วิโรจน์ ยกคดี ซ้อมทรมาน พลทหารวรปรัชญ์ เทียบน้องเมย ชี้ ทหารทำผิดต้องขึ้นศาลพลเรือน
วิโรจน์ ยกคดี ซ้อมทรมาน พลทหารวรปรัชญ์ เทียบน้องเมย ชี้ ทหารทำผิดต้องขึ้นศาลพลเรือน
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีศาลตัดสิน คดี นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิต โดยว่า
“ศาลทหาร กระบวนการยุติธรรมที่ลักลั่น และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ที่บั่นทอนภาพลักษณ์ของกองทัพ ]
จากกรณีการเสียชีวิตของ “เมย” ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ อายุ 19 ปี นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 โรงเรียนเตรียมทหาร หมดสติและเสียชีวิต เมื่อ 17 ต.ค.60 หลังถูกรุ่นพี่สั่งธำรงวินัย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมาโดยตลอด โดยเริ่มตั้งแต่
ศาลทหารชั้นต้น (ช่วงปี 2561-2562): ศาลมีคำพิพากษาให้ รอการกำหนดโทษ นักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่ที่ถูกฟ้องร้องในคดีทำร้ายร่างกาย ส่วนคดีอื่นๆ ที่ครอบครัว “เมย” ภคพงศ์ ฟ้องร้องนั้น พนักงานสอบสวน และอัยการบางส่วนได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ (คำพิพากษาในส่วนคดีแพ่ง ต.ค.2566): สำหรับคดีอาญา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในบางคดี ส่วนในคดีแพ่งที่ครอบครัวน้องเมยฟ้องร้อง กระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้กระทรวงกลาโหมชดใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ครอบครัวตัญกาญจน์
ศาลฎีกา (กรกฎาคม 2568): เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2568 ศาลทหารสูงสุด มีคำพิพากษาชั้นฎีกา ให้ยืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ จำเลยมีความผิดทำร้ายร่างกาย ทำโทษโดยฝ่าฝืนคำสั่งกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร และด้วยอายุจำเลยไม่เคยได้รับโทษ การจะลงโทษจำเลยก็ไม่เป็นประโยชน์ ให้จำเลยปรับปรุงตัวรับราชการต่อไป จึงลงโทษจำคุกรุ่นพี่ 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี
สรุปก็คือ ผู้กระทำความผิดด้วยการซ้อมทรมาน จนทำให้ “เมย” ถึงแก่ความตาย ได้รับโทษเพียงจำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี เท่านั้นเอง และการให้ผู้กระทำยังคงรับราชการต่อไป ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามว่ากองทัพจะให้คนที่ลุแก่อำนาจทำร้ายเพื่อนทหารร่วมชาติจนถึงแก่ความตาย มาเป็นทหารต่อไปจริงๆ หรือครับ พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นพฤติกรรมโจร การเอาโจรมาเป็นทหารไม่มีทางทำให้กองทัพเป็นกองทัพที่ดีได้
นี่ขนาดผู้เสียหายเป็นนักเรียนเตรียมทหารนะครับ ความยุติธรรมยังบิดเบี้ยวขนาดนี้ ถ้าผู้เสียหายเป็นพลเรือนสังคมจะคาดหวังความยุติธรรมได้อย่างไร
เมื่อนำเอามาเปรียบเทียบกับกรณีของการเสียชีวิตของพลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล อายุ 18 ปี ที่ค่ายนวมินทร์ จ.ชลบุรี ที่ถูกครูฝึก และรุ่นพี่ ซ้อมทรมานจนถึงแก่ความตาย ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 มีคำพิพากษาว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 13 คน มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ 2565 มาตรา 5 และมาตรา 35 วรรคสาม พิพากษาจำคุก จำเลยที่ 1 (ครูฝึก) 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 (ครูฝึก) 15 ปี จำคุกจำเลยที่ 1 ถึง 13 (ผู้ช่วยครูฝึก) คนละ 10 ปี
เมื่อเปรียบเทียบผลแห่งคดีของทั้ง 2 กรณี ก็สมควรที่ประชาชนจะตั้งข้อสังเกตถึงความลักลั่นของการพิจารณาคดีของศาลทหาร และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อย่างมาก ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชน ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกองทัพอย่างมาก และทำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากคำพิพากษาที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวแล้ว ตลอดระยะเวลา 8 ปี ในการต่อสู้คดีของครอบครัวตัญกาญจน์ ต้องเผชิญกับการขัดขวาง และการข่มขู่มาโดยตลอด การเข้าถึงหลักฐานเอกสารต่างๆ ก็ยาก พยานที่จะมาให้ข้อมูลเพื่อความเป็นธรรมแก่คุณเมย ก็ถูกข่มขู่ เรียกได้ว่ากระบวนการยุุติธรรมถูกบ่อนทำลายมาตลอดเส้นทางในทุกขั้นตอน จนกระทั่งมีคำพิพากษา
ผมยืนยันว่า การปฏิรูปกองทัพ จำเป็นต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องก่อน นั่นก็คือ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของกองทัพ” ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559
ความยุติธรรมที่ไม่ลักลั่น การยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเท่านั้น ที่จะทำให้กองทัพได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน ในขณะเดียวกันก็จะเป็นกลไกในการควบคุมไม่ให้ทหารนอกรีต กระทำการอันป่าเถื่อนโหดร้ายลุแก่อำนาจ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติภารกิจทางการทหารของกองทัพมีความเคร่งครัดทางวินัย เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
หากมีการทุจริต ทหารต้องขึ้นศาลพลเรือน!
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : วิโรจน์ ยกคดี ซ้อมทรมาน พลทหารวรปรัชญ์ เทียบน้องเมย ชี้ ทหารทำผิดต้องขึ้นศาลพลเรือน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th