‘บัวแก้ว’โต้เขมร โพลซัด‘ฮุนเซน’
บัวแก้วโต้เขมรละเมิด MOU 43 ลั่นไทยยึดมั่นพันธกรณีอย่างเคร่งครัด ย้ำคุยทวิภาคีใช้ JBC แก้ข้อพิพาท ไม่ใช่กลไกอื่น "เท้ง" ควง "โรม" ลุยสระแก้วดูปัญหาชายแดน แนะใช้กล้อง-เซ็นเซอร์ตรวจจับคนผ่านแดน 24 ชั่วโมง ดีกว่าสร้างรั้ว 100 กม. ซัดอังเคิลร้อนตัว ไทยไม่ได้ปิดด่าน "นิด้าโพล" เผยคนไทยส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจ "ฮุน เซน" ชี้ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง "ซูเปอร์โพล" ชี้วัฒนธรรมลดตึงเครียดสร้างสันติภาพชายแดน
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงข้อมูล ข้อคิดเห็น และท่าทีเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ภายหลังผู้แทนถาวรกัมพูชา ณ นครนิวยอร์ก ได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ (UNSG) เกี่ยวกับการที่กัมพูชาจะฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นพื้นที่พิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ดังนี้
1.รัฐบาลไทยยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาอย่างสันติวิธี ตามพันธกรณีที่ทั้งสองฝ่ายได้มีต่อกันตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) มาโดยตลอด ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาหารือกันในกรอบทวิภาคี โดยใช้กลไกคณะกรรมาธิการร่วมชายแดน (JBC) อันเป็นไปตามแนวทางที่สอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติทุกประการ
2.ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ภาคีของความตกลงที่เป็นสนธิสัญญา จะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ลงนามไว้ โดยบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ระบุให้แก้ไขปัญหาโดยการเจรจาหารือโดยคณะกรรมาธิการร่วมชายแดน (JBC) ไม่ได้มีส่วนใดที่ระบุว่าให้ใช้กลไกอื่น รวมทั้งศาลโลก (ICJ) ซึ่งประเทศไทยได้ยึดมั่นในพันธกรณีของความตกลงไทย-กัมพูชาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ได้เป็นฝ่ายละเมิดพันธกรณีที่มีไว้ต่อกันไว้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยไม่ได้ไปใช้กลไกอื่นนอกเหนือจากที่เคยได้ตกลงกันไว้
3.ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ประเทศไทยได้ใช้แนวทางการเจรจาทวิภาคีโดยกลไก JBC หรือกลไกที่เทียบเคียงได้กับ JBC เช่นเดียวกัน ซึ่งล้วนแต่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยการเจรจาเขตแดนทางบกระหว่างกับมาเลเซียและลาวได้สำเร็จไปแล้วกว่า 90% ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการเจรจาทวิภาคีและกลไกดังกล่าว สามารถนำมาใช้ให้เห็นผลได้ หากมีความตั้งใจจริงและจริงใจในการดำเนินการ โดยไม่ต้องพึ่งกลไกภายนอกเช่น ICJ และนอกจากไทยแล้ว วิธีการเจรจาทวิภาคีนี้เป็นวิธีการเดียวกับที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของกัมพูชาใช้ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาเช่นกัน
4.ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงเรียกร้องให้กัมพูชาปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้ไว้ อันเป็นการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญาอันเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอย่างเคร่งครัด ด้วยการเคารพและปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้ กล่าวคือ การเจรจาทวิภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนทั้งหมดตลอดแนวโดยใช้กลไก JBC ซึ่งรวมถึงพื้นที่ขัดแย้ง 4 จุด ที่ฝ่ายกัมพูชายังไม่ยินยอมนำเข้าหารือการเจรจาในกรอบดังกล่าวด้วย อันถือได้ว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจปี 2000 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องทำการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน (demarcation) ทั้งหมดร่วมกัน ภายใต้กลไก JBC โดยไม่เอาเรื่องปัญหาเขตแดนไปสู่กลไกอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันไว้
บี้่เขมรถก JBCแก้พิพาท
5.ประเทศไทยเฝ้ารอกัมพูชาซึ่งมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JBC มานานกว่า 12 ปี และได้เรียกร้องให้มีการประชุมอยู่เสมอ ก่อนที่ JBC ครั้งล่าสุดจะได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงขอปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องว่า ไทยเป็นฝ่ายที่ทำให้กระบวนการ JBC ต้องหยุดชะงัก เพราะไทยเองไม่เคยถอนตัวจากกระบวนการดังกล่าว แต่เรียกร้องมาโดยตลอด ดังนั้น ไทยขอเรียกร้องให้กัมพูชาเคารพในพันธกรณีที่มีระหว่างกัน ที่จะเจรจาหารือกันโดยสันติวิธี ก่อนจะพึ่งพากลไกอื่นซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากวิธีการที่ได้ตกลงกัน เพื่อยุติปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ตลอดแนวตลอดไป และป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากในอนาคต กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประชาชนทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนทั้งสองฝั่ง
6.ประเทศไทยยึดสันติวิธีและกฎหมายระหว่างประเทศด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต บริสุทธิ์ใจ และมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการสร้างพื้นที่ตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชากับประเทศเพื่อนบ้าน ให้กลายเป็นพื้นที่พรมแดนสันติภาพ มิตรภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ชีวิตที่มั่นคง เจริญก้าวหน้าของพี่น้องประชาชนอยู่ตามแนวชายแดนทั้งสองฟากฝั่ง
ทางด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ร่วมกับนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อดูการแก้ไขปัญหาความมั่นคงชายแดนไทย-กัมพูชา
โดยจุดแรกมาบริเวณด้านหลังห้างสรรพสินค้าอรัญประเทศ โดย พ.อ.เมธี คำเต็ม ผู้บังคับการชุดควบคุมกรมทหารพรานที่ 12 กองกำลังบูรพา รายงานว่า จุดนี้เป็นพื้นที่ที่การข่าวแจ้งว่าใช้เป็นช่องทางลักลอบข้ามไปฝั่งกัมพูชา เป้าหมายไปทำงานหรือเล่นการพนัน ปัจจุบันได้ซีลพื้นที่แล้ว แต่ยังมีการลักลอบเข้า-ออกตลอด ซึ่งจับกุมได้ทุกวัน และจากร่องรอยจะพบว่า เพิ่งก่อประตูปิดช่องไป แต่ยังพบมีช่องที่ใช้การขุดดินรอดข้ามไป นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ได้ถามถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดย พ.อ.เมธีชี้แจงว่า การใช้สัญญาณโทรศัพท์ตามแนวชายแดนจะเปิดใช้ได้เฉพาะฝั่งไทย ส่วนฝั่งกัมพูชาจะไม่ได้รับสัญญาณ นอกจากมีการใช้ลวดหนามขึงตลอดแนวแล้ว ตั้งแต่พรมแดนบ้านคลองลึกถึงตำบลป่าไร่ จังหวัดสระแก้ว ก็จะมีจุดตรวจประจำ ส่วนการตรวจตราจะมีการลาดตระเวนและดูผ่านกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง
จากนั้นนายณัฐพงษ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมกับนายรังสิมันต์ลงพื้นที่บริเวณจุดท่าข้าม VIP 1 หรือบ้านโสนน้อย และ VIP 2 ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ ว่าจากการลงพื้นที่พบว่าปัญหาชายแดนมีสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 2.เศรษฐกิจชายแดน และ 3.ความมั่นคงและพื้นที่พิพาท ซึ่งในพื้นที่สระแก้ว สำคัญที่สุดตอนนี้ก็คือการทำความเข้าใจกับกัมพูชาว่า สิ่งที่ไทยต้องการคือ การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนเรื่องอื่นเช่นเศรษฐกิจในสระแก้ว และข้อพิพาทตามชายแดน ไม่ได้มีปัญหา
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า สุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ และใช้งบประมาณของรัฐในการควบคุมชายแดน หากใช้งบประมาณลงทุนอย่างถูกจุดจะเกิดประโยชน์ แทนที่จะลงทุนสร้างแนวรั้วกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งอาจมีคนแอบมาขุดช่องมุดกำแพงตามแนวชายแดน หรือการสร้างแล้วรั้วขึ้นมา อาจทำให้เกิดข้อพิพาทกับฝ่ายกัมพูชาเรื่องเส้นเขตแดนหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยีที่มีการนำกล้องและเซ็นเซอร์มาใช้ตรวจจับ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพและลงทุนถูกกว่าการสร้างแนวรั้ว
โรมซัดอังเคิลร้อนตัว
ขณะที่นายรังสิมันต์กล่าวว่า กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่ามองแค่เรื่องการโกงเงิน แต่หนึ่งในปัญหาที่มีความร้ายแรงคือการค้ามนุษย์ ซึ่งกฎหมายไทยไม่ถึง แต่เชื่อว่ากลไกกฎหมายระหว่างประเทศยังมีอยู่ ซึ่งจะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะมีการพูดคุยในคณะกรรมาธิการฯ และการลงพื้นที่ครั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมมาด้วย ส่วนเป้าหมายในการมาครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะต้องนำรายละเอียดมาพูดคุยและสำรวจต่อไปว่านโยบายต่างๆ เรื่องของชายแดนเป็นอย่างไร
นายรังสิมันต์ได้ชี้ไปที่ตึกฝั่งตรงข้าม โดยอาคารที่บริเวณฝั่งกัมพูชาเป็นที่น่าสงสัยเกี่ยวพันกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ ซึ่งต้องการไฟฟ้าและพลังงาน ซึ่งโดยภาพรวมสงสัยว่าอาจจะเป็นเมืองสแกมเมอร์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ในครั้งนี้ จะมีการพูดคุยถึงกลุ่มทุนที่เป็นเบื้องหลังของแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างเข้มข้นด้วย ซึ่งคาดว่าจะลงในรายละเอียดวันที่ 7 ก.ค. ตอนนี้ได้เพิ่มมาอีก 1 ชื่อ ซึ่งเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจในกัมพูชา
ส่วนกรณีทหารกัมพูชาถือกล้องถ่ายคลิปทำคอนเทนต์ปะทะทหารไทยตามปราสาทนั้น นายรังสิมันต์กล่าวว่า พูดกันแฟร์ ตามหลักแล้วสามารถถ่ายได้ แต่การถ่ายอย่างไร วิธีการถ่ายที่ทำให้เกิดความอึดอัดมองได้เช่นกัน ก่อนหน้านี้มีการปะทะกันเกิดขึ้นแล้ว และฝั่งกัมพูชาพยายามใช้กลไกสหประชาชาติ (UN) ในการทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ร้าย หรือเหมือนไทยไปรังแกกัมพูชา เราต้องเท่าทันเรื่องนี้ และต้องหาวิธีการที่จะไม่เข้าไปเล่นในเกมของเขา ไม่เช่นนั้นเรื่องจะไปถึงศาลโลก ไทยต้องยืนยันอย่างหนักแน่น ว่าเป็นปัญหาระหว่างรัฐบาล
ส่วนคนไทยกับคนกัมพูชาไม่ได้เกิดความขัดแย้งกัน คนทั้งสองประเทศต้องการที่จะทำมาค้าขายร่วมกัน แต่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีการปิดด่านชายแดนโดยฝั่งกัมพูชา ส่วนของประเทศไทยควบคุมไม่ใช่การปิดด่าน เพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนั้นถ้ามีความเข้าใจผิดของอังเคิลคนไหนว่าประเทศไทยปิดด่าน ยืนยันว่าอังเคิลเข้าใจผิด ถ้าการควบคุมตรงนี้แล้วทำให้อังเคิลเดือดร้อน แสดงว่าอังเคิลอาจเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “ฮุน เซน” ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-2 ก.ค.2568 รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนต่อความเคลื่อนไหวของสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ในกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยพบว่า ร้อยละ 67.63 ระบุว่า สมเด็จฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง รองลงมา ร้อยละ 57.25 สมเด็จฮุน เซน เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ, ร้อยละ 44.66 คำพูดของสมเด็จฮุน เซน ไม่มีความน่าเชื่อถือ, ร้อยละ 40.53 สมเด็จฮุน เซน กำลังยุให้คนไทยแตกแยกกัน, ร้อยละ 25.34 สมเด็จฮุน เซน ต้องการยึดครองดินแดนของไทย, ร้อยละ 18.85 สมเด็จฮุน เซน กำลังแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย, ร้อยละ 14.12 สมเด็จฮุน เซน กำลังเปิดเผยความลับเกี่ยวกับการเมืองไทย, ร้อยละ 9.31 สมเด็จฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศกัมพูชา, ร้อยละ 3.36 สมเด็จฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวกัมพูชา, ร้อยละ 1.30 คำพูดของสมเด็จฮุน เซน มีความน่าเชื่อถือ และร้อยละ 0.53 สมเด็จฮุน เซน ทำเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อคำทำนายของสมเด็จฮุน เซน ที่บอกว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีภายในสามเดือน และรู้ด้วยว่าใครจะเป็นนายกฯ พบว่า ร้อยละ 43.05 ระบุว่าไม่น่าเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 34.12 สมเด็จฮุน เซน ทำนายมั่วๆ, ร้อยละ 33.97 เป็นความพยายามยุให้คนไทยตีกัน, ร้อยละ 30.31 การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ว่าใครจะได้เป็นนายกฯ, ร้อยละ 25.34 เป็นการวิเคราะห์ตามสถานการณ์ทางการเมืองไทย, ร้อยละ 19.01 เป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย, ร้อยละ 14.66 สมเด็จฮุน เซน พูดตามข่าวกรองที่ได้มา, ร้อยละ 10.69 เป็นการเตือนนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และร้อยละ 7.25 น่าเชื่อ
วัฒนธรรมคือทางรอด
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลสำรวจประชาชน 1,098 คน ที่ร่วมสะท้อนมุมมองต่อปัญหาชายแดน ทั้งภาคใต้และชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค.2568 ภายใต้คำถามว่า “วัฒนธรรมจะนำทางสันติภาพได้จริงหรือไม่?” ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อความไม่มั่นคงชายแดนไทย พบว่า ปัญหาเกิดจากความขัดแย้งจากกลุ่มผลประโยชน์ ร้อยละ 84.7, นักการเมืองสนใจผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าสวัสดิภาพ ความปลอดภัยและวัฒนธรรมร่วมของคนท้องถิ่น ร้อยละ 81.9, ความไม่เข้าใจกันระหว่างรัฐและระหว่างประชาชน ร้อยละ 78.5, คนมีอำนาจมองข้ามประโยชน์ของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมกันในพื้นที่ ร้อยละ 77.3 และสาเหตุขัดแย้งคือการสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง อคติทางสังคมที่มีต่อกัน ร้อยละ 68.2
"ประชาชนส่วนใหญ่ชี้ชัดว่า “คน” ไม่ใช่ “พื้นที่” คือต้นเหตุของความไม่มั่นคง ความโลภ การเมืองไร้ธรรมาภิบาล และการละเลยวัฒนธรรมท้องถิ่นคือเชื้อเพลิงที่สำคัญของความไม่มั่นคง ความเข้าใจผิดระหว่างรัฐกับประชาชนและอคติที่ยังฝังลึกทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นกำแพง ทั้งที่ควรเป็นสะพานแห่งความเข้าใจ" ผอ.ซูเปอร์โพลระบุ
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการใช้วัฒนธรรมแก้ปัญหาชายแดนไทย พบว่า เชื่อมั่นการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นช่วยลดความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดนได้มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 48.3, เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 37.2 และเชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 14.5
อย่างไรก็ตาม จากผลโพลนี้ ประชาชนเชื่อว่า “เศรษฐกิจชายแดนจะเดินได้ ถ้าวัฒนธรรมเดินนำหน้า” แนวคิดเรื่องเมืองวัฒนธรรมและเขตเศรษฐกิจบนรากวัฒนธรรมคือทางรอดที่มีพลังมากกว่าสร้างด่านหรือตลาดเพียงลำพัง การสื่อสารผ่านละคร เพลง วิถีชีวิตพื้นถิ่น มีพลังละลายอคติมากกว่าสุนทรพจน์หรือโฆษณาทางการเมือง ซึ่งวัฒนธรรมคือพลังสันติ ไม่ใช่เพียงภาพประดับที่สวยหรู เพราะ 3 มุมมองที่ได้จากผลโพลนี้คือตัวแปร ความมั่นคงไม่ได้อยู่ที่ปืน แต่อยู่ที่ใจคน เพราะตัวเลขมากกว่า 70% ทุกรายการชี้ชัดว่าความขัดแย้งมาจากความไม่เข้าใจกัน ขาดความไว้วางใจ และการละเลยคุณค่าของวัฒนธรรม
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประกาศ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางวัฒนธรรม” เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นแม่งานร่วมกับฝ่ายมั่นคง และกระทรวงมหาดไทย สร้างเขตเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม-เยียวยา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่เคยเกิดความขัดแย้ง จัดตั้ง “เครือข่ายผู้นำทูตวัฒนธรรมชายแดน”
กล่าวโดยสรุป เมื่อปัญหาชายแดนไม่ใช่ปัญหาของ “ดินแดน” เพียงอย่างเดียว แต่คือปัญหาของ “ความรู้สึกของคนในพื้นที่” วัฒนธรรมจึงไม่ใช่เพียงของเก่าที่น่าทึ่งและกิจกรรมอ่อนโยน แต่คือยุทธศาสตร์แข็งแรงของการสร้างความมั่นคงในระยะยาว โพลฉบับนี้ไม่ใช่แค่สถิติ แต่คือเสียงเรียกร้องของประชาชน ที่อยากเห็นรัฐเปลี่ยนจาก “การควบคุม” เป็น “การเข้าใจ” และจาก “คำสั่ง” เป็น “ความร่วมมือ” เมื่อรัฐทั้งสองประเทศฟังเสียงประชาชนด้วยหัวใจ วัฒนธรรมจะตอบแทนด้วยสันติภาพได้แท้จริง.