‘คณะบรรณาธิการนานาชาติ’ เร่งสรุปเนื้อหา จัดพิมพ์ ‘พระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ’
พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานกรรมการจัดทำพระไตรปิฏกฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประธานบรรณาธิการการแปล กล่าวว่า ได้นิมนต์และเชิญคณะผู้แปล และคณะบรรณาธิการนานาชาติ ประกอบด้วย ดร.พระคำหมาย ธรรมสามิ ประเทศพม่า พระพรหมาลี ประเทศออสเตรเลีย ดร.อเล็กซ์ รุยซ์ ฟัลเกส ประเทศสเปน ดร.ไบรอัน เลฟแมน ประเทศแคนาดา ดร.อเล็กซานเดอร์ วินน์ ดร.ซาราห์ ชอว์นายชาร์ลส์ ชอว์ ประเทศอังกฤษมาร่วมประชุมเพื่อสรุปเนื้อหา ทั้ง 3 เล่ม คือ พระวินัยปิฏก เล่ม 1 พระสุตตันตปิฏก เล่ม 9 และพระอภิธรรมปิฏก เล่ม 34
พระพรหมบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า การประชุมดังกล่าว ได้พูดคุยเกี่ยวกับทิศทางการแปลศัพท์เฉพาะทางพระพุทธศาสนา ประสานสอดคล้องของเนื้อหาแต่ละเล่ม รวมถึงภาษาการแปลที่ร่วมสมัยถูกต้องตามเจตนารมณ์ของพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม โดยได้ใช้โปรแกรมทราดอสเข้ามาช่วยเช็คความถูกต้อง และคงเส้นคงวาของการแปลแต่ละเล่มให้สอดรับกัน หลังจากนั้นจะดำเนินการปรับปรุง แล้วจัดรูปเล่ม และจัดพิมพ์พระไตรปิฏก ทั้ง 3 เล่มภายในปี 2568 นี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระเมธีวัชรบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดใหม่ยายแป้น กรรมการและเลขานุการโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลร่วมกับมส. แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด คือ คณะกรรมจัดทำพระไตรปิฏกฉบับภาษาอังกฤษ คณะกรรมการแปลพระไตรปิฏกฉบับภาษาอังกฤษ และคณะกรรมการบรรณาธิการพระไตรปิฏกฉบับภาษาอังกฤษ โดยมีพระพรหมบัณฑิต เป็นประธานกรรมการทั้ง 3 ชุด และมีส่วนงานราชการ คือ กรมการศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ซึ่งได้มีการนำพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย 45 เล่ม เป็นต้นฉบับในการแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ โดยเทียบเคียงเนื้อหาจากพระไตรปิฎกฉบับอื่นด้วย เพื่อให้ได้เนื้อหาแปลที่ถูกต้อง และร่วมสมัย ซึ่งจะทำให้ชาวโลกสามารถศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม พร้อมทั้งนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป