E- nose “จมูกอิเล็กทรอนิกส์” ดมกลิ่นแทนคนแก้ปัญหามลพิษจาก “กลิ่น” ตรวจวัดแบบเรียลไทม์ 24 ชม.ให้ผลแม่นยำ
E- nose “จมูกอิเล็กทรอนิกส์” ดมกลิ่นแทนคนแก้ปัญหามลพิษจาก “กลิ่น” ตรวจวัดแบบเรียลไทม์ 24 ชม.ให้ผลแม่นยำ สามารถเก็บสถิติการเกิดกลิ่นย้อนหลังเพื่อหาสาเหตุและการแก้ปัญหากลิ่นอย่างถูกวิธี
พูดถึงมลพิษสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจบอกตรงกันว่า มลพิษจากฝุ่น มลพิษทางเสียง แย่ที่สุดแล้ว แต่สำหรับใครอีกหลายคน มลพิษที่สร้างความเดือดร้อนและน่าปวดหัวที่สุด น่าจะเป็นมลพิษจากกลิ่น โดยเฉพาะที่มาจากขยะ น้ำเสียฯลฯ
ในแต่ละปี ปัญหามลพิษทางกลิ่น มีจำนวนไม่น้อยและหนึ่งในวิธีที่นำมาใช้ตรวจสอบ คือการใช้คนดมกลิ่นหรือที่เรียกกันว่า “นักดมกลิ่น” ที่หน่วยงานภาครัฐได้มีการเปิดรับสมัครนักดมกลิ่นหลายต่อหลายรุ่นเพื่อไปพิสูจน์กลิ่นนำไปสู่การแก้ปัญหามลพิษ
แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน
ในงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2025 หรือ SITE 2025 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Global Innovation Partnership – AI & Sustainability: The Next Era of Innovation” โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ที่พารากอน ฮอลล์ หนึ่งที่ในผลงานนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงและได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานคือ Electronic Nose หรือ E-nose เทคโนโลยีตรวจวัดกลิ่น-อากาศแบบเรียลไทม์ของบริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จำกัด ที่สามารถแก้ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์, มลพิษอากาศ, สารเคมี VOC, NH₃, H₂S หรือฝุ่น PM2.5 ได้ด้วยด้วยเทคโนโลยี E-nose และ AI
นายกิตติชิน ปลั่งพงษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและ AI ประสาทสัมผัส บริษัท MUI Robotics จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษเป็นปัญหาสำคัญ บริษัท MUI Robotics จำกัด จึงได้พัฒนาแพลต์ฟอร์ม Electronic Nose หรือจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการใช้เซ็นเซอร์วัดกลิ่นดิจิทัล วัดฝุ่น วัดแก๊ส วัดความเร็วและทิศทางลม เป็นต้น เหมาะสำหรับการตรวจวัดกลิ่นแบบเรียลไทม์ 24 ชม. ผ่านระบบไร้สาย IoT สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลายอุตสาหกรรม ทางด้านปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม และในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถแจ้งเตือนกรณีที่ระดับความเข้มกลิ่นมีค่าเกินที่ผู้ใช้กำหนด ที่สำคัญสามารถเก็บสถิติการเกิดกลิ่นย้อนหลังเพื่อหาสาเหตุและการแก้ปัญหากลิ่นอย่างถูกวิธี ราคาไม่แพง ให้ผลการตรวจวัดที่แม่นยำ
นี่คือ Electronic Nose หรือ E-nose ฝีมือคนไทย ที่ใช้หลักการทำงานของเซนเซอร์ตรวจวัดก๊าซหลายชนิดทำงานร่วมกัน โดยทำหน้าที่ตรวจรับกลิ่นเหมือนจมูกมนุษย์.