‘จุลพันธ์’ มั่นใจ ‘แพทองธาร’ คัมแบ็กนายกฯ รัฐบาลยังไม่คิดยุบสภาฯ
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2568 ที่ห้องกรุงธนบอลล์รูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ กทม. สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเวทีปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เชื่อมั่นประเทศไทย: โจทย์ใหญ่รัฐบาล?” โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มาร่วมงานด้วย และให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงสถานการณ์การเมือง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องถอดถอน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมติ 7:2 เสียง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าเป็นการสะดุดติดขัด เรื่องของการขับเคลื่อนบ้าง ต้องยอมรับ แต่สุดท้ายดูง่าย ๆ เลยว่า หลังจากหยุดปฏิบัติหน้าที่ วานนี้ก็มีการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยนายสุริยะ นำคณะเข้าไป ถือว่าจบกระบวนการ มี ครม.ครบถ้วน การขับเคลื่อนในเรื่องของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ก็เดินไปอย่างไม่ได้มีประเด็นปัญหาใด ๆ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ รักษาการนายกฯ มีอำนาจเต็มดำเนินภารกิจแทนนายกฯได้ ขณะนี้สังคมไม่ได้มีจุดเสี่ยงในเรื่องของทางตัน หรือเดินไม่ได้ มันไม่ใช่
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่าถึงแม้อีกสัก 2 เดือนข้างหน้า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมา เป็นไปในทางใดก็ตาม ถ้าทางบวก น.ส.แพทองธาร กลับมาทำหน้าที่ต่อ ขับเคลื่อนประเทศต่อ เหลือเวลาอีก 2 ปีก่อนจะเลือกตั้ง ขณะเดียวกันหากเกิดกรณีการวินิจฉัยไปในทางลบ ยกตัวอย่างตรง ๆ หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ให้หลุดจากตำแหน่งด้วยเหตุใดก็ตาม จะย้อนกลับไปที่สภาฯ ในกรณีที่ต้องหาแคนดิเดตนายกฯที่อยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองที่มี สส.เกินกว่า 25 คน เพื่อสรรหาเป็นนายกฯคนต่อไป ในส่วนพรรคเพื่อไทยเหลือนายชัยเกษม นิติสิริ ส่วนพรรคอื่น ๆ ก็ยังมีอีก สุดท้ายกลไกตามระบอบยังเดินหน้าได้ อย่าตีความว่า อะไรจะทำให้อยู่ในจุดไม่สามารถเดินหน้า หรือขับเคลื่อนประเทศ
“ตรงนี้อยากฝากให้สื่อ ช่วยกันสะท้อนเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาอะไร เป็นกลไกที่เรามองว่าไม่ปกติ ถ้ามองมาตรฐานของโลก การที่นายกฯมาจากความไว้วางใจจากประชาชน มาจากกลไกของสภาฯ แต่ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอีกหนึ่งฐานอำนาจ ในหลักการถ่วงดุลอำนาจมันมีข้อสงสัยได้ แต่ด้วยกลไกของไทย เป็นเช่นนี้ เราอยู่กับมันมา เจอหลายครั้ง สุดท้ายก็เดินหน้า อย่าไปมองว่าเป็นประเด็นปัญหา” นายจุลพันธ์ กล่าว
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้าเกิดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลเป็นลบ แคนดิเดตนายกฯจะไม่พ้นจากมือของพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตรงนั้น แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยเสนอแคนดิเดตของตัวเอง ไปยังพรรคร่วมรัฐบาลที่ประกอบด้วยเสียงข้างมาในสภาฯ เพื่อเดินหน้าอยู่ แต่จะสรุปความอย่างนั้นคงทำไม่ได้ เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ คงฟันธงไม่ได้ว่า ทุกคนจะเห็นชอบแบบตน แต่โดยสภาพพรรคร่วม มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คิดว่าไม่เป็นปัญหาอะไร
ซักอีกว่า วานนี้ประชุม ครม.ได้ซาวด์เสียงคร่าว ๆ พรรคร่วมรัฐบาลพูดคุยหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไร ทักทายพูดคุย ไม่ได้พูดคุยกันขนาดนั้น ทุกคนเชื่อมั่น เราทำงานด้วยความมั่นใจว่า นายกฯดำเนินการ ที่ผ่านมายืนยันตลอดว่า บอกชัดเจนว่า สิ่งที่นายกฯดำเนินการ แม้จะถูกร้อง ไม่ใช่เป็นประเด็นทำให้ไทยเสียสิทธิสภาพ เสียเอกราช เสียอะไรใด ๆ เป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้นำประเทศ รวมถึงผู้บริหารในระดับกระทรวง อย่างตนมีเบอร์ รมว.ต่างประเทศ เคยหารือบางประเด็น เป็นเรื่องปกติที่จะหากลไกในการเจรจาความ เพื่อให้ประเทศบรรลุวัตถุประสงค์ เจตนานายกฯไม่ต้องการเสียเลือดเสียเนื้อ
“คนที่อยู่ กทม.อาจเชียร์ง่าย แต่คนอยู่ชายแดนจริง ๆ เวลามีปัญหา ผลกระทบที่เกิดกับเขาคือชีวิตและทรัพย์สิน นายกฯด้วยจิตใจที่ต้องการให้หลีกเลี่ยงการปะทะ ก็หากลไกหาวิธีการ ส่วนจะชอบหรือไม่ เป็นเรื่องมิติทางการเมืองของแต่ละคน เชื่อว่ากระบวนการวินิจฉัย ยังคิดในแง่ดี มันไม่มีผลกระทบในเชิงลบใด ๆ เกิดขึ้นกับประเทศ” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า อาจไม่ต้องยืนยันนายกฯคนต่อไปคือนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย แต่จะยังอยู่ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมหรือไม่ เพราะวานนี้ ปชน.ชูข้อเสนอโหวตนายกฯใหม่ อาจทำให้แคนดิเดตนายกฯไม่ได้ผูกขาดที่เพื่อไทย หรือพรรคร่วมฯเพียงอย่างเดียว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มติวานนี้ไม่ใช่พรรคร่วมฝ่ายค้าน น่าจะเป็นของ ปชน.พรรคเดียวนำเสนอออกมา เป็นมิติความคิดเขา แน่นอนว่าข้อสรุป ปชน.ไม่ใช่องค์ประกอบรัฐบาลปัจจุบัน เพราะถ้าองค์ประกอบรัฐบาลปัจจุบัน เรามีเสียงเกินครึ่งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เสียง ปชน.สนับสนุน แต่แน่นอนเราตอบไม่ได้ว่า 2-6 เดือนข้างหน้า อะไรเกิดขึ้นบ้าง ภูมิทัศน์การเมืองอาจเปลี่ยนก็ได้ หากกรณีนั้นเกิดขึ้น เขาคิดว่าจะใช้เสียงสนับสนุนใครสักคนหนึ่ง เป็นสิทธิของเขา ในแต่ละพรรค แต่ละสมาชิกมีเอกสิทธิ์ สส.มีเอกสิทธิ์ในการเลือกนายกฯ หากจะเกิดขึ้น ตรงนั้นเราไม่บังคับกะเกณฑ์ใคร แต่มิติทางการเมืองแท้จริง ถามว่าสมการนั้น จะเดินหน้าได้หรือไม่ หากเดินหน้าแล้ว มีเสียงไม่เกินครึ่ง โหวตแค่นายกฯอย่างเดียว กลไกขับเคลื่อนอื่น ๆ จะเดินกันอย่างไร บอกว่าจะไปทำออกกฎหมายประชามติ แก้รัฐธรรมนูญให้ทุกคนเห็นตรงกันเลย มิติของ สว.คืออย่างไร หรือปิดห้องคุยกันแล้วคุยเรื่อง สว.ด้วยหรือไม่
“ในส่วนของสภาฯ ถามว่าในกรณีที่เป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่มีเสียงเพียงพอในสภาฯ แล้วมิติอื่นในการขับเคลื่อนไม่ต้องทำหรือ การออกนโยบาย แก้ไขปัญหาประชาชน ออกกฎหมายต่าง ๆ จะเดินหน้าไม่ได้เลย นึกสภาพถ้าเพื่อไทยซักฟอก แล้วมีประเด็นที่เห็นว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างชัดเจน มีอยู่แล้วสังคม แล้วพรรคประชาชนจะลงมติอย่างไร ดูแล้วตรงนั้นต่างหากที่เป็นเดดล็อกทำให้การขับเคลื่อนประเทศไปต่อไม่ได้” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มองมติของ ปชน.เป็นผลบวกกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพื่อหาช่องทางโหวตนายกฯของตัวเอง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มองเป็นผลบวก มองว่าไม่ใช่ทางออก เพราะสุดท้ายหากรวบรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งไม่ได้ เป็นรัฐบาลเพื่อรอยุบสภาฯ บางท่านอาจคิดได้ แต่จะรอระยะ 3-6 เดือนในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ ถ้าเลือกปุ๊บ ต้องยุบสภาฯเลย ไม่ต้องคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องประชามติ คิดไม่ได้ เพราะถ้าเสียงไม่เกินครึ่ง จะขับเคลื่อนได้ โดยสภาพนี่คือกลไกระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องมีเสียงเกินครึ่งในสภาฯ
ซักอีกว่า บางคนวิเคราะห์ว่าเพื่อไทยไม่ต้องรอผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสินใจลาออกก่อนหรือไม่ หรือนายกฯรักษาการยุบสภาฯก่อนหรือไม่ รมช.คลัง กล่าวว่า ตอบให้ไม่ได้ เป็นสิทธิส่วนบุคคล และโดยสภาพที่เคยชี้แจงไปว่า ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่นำไปสู่จุดนั้น ขณะนี้เราขับเคลื่อนได้อยู่ การแก้ไขปัญหาประชาชนยังสำคัญ ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ถ้าเราปล่อยมือจากพวงมาลัย การขับเคลื่อนแก้ไขได้หรือไม่ ดังนั้นรัฐจำเป็นขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน