ลูกช็อก! พ่อแค่กินกล้วย อ่อนแรงต้องหามส่งหมอ ชี้สาเหตุ "ไตล้มเหลว" หวิดหัวใจหยุดเต้น
กินกล้วยมากเกินไป ไตแทบพัง! ชายวัย 66 เสี่ยงหัวใจหยุดเต้น แพทย์เตือน “ผู้ป่วยไตห้ามกินแบบนี้เด็ดขาด”
กล้วย อาจเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องประโยชน์ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต หากกินไม่ถูกวิธี อาจกลายเป็นภัยเงียบที่คุกคามถึงชีวิต ล่าสุดชายวัยเกษียณต้องเข้าห้องฉุกเฉิน หลังจากกินกล้วยวันละ 4 ลูกติดต่อกัน 5 วัน ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ และระดับโพแทสเซียมในเลือดพุ่งสูงจนน่ากังวล
รายงานจากเว็บไซต์ Jimu News ของจีนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ระบุว่า โรงพยาบาลหมายเลข 3 เมืองอู่ฮั่น ได้รับผู้ป่วยชายชื่อ “จางจื่อ” อายุ 66 ปี เข้ารับการรักษาในสภาพกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง เดินเหินไม่ได้ และใกล้หมดสติ
ทีมแพทย์เปิดเผยว่า ผู้ป่วยมีประวัติป่วยโรคไตเรื้อรังมาก่อน และผลตรวจเลือดพบว่าระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่าปกติอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันระดับครีอะตินีน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการทำงานของไตก็พุ่งสูงสะท้อนว่าไตเริ่มล้มเหลว
แพทย์หญิงหวัง หยวน แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ ระบุว่า หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว มีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, หัวใจวาย หรือร้ายแรงที่สุดคือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจนเสียชีวิต ผู้ป่วยจึงได้รับการฟอกเลือดฉุกเฉินเพื่อเร่งขจัดโพแทสเซียมส่วนเกินออกจากร่างกาย ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวภายหลัง
พบต้นเหตุอยู่ที่ “กล้วย” กับความเข้าใจผิดของครอบครัว! ลูกสาวของนายจางให้ข้อมูลว่า ที่บ้านซื้อกล้วยมาบำรุงสุขภาพให้คุณพ่อ เพราะเชื่อว่าช่วยเรื่องการย่อยอาหาร จึงให้กินวันละ 4 ลูกติดต่อกันนาน 5 วัน โดยไม่รู้เลยว่าพฤติกรรมนี้คือ “อันตราย” สำหรับผู้ป่วยไต
แพทย์ชี้ชัดว่า กล้วยเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง โดยกล้วย 1 ลูกอาจมีโพแทสเซียมตั้งแต่ 358–422 มิลลิกรัม หากกินวันละหลายลูก โพแทสเซียมจะสะสมในเลือดได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยไตที่ ขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้น้อยกว่าคนปกติ
“ร่างกายปกติสามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกทางไต แต่หากไตทำงานผิดปกติ โพแทสเซียมจะสะสมและกลายเป็นภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต” – แพทย์หญิงหวัง หยวน
โดยคุณหมอยังแนะนำด้วยว่า ผู้ป่วยไตเรื้อรัง ไม่ควรกินกล้วยเกิน 1 ลูกต่อสัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น อินทผาลัมแห้ง, ลูกเกด, มันฝรั่ง, มะเขือเทศ, อะโวคาโด, ส้ม, บรอกโคลี
ท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่า โรคไตไม่ใช่แค่เรื่องยา แต่ “การกิน” สำคัญไม่แพ้กัน กรณีของนายจางถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคไต แพทย์เน้นย้ำว่า ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ก่อนเปลี่ยนแปลงอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารที่ส่งผลเสียต่อไต เพราะแม้แต่ “กล้วย” ก็ไม่ใช่ทุกคนที่กินแล้วปลอดภัย