ตระหนักอย่าตื่นตระหนก! แผ่นดินไหวนับพันครั้ง ในญี่ปุ่นกับ 'สึนามิ'
“ญี่ปุ่น” เผชิญแรงสั่นสะเทือนรอบด้าน ทั้งจากธรรมชาติและความเชื่อ ทำให้ความกังวลเรื่องภัยพิบัติเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากกระแสข่าวลือเกี่ยวกับ “อภิมหาแผ่นดินไหว” ในวันที่ 5 ก.ค.68 ที่มีต้นตอมาจากมังงะ กำลังแพร่สะพัดในหมู่นักท่องเที่ยว จนนำไปสู่การยกเลิกเที่ยวบินและกระทบการท่องเที่ยว ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวถี่ผิดปกติบริเวณ “หมู่เกาะโทคาระ” และการปะทุของ “ภูเขาไฟชินโมเอะดาเกะ”
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ทำไมญี่ปุ่นแผ่นดินไหวบ่อย ? มาอธิบายแบบง่ายๆ ให้เพื่อนธรณ์ครับ โลกมีแผ่นเปลือกโลก (plate techtonic) ลอยอยู่บนแมกมาหนืดๆ ทั้งพื้นแผ่นดินและพื้นทะเลก็อยู่บนแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้แหละ แผ่นเปลือกโลกจะมีขอบที่ชนกัน ตามแนวขอบจะเป็นจุดที่แผ่นขยับเขยื้อนบ่อย ตรงนั้นจึงเป็นเขตแผ่นดินไหว ใต้แผ่นดินคือหินหนืดร้อนจัด อยากขึ้นมาสู่ผิวโลกเพื่อแปลงร่างเป็นลาวา ตามขอบแผ่นขึ้นง่ายดี จึงเป็นเขตภูเขาไฟส่วนใหญ่ของโลก
ring of fire ที่เรารู้จักกันก็คือขอบแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกชนกับแผ่นเปลือกโลกอื่นๆ ไทยอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียน (Eurasian) แผ่นใหญ่สุด มีทั้งเอเซียและยุโรปอยู่บนแผ่นนี้ แต่เราไม่ได้อยู่ตรงขอบ ถึงกระนั้น ก็มีขอบแผ่นอยู่ใกล้เรา เราก็ได้รับผลกระทบบ้าง ญี่ปุ่นตั้งอยู่บนรอยต่อ 3 แผ่นเปลือกโลก eurasian-pacific-philippine ผลกระทบจึงเรียกได้ว่า 3 เด้ง เนื่องจากญี่ปุ่นแคบ/ยาว อยู่บนขอบยูเรเซี่ยนตลอดประเทศ แผ่นดินไหวจึงเกิดได้ทั้งประเทศ ตรงไหนก็ได้ ภูเขาไฟก็เช่นกัน ในญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่ยัง active จำนวน 111 ลูก ทั้งบนบกและในทะเล กระจายไปทั่วประเทศ (ภาพ)จำนวนภูเขาไฟ active ในญี่ปุ่นคิดเป็น 10% ของทั้งโลก แต่ถ้าเป็นสึนามิ ปรกติจะเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลในแปซิฟิก ชายฝั่งด้านนี้จึงเสี่ยงจากคลื่นมากกว่าฝั่งทะเลญี่ปุ่น
มีรายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. หมู่เกาะโทคาระ ซึ่งเป็นหมู่เกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวต่อเนื่องมากกว่า 1,000 ครั้งภายในเวลาเพียงสองสัปดาห์ โดยมีแผ่นดินไหวขนาด 5.5 แมกนิจูดเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (2 ก.ค.) สร้างความหวาดกลัวและความวิตกให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่บ้านเล็กๆ ที่โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณสุขมีจำกัด ความถี่ของแรงสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันและคืนทำให้ชาวบ้านหลายคนไม่กล้านอนหลับ เพราะกลัวว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นในขณะที่หลับอยู่
หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ (Pacific Ring of Fire) และเกิดแผ่นดินไหวเฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 ครั้ง แต่ลักษณะของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องถี่และนานผิดปกติในช่วงเวลานี้ถือว่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ากิจกรรมแผ่นดินไหวจะสิ้นสุดเมื่อใด หน่วยงานฯ ยังแนะนำให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับการหลบภัยหรืออพยพทันทีหากมีแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงมากขึ้น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย เนื่องจากที่พักบางแห่งเริ่มปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อสงวนพื้นที่ไว้สำหรับการรองรับผู้ประสบภัยในกรณีที่ต้องอพยพเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้งดการติดต่อหรือสัมภาษณ์ชาวบ้านมากเกินไป เพื่อบรรเทาความกังวลและความเหนื่อยล้าของประชาชนที่กำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด
ภาพรวม ญี่ปุ่นยังคงเผชิญความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยเมื่อเดือนมกราคม คณะกรรมการรัฐบาลได้ประเมินความน่าจะเป็นของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณร่องลึกนังไกภายใน 30 ปีข้างหน้า ว่าอยู่ที่ร้อยละ 75 ถึง 82 และเมื่อเดือนมีนาคม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประเมินว่าหากเกิด “เมกาเควค” พร้อมสึนามิ อาจมีผู้เสียชีวิตสูงถึงเกือบ 300,000 คน
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ว่าจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมในระดับชาติ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ล่าสุดเมื่อเวลา 12.33 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
#แผ่นดินไหว
#สึนามิ