำจีน ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2013 สีจิ้นผิงก็ได้ประกาศ ‘ความฝันของจีน’ (Zhong Guo Meng) และเป้าหมายในการ ‘ฟื้นฟูชาติ’ (Fuxing) ให้จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และสามารถเชื่อมโยงกับเป้าหมายระยะยาว รวมทั้งมีแผนปฏิบัติที่ต่อเนื่อง ไม่มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง ย่อมจะทำให้ประเทศสามารถเดินหน้าพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลงานเป็นรูปธรรมจับต้องได้

ประเด็นที่สอง ความกล้าหาญที่จะปรับโครงสร้างประเทศแบบยกเครื่องหรือการปฏิรูปเชิงระบบ แล้วลงมือทำอย่างจริงจัง ในกรณีของจีน สิ่งที่สีจิ้นผิงลงมือทำ คือ ‘การปฏิรูปเชิงลึกรอบด้าน’ (comprehensive deepening reform) ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น การลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี การขจัดความยากจน การมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนระบบราชการ และภาคการศึกษา เป็นต้น โดยจีนจะใช้วิธีทดลองในระดับท้องถิ่นก่อนจะขยายผลไปทั่วประเทศ ในหนังสือเล่มนี้ มีการบอกเล่าถึงกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในหลายท้องถิ่นของจีน

ดังนั้น บทเรียนสำหรับผู้นำรัฐบาลไทย คือ ต้องมีเป้าหมายอย่างชัดเจน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปเชิงระบบในลักษณะ structural reform แบบยกเครื่อง ไม่ใช่เป็นเพียงการปรับปรุงเล็กน้อย หรือการปรับแก้เฉพาะหน้าไปวันๆ ต้องไม่เป็นเพียงการลูบหน้าปะจมูก ทำงานแบบไร้ทิศทาง

ทั้งนี้ ภายใต้ระบบที่แตกต่างกับระบบแบบจีน หากภาครัฐของไทยจะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศ จำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจร่วมกับสังคมผ่านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ มากกว่าการใช้อำนาจสั่งการเท่านั้น

ประเด็นที่สาม ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) เนื้อหาในหนังสือยกตัวอย่างกรณีของจีนที่มีการขับเคลื่อน Green Transition ใช้นโยบายที่รัฐเป็นผู้นำและลงมือทำอย่างจริงจัง จึงเป็นอีกตัวอย่างของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ไทยควรเรียนรู้ และควรกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวระดับประเทศ ไม่ใช่แค่แผนระดับกระทรวง รวมทั้งการเน้นสร้างความเป็นเอกภาพในการดำเนินการ

หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ของผู้นำจีนในการมุ่งส่งเสริมการพัฒนาแบบ ‘ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม’ และผลักดันให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น คาร์บอนเครดิต การสร้างพลังงานหมุนเวียนระดับหมู่บ้าน เป็นต้น แนวคิดที่จีนได้ขยายผลอย่างเป็นระบบ และบรรจุในนโยบายระดับชาติและมีตัวชี้วัดเชิงบังคับให้ต้องทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น เป้าหมาย Carbon Neutrality และการสร้าง Green Development Zones เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาหลายบทที่เน้นว่า “ประเด็น Green Transition ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศอย่างครบวงจร” สีจิ้นผิงผลักดันให้มีการสร้าง ‘อารยธรรมเชิงนิเวศ’ (Ecological Civilization) เป็นหนึ่งในเป้าหมายของจีนยุคใหม่ เน้น ‘การเติบโตที่ไม่ก่อมลพิษ’ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหัวใจของการพัฒนา ในการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง รวมทั้งการร่วมมือระหว่างประเทศ

สีจิ้นผิงพูดถึงบทบาทของจีนในฐานะประเทศมหาอำนาจที่ต้องร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยกล่าวว่า “จีนจะดำเนินนโยบายที่รับผิดชอบต่อโลก ปกป้องสิ่งแวดล้อมร่วมกันกับนานาชาติ เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่สำหรับคนรุ่นหลัง”

ประเด็นที่สี่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ในกรณีของจีน สีจิ้นผิงได้เดินเกมใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือทางการทูตในเชิงรุกภายใต้ข้อริเริ่ม ‘Belt and Road Initiative: BRI’ หนังสือเล่มนี้รวบรวมคำกล่าวของสีจิ้นผิง แนวคิดและแนวนโยบายที่สีจิ้นผิงใช้สร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจและการทูตในมิติต่างๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอย่างเป็นระบบ ทำให้จีนมีความโดดเด่นในฐานะประเทศมหาอำนาจใหม่ของโลกเคียงคู่มหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ได้อย่างชัดเจน

บทเรียนสำหรับไทย แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศขนาดกลาง แต่ก็เป็นประเทศแถวหน้าในกลุ่มอาเซียน จึงสามารถเรียนรู้แนวทางหลายด้านจากหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และเน้นนโยบายสร้างเพื่อนใหม่ (Make Friends) ให้ครอบคลุมมากกว่านี้ ไม่จำกัดเพียงแค่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคหรือระดับอนุภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ควรขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มโลกขั้วใต้ (Global South) ให้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการกระจาย (diversify) การส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ผู้นำไทยสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของจีนด้านการต่างประเทศได้จากหนังสือเล่มนี้

ประเด็นสุดท้าย ข้อสังเกตจากหนังสือเล่มนี้ ในด้านการเมือง มีบางประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการตะวันตก โดยเฉพาะในเรื่องการกระชับอำนาจบริหาร แต่ผู้นำจีนก็พยายามสร้างความชอบธรรมผ่านผลงานที่เป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนจีนจำนวนมากยังคงให้การสนับสนุนผู้นำของตน

ตัวอย่างเช่น ความแน่วแน่ในการขจัดความยากจนในประเทศจีนได้สำเร็จ ช่วยให้ผู้ยากไร้ในชนบท 98.99 ล้านคนมีรายได้พ้นเส้นแบ่งความยากจน และรัฐบาลจีนก็ไม่ได้หยุดภารกิจเพียงแค่นี้ ยังคงเดินหน้าดำเนินการแก้ปัญหาระยะต่อไป ด้วยการใช้นโยบาย ‘ฟื้นฟูชนบท’ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับชาวจีนในชนบท เพื่อไม่ให้กลับไปยากจนอีก ทั้งหมดนี้สะท้อนความพยายามในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

หนังสือเล่มนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำสามารถสร้างความชอบธรรมด้วยการสร้าง ‘ผลลัพธ์ที่ประชาชนจับต้องได้’ ผลงานที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง จะช่วยให้ผู้นำได้รับศรัทธาและการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น

โดยสรุป หนังสือเล่มนี้ คือ ศาสตร์ในการบริหารประเทศที่ผู้นำรัฐบาลควรเรียนรู้ และปรับประยุกต์นำไปใช้ ในกรณีของจีน การมีเป้าหมายชาติที่ชัดเจน ประเทศจะไปทางไหน และการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง สามารถระดมพลังจากทั้งสังคมได้ แต่ขอย้ำว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ตำราสำหรับลอกเลียนแบบ แต่เป็นกรณีศึกษาประสบการณ์ของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และปฏิบัติจริง จนเห็นผลที่เป็นรูปธรรม ผู้นำรัฐบาลไทยสามารถเลือกเรียนรู้ในมุมที่เหมาะกับบริบทภายในของประเทศ หนังสือเล่มนี้เป็นอาหารสมองชั้นเลิศ ช่วยชี้แนวทางในการสร้างภาวะผู้นำ และเรียนรู้ว่า ศาสตร์ในการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก THE STANDARD

ผบ.ตร. เคารพการตัดสินของศาล กรณีอดีตรอง ผบ.ตร. ยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมปมคำสั่งออกจากราชการฯ

36 นาทีที่แล้ว

ชลประทานเชียงใหม่ เปิดประตูระบายน้ำแม่น้ำปิงเต็มพิกัด เตรียมรับมวลน้ำช่วงเย็นวันนี้

47 นาทีที่แล้ว

ผบ.ตร.ยันไม่ขัดแย้งสำนักพุทธฯ หลังหารือในที่ประชุมศูนย์ตรวจสอบพระสงฆ์ ส่วนคดีพระสมณศักดิ์สูงกว่าคดีสีกากอล์ฟได้รับรายงานแล้ว

51 นาทีที่แล้ว

4 ประเทศปิดดีล ‘กำแพงภาษีทรัมป์’ แลกอะไรบ้าง?

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

10 ปี คืนชีวิต ‘คลองขนมจีน’ จ.อยุธยา ผ่านโครงการยั่งยืน ‘เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ’

TODAY
วิดีโอ

เงินดีชีวิตปัง ชีวิตพยาบาลข้ามทวีป แค่ทำงานไม่กี่วันก็คุ้มแล้ว

สยามนิวส์

“น้ำตกภูผาสวรรค์” แหล่งธรรมชาติอันซีนกลางป่า จ.พังงา

สำนักข่าวไทย Online

เผ่าภูมิ’ เผย ทีมไทยแลนด์จะ เจรจาภาษีสหรัฐคืนนี้ ยันไทยไม่เปิดตลาด 100% ยึดหลักสมดุล

JS100

มรดกวัฒนธรรมจีน ‘ไม้แกะสลักแห่งผูเถียน’ รุ่งเรืองจากอดีตจวบจนปัจจุบัน

Xinhua

ชาวดรูซคือใคร เหตุใดอิสราเอลจึงโจมตีซีเรียเพื่อปกป้องพวกเขา?

SpringNews

ไม่เหมือนใคร ครูวัยเกษียณติดตัวการ์ตูนรอบรถกระบะ

สำนักข่าวไทย Online

ผบ.ตร.หวัง “กัมพูชา” ร่วมมือส่งผู้ร้ายข้ามแดน "คดีก๊กอาน"

NATIONTV

ข่าวและบทความยอดนิยม

แรงกดดันรอบใหม่! สหรัฐฯ คงภาษีนำเข้า 36% บีบไทยสู่ 2 ทางเลือก ลดภาษี 0% แลก GDP โต หรือเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย?

THE STANDARD

บอนด์ยีลด์ไทยจ่อ Inverted Yield Curve? สัญญาณเศรษฐกิจซึมยาว หลังยีลด์ 10 ปีต่ำสุดรอบเกือบ 4 ปี

THE STANDARD

หุ้นไทยพุ่งเฉียด 20 จุด สูงสุดรอบ 1 เดือน หลังเงินเฟ้อจีนพลิกบวก ‘สีจิ้นผิง’ หวังยุติสงครามราคาในประเทศ

THE STANDARD
ดูเพิ่ม
Loading...