ธุรกิจโบรกเกอร์แย่กว่าปีก่อน บิ๊ก ‘เอเซียพลัส’ สะท้อน 3 ปมใหญ่ ฉุดกำไร
“ดร.ก้องเกียรติ บล.เอเซีย พลัส” ฟันธงธุรกิจโบรกเกอร์ปีนี้แย่หนักกว่าปีที่แล้ว จากสาเหตุหลัก 3 ประเด็น “หนี้เสียมาร์จิ้นโลนเพิ่ม-วอลุ่มเทรดน้อย-ค่าคอมมิชชั่นถดถอย” จี้หน่วยงานกำกับคุมค่าคอมมิชชั่น หวั่นเปิดเสรีเกินไปทำเซลส์มาร์เก็ตติ้งสูญพันธุ์หมด
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ปีนี้ก็คงไม่ดี และน่าจะแย่กว่าปีที่แล้วด้วย คาดว่าเกินครึ่งหนึ่งของธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้น่าจะขาดทุน เนื่องจากเหตุผล คือ 1.มีหนี้เสียจากมาร์จิ้นโลนมากขึ้น 2.ปริมาณซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 3.ค่าคอมมิชชั่นถดถอยไปอีก ขณะที่ต้นทุนไม่ได้ลดลง อย่างต้นทุนทางด้านแบ็กออฟฟิศ ที่ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานก็เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งหากธุรกิจหลักทรัพย์จะไปได้ จะมีกำไร ก็ต้องมีธุรกิจอื่นมาเสริม
“ผมว่าไม่ดีอยู่แล้ว ผมว่าปีนี้แย่กว่าปีที่แล้ว เกินครึ่งน่าจะขาดทุน แต่ที่ดูแล้วตัวเลขยังมีกําไร ก็อาจจะเป็นธุรกิจอื่นมาเสริม ทําให้อาจจะมีกําไร หรืออาจจะขาดทุนน้อยลง”
ทั้งนี้ มองว่าหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากจะคุมเรื่องระบบซื้อขายความถี่สูง หรือ High-Frequency Trading (HFT) แล้ว ควรจะพิจารณากำกับเรื่องค่าคอมมิชชั่น ไม่ควรปล่อยเสรีจนเกินไป จนมีการแข่งขันตัดราคากัน โดยทุกวันนี้ค่าคอมมิชชั่นตกลงมาก ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมลงมาอยู่ที่ 0.07% จากในอดีตที่เคยสูงถึง 0.50% แน่นอนว่าคนทำงานเป็น Sales Marketing ก็อยู่ยาก
“ผมเคยพูดหลายครั้ง กระทรวงพาณิชย์ก็มีกฎ ว่าเวลาขายของห้ามขายต่ำกว่าต้นทุน แต่ทําไมธุรกิจหลักทรัพย์ หลายบริษัทขายต่ำกว่าต้นทุนได้ อันนี้ผมไม่เข้าใจ มันทําให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ลูกค้าจะบอกว่าดี แต่ดีชั่วครั้งชั่วคราว บริษัทหลักทรัพย์ก็เกิดปัญหาแล้วก็ปิดตัวไป อย่างที่เห็น ผมก็งง ว่าทําไมถึงปล่อยให้มีการแข่งขันแบบเสรีมากขนาดนี้ เสรีถึงขนาดที่ว่าทําธุรกิจเพื่อขาดทุน ไม่ใช่เพื่อกําไร”
ดร.ก้องเกียรติกล่าวว่า เรื่องค่าคอมมิชชั่นคงไม่ถึงขั้นต้องกำหนดเกณฑ์เพดาน แต่ควรจะมีไกด์ไลน์ ขณะเดียวกันผู้ที่ทำธุรกิจก็ควรจะมีความเป็นสุภาพบุรุษ ที่จะทำธุรกิจอย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องมาขีดเส้นว่า ไม่ควรคิดคอมมิชชั่นต่ำกว่าเท่าไหร่ ๆ แต่ควรคิดจากต้นทุนเป็นหลัก เพราะไม่เช่นนั้นต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คนที่เป็น Sales Marketing ก็อาจจะสูญพันธุ์ได้
“มันควรจะเป็นแบบต้นทุนคุณเท่าไหร่ ก็ควรจะแค่นั้น แล้วก็อย่าแย่งคนกัน จนไร้เหตุผล เพราะอย่าลืม ถ้ามองไป 3 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าแทบจะสูญพันธุ์หมด ถ้าคอมมิชชั่นอยู่ที่ 0.07% แล้วมองไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะเหลือ 0.05% แบบนี้จะมีกี่คนที่จะอยู่ได้ ผมบอกได้เลยส่วนใหญ่สูญพันธุ์ เพราะเป็นอินเทอร์เน็ตเทรดกันหมด แล้วพวกมาร์เก็ตติ้งจะกินอะไร อันนี้ต่างหากที่ผมกังวล”
สำหรับ บล.เอเซีย พลัส ก็พยายาม Cross-Selling ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ เพื่อช่วยเสริมรายได้ให้กับพนักงานกลุ่ม Sales Marketing
ดร.ก้องเกียรติกล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่อง High-Frequency Trading (HFT) นั้น ตนมองว่าการมีนักลงทุนรายย่อยเป็นสีสัน เพราะต้องอย่าลืมว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้ใหญ่เหมือนตลาดหุ้นอเมริกา หรือฮ่องกง ที่ HFT อาจจะมีมากได้ ทำ HFT ก็ไม่ได้มีผลอะไรมาก แต่ตลาดหุ้นไทยจะฆ่ารายย่อยตายหมด ก็ต้องปรับ ซึ่งต้องเพิ่มค่าคอมมิชชั่นให้มีความเท่าเทียมกัน ไม่อย่างนั้นผู้ลงทุนรายย่อยหมดตลาด เพราะไม่มีใครอยากลงทุน
“ของเรา ตลาดบางนิดเดียว มูลค่าตลาดเราทั้งหมด 0.05% ของทั้งโลก หรือครึ่งเปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก เวลาฝรั่ง Cut Loss เขาก็ไม่ได้บาดเจ็บอะไร เพราะเขายังมี 60% อยู่ในอเมริกาบ้าง 15% ในฮ่องกงบ้าง แต่ของเรา Cut Loss ทีก็บาดเจ็บ แล้วการที่มีรายย่อยเข้ามา มันก็โอเค ก็มีส่วนสร้างสีสัน ถามว่าเราอยากเห็นตลาดหุ้นเรา เหมือนตลาดสิงคโปร์หรือเปล่า ที่มีแต่สถาบันเทรดกัน แล้วก็รายย่อยนิดเดียว” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ กล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ธุรกิจโบรกเกอร์แย่กว่าปีก่อน บิ๊ก ‘เอเซียพลัส’ สะท้อน 3 ปมใหญ่ ฉุดกำไร
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net