อีคอมเมิร์ซไทยโตทะลุ 1 ล้านล้าน ห่วงรายย่อยเจอเงื่อนไขเพียบ นักวิชาการแนะแข่งขันเป็นธรรม
ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 67 คาดว่ามีมูลค่าแตะ 1.1 ล้านล้านบาท เติบโตจากปี 66 ถึง 14% ซึ่งมีมูลค่า 9.8 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มพุ่งถึง 1.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 70 จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการซื้อขายออนไลน์ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและแบรนด์สินค้าต่างๆ
ทั้งนี้เมื่อดูส่วนแบ่ง Shopee และ Lazada ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคไทยเลือกใช้สูงสุด 75% รองลงมา คือ Lazada 67% และ TikTok ที่ 51% แต่ TikTok ถือว่ามีความโดดเด่นและเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาด S-Commerce ที่ผนวกความบันเทิงและการค้าผ่านคอนเทนต์วิดีโอ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าได้ทันทีจากคอนเทนต์ที่รับชม ส่งผลให้ ปี 67 ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุ ว่า TikTok มีรายได้ทะลุ 12,000 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ บริษัท ติ๊กต๊อก ช็อป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเริ่มจดตั้งบริษัทในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 และมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนจากผู้ค้ารายย่อยว่า TikTok จะเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น แต่ในด้านค่าคอมมิชชันก็ถือว่าสูง รวมถึงไม่สามารถเลือกขนส่งเองได้ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการยังมีความกังวลจากจุดแข็งที่รวมโซเชียลมีเดียกับอีคอมเมิร์ซไว้ในแพลตฟอร์มเดียว อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เช่น การลดการมองเห็นคอนเทนต์ที่ลิงก์ไปยังแพลตฟอร์มคู่แข่ง เป็นต้น
นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเติบโตของ TikTok ในฐานะแพลตฟอร์ม S-Commerce ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตา เพราะเป็นการนำจุดแข็งมาผนวกกัน คือ ธุรกิจโซเชียลมีเดียเข้ากับอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็มองว่าอาจเปิดช่องให้เกิดพฤติกรรมผูกขาดหรือกีดกันการแข่งขันได้ง่ายขึ้น เพราะการที่แพลตฟอร์มควบคุมทั้งเนื้อหา การโฆษณา ระบบการชำระเงิน และขนส่ง อาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกับผู้เล่นรายเล็กที่ไม่สามารถต่อรองอะไรได้มาก และสุดท้ายอาจต้องออกจากตลาด
“ประเทศไทยควรมีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน เช่น การแยกบทบาทระหว่างโซเชียลมีเดียกับอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลอัลกอริธึมและค่าธรรมเนียมให้โปร่งใสมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซียที่เคยสั่งแบน TikTok Shop ชั่วคราวเพราะพบพฤติกรรมกีดกันคู่แข่งและตั้งราคาต่ำกว่าทุน ขณะที่สหภาพยุโรปเริ่มกำหนดให้ TikTok เป็น Gatekeeper ภายใต้กฎหมาย Digital Markets Act (DMA) เพื่อจำกัดพฤติกรรมผูกขาดและเปิดตลาดให้แข่งขันอย่างเท่าเทียม คำถามสำคัญคือ ไทยจะเดินทางไหน จะปล่อยให้ตลาด S-Commerce ขยายตัวโดยไร้กติกา หรือจะเริ่มวางกรอบกำกับเพื่อปกป้องผู้บริโภคและผู้ค้าอย่างสมดุล” นายพรเทพ ระบุ
ด้าน นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยเริ่มให้บริการจัดส่งสินค้าบน TikTok มาตั้งแต่กลางปี 67 แต่ก็ยังถือว่ามีส่วนแบ่งการตลาดต่ำมาก เพียง 1-2% เท่านั้น เนื่องจาก TikTok เลือกใช้บริการจากบริษัทขนส่งรายใหญ่ เช่น J&T Express เป็นหลัก ทำให้ไม่รู้ตัวเลขจริง เพราะ TikTok ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด สิ่งที่พอจะอ้างอิงได้คือการประมาณจากรายได้ของบริษัทขนส่งรายอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอีคอมเมิร์ซทั้งนั้น